การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตาม หน้าที่ ต้องระวางโทษ”

อธิบาย ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้

1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
4. โดยเจตนา

“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทําด้วยบระการใด ๆ อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือด่าแช่ง ต่อผู้ถูกกระทํา ซึ่งอาจจะกระทําโดยวาจา กริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น พูดจาด่าทอ หรือด้วยกิริยาท่าทางก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายใส่ เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยิน ไม่เห็น หรือว่าเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม ก็เป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ได้

อย่างไรก็ดีถ้อยคําบางอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคําไม่สุภาพ คําหยาบ ไม่สมควรจะกล่าว หรือเป็นคําปรารภปรับทุกข์ หรือคําโต้แย้ง คํากล่าวติชมตามปกติ หากไม่ทําให้ผู้เสียหายถูกดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือได้รับความอับอายขายหน้า ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตําแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน เช่น จําเลยกล่าวต่อ ร.ต.อ.แดงว่า “ตํารวจเฮงซวย” ซึ่งในขณะนั้น ร.ต.อ.แดงได้ลาออกจากราชการเพื่อไปทําธุรกิจส่วนตัว ดังนี้จําเลย ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะในขณะที่ดูหมิ่นนั้น ร.ต.อ.แดงไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน

อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 กรณี ต่อไปนี้คือ

(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่

“ซึ่งกระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทําการตามหน้าที่ ซึ่งกฎหมายได้ให้อํานาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทําการนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือเกินขอบเขต ย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

“เพราะได้กระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทําการตามหน้าที่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายแดง แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง ต่อมาอีก 3 วัน นายขาว พบเจ้าพนักงานตํารวจผู้นั้นโดยบังเอิญ จึงด่าทอดูหมิ่น เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่น เจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “โดยเจตนา” กล่าวคือ เป็นการกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่าง ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
นายดวงดื่มสุราจนเมาครองสติไม่ได้ ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุม นายดวงไม่พอใจ จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตํารวจคนนั้นว่า “แกล้งจับกูคนเดียว คนอื่นทําไม ไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคําดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทําต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทําการตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อํานาจไว้โดยเจตนา นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า ขณะเจ้าพนักงานตํารวจกําลังนั่งรับประทานอาหารกับภริยาที่บ้านพัก โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ จําเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตํารวจแต่ไม่ได้ จําเลยจึงกล่าวว่า “กูจะเอาให้ย้ายภายในเจ็ดวัน อ้ายย้ายยังไม่แน่ ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ” เช่นนี้แม้ถ้อยคําดังกล่าว จะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็น เวลานอกราชการอันเป็นการส่วนตัว จึงถือไม่ได้ว่าจําเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบ ความผิดได้ดังนี้

1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
5. โดยเจตนา

“ให้” หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทําได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

“ขอให้” หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงิน แก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงว่าจะรับก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับว่าจะให้” หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทําก็รับปากกับเจ้าพนักงาน ว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดสําเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น จะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสําคัญ

สําหรับสิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน สร้อย แหวน นาฬิกา รถยนต์ หรือ “ประโยชน์อื่นใด” นอกจากทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถโดยไม่เสียค่าเช่า หรือยกลูกสาว ให้แต่งงานด้วย เป็นต้น

การกระทําตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทําต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้น และบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ด้วย ถ้าหาก กระทําต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอํานาจหน้าที่หรือพ้นจากอํานาจหน้าที่ไปแล้วย่อม ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงาน หรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทําไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้
ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุ ชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ

(ก) ให้กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตํารวจจับคนที่ไม่ได้กระทําความผิด
(ข) ไม่กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตํารวจจะจับกุมผู้กระทําผิด จึงให้เงินแก่
ตํารวจนั้นเพื่อไม่ให้ทําการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทํา อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันชอบด้วยหน้าที่แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจไม่จับกุมผู้กระทําผิดกฎหมาย จําเลยให้เงินตํารวจ เพื่อให้ทําการจับกุม กรณีนี้จําเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สิน มีมูลเหตุจูงใจให้กระทําการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144
นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกลูกสาวของตน ให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตกลงตามที่นายแดงเสนอ เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อันใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 อันเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจําเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยาน ตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกลูกสาวให้ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง ดังนี้นายแดง ไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อันใดเพื่อจูงใจให้กระทําการด้วยหน้าที่อันมิชอบ (คําพิพากษาฎีกาที่ 459/2469)

 

ข้อ 3. วัยรุ่นสิบคนมั่วสุมสมคบกันเพื่อข่มขืนกระทําชําเรานักศึกษาผู้หนึ่ง แล้วไปดักรอนักศึกษาผู้นั้นที่ปากซอยเข้าบ้าน แต่ตํารวจจับวัยรุ่นทั้งสิบคนได้เสียก่อน ดังนี้ วัยรุ่นมีความผิดประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 210 วรรคแรก “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรก แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1. สบคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น ต้องมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ซึ่งมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และเมื่อได้มีการสมคบกัน เพื่อที่จะกระทําความผิดดังกล่าว ก็จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรทันที แม้จะยังไม่ได้กระทําตามที่ตกลงกันก็ตาม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่วัยรุ่นสิบคนมั่วสุมสมคบกันเพื่อข่มขืนกระทําชําเรานักศึกษาผู้หนึ่ง และได้ไปดักรอนักศึกษาผู้นั้นที่ปากซอยเข้าบ้าน แต่ถูกจับได้เสียก่อนนั้น ถือว่าเป็นการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีเจตนาที่จะกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ซึ่งมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปแล้ว ดังนั้นแม้ว่าวัยรุ่นทั้งสิบคนจะยังไม่ได้กระทําตามที่ตกลงกันก็ตาม วัยรุ่นทั้งสิบคนนั้นก็มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร ตามมาตรา 210 วรรคแรก (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 134 1/2521)

สรุป
วัยรุ่นทั้งสิบคนมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร

 

ข้อ 4. นายชูวิทย์เช่ากิจการของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นไม่มีครูใหญ่ นายชูวิทย์จึงทําเรื่องขออนุญาตเป็นครูใหญ่จากทางการอยู่ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต นายชูวิทย์ได้ลงชื่อในใบสุทธิในตําแหน่งครูใหญ่ ให้แก่นักเรียนหลายคน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อความในใบสุทธิเป็นความจริงทุกประการ ดังนี้ นายชูวิทย์มีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคแรก “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย

1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา

การเติม หรือตัดทอนข้อความ หรือการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริง จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อผู้กระทําไม่มีอํานาจที่จะกระทําได้ ถ้าหากผู้กระทํามีอํานาจที่จะกระทําได้ การกระทํานั้นก็จะไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชูวิทย์ได้ลงชื่อในใบสุทธิในตําแหน่งครูใหญ่ให้แก่นักเรียนในระหว่างที่ไม่มีครูใหญ่ เพราะนายชูวิทย์ได้ทําเรื่องขออนุญาตเป็นครูใหญ่จากทางการอยู่แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตนั้น ถือว่าเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง และได้กระทําโดยไม่มีอํานาจที่จะกระทํา และแม้ว่าข้อความในใบสุทธิจะเป็นความจริงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการปลอมเอกสารแล้ว ดังนั้นการกระทําของนายชูวิทย์จึงเป็นความผิด อ่านปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก (คําพิพากษาฎีกาที่ 759/2518 (ประชุมใหญ่))
สรุป นายชูวิทย์มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก

Advertisement