การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เหน่งเลี้ยงสุนัขดุไว้ในบ้าน  ด้วยความรีบร้อนเหน่งเปิดประตูรั้วนำรถยนต์ออก  โดยมิได้เอาสุนัขขังกรงก่อน  สุนัขของเหน่งวิ่งตรงออกจากบ้านตรงไปจะกัดอุดมซึ่งกำลังยืนซื้อส้มตำจากช้อย  อุดมเห็นว่าจวนตัวสามารถหลีกเลี่ยงได้  จึงคว้าครกที่ช้อยกำลังตำส้มตำทุ่มไปถูกหัวสุนัข  สุนัขตายและครกของช้อยแตก

ดังนี้  อุดมและเหน่งจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

 (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

เหน่งเปิดประตูรั้วโดยไม่ได้เอาสุนัขดุของตนไปขังกรงก่อน  สุนัขจึงวิ่งออกจากบ้านไปจะกัดอุดม  ถือว่าเหน่งกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งเมื่อเหน่งจะเปิดประตู  ตามวิสัยของคนที่เลี้ยงสุนัขดุจึงมีหน้าที่ที่จะต้องนำสุนัขไปขังหรือผูกไว้เพื่อไม่ให้สุนัขออกไปจากบ้านก่อนที่จะเปิดประตู  เมื่อเหน่งไม่ได้กระทำ  เหน่งจึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ  เหน่งกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59 วรรคสี่  แต่เหน่งไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะความเสียหายยังไม่ได้เกิดจากการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจักต้องรับผิดทางอาญากรณีที่กระทำโดยประมาทต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่า  การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด

อุดมได้ใช้ครกส้มตำทุ่มถูกหัวสุนัขของเหน่ง  สุนัขตาย  อุดมไม่ต้องรับผิดฐานทำให้ทรัพย์ของเหน่งเสียหาย  เพราะอุดมกระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากการถูกสุนัขของเหน่งกัด  การที่สุนัขวิ่งออกมาจากบ้านและจะกัดอุดมนั้น  เกิดจากการประมาทของเหน่ง

ซึ่งถือว่าเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  อุดมใช้ครกทุ่มไปที่สุนัขได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  เป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  อุดมไม่มีความผิดทำให้ทรัพย์ของเหน่งเสียหาย  ส่วนกรณีที่ครกของช้อยแตกเสียหายนั้น  อุดมต้องรับผิดฐานทำให้ทรัพย์ของช้อยเสียหาย  แต่อุดมไม่ต้องรับโทษ  เพราะอุดมกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

เพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายอันใกล้จะถึง  และอุดมไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้โดยวิธีอื่นใดได้นอกจากจะต้องกระทำความผิดและภยันตรายนั้นอุดมมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของอุดม  และการกระทำของอุดมก็ไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ  อุดมจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(2)

สรุป  เหน่งไม่ต้องรับผิดทางอาญา  อุดมไม่ต้องรับผิดต่อเหน่ง  เพราะกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  อุดมรับผิดต่อช้อย  แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  ตามมาตรา  67(2)

 

ข้อ  2  มนตรีรับราชการอยู่ชายแดน  3  เดือนกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง  เมื่อมนตรีกลับมาบ้านจรรยาภรรยาของมนตรีเล่าให้มนตรีฟังว่า  เมื่อ  1 เดือนที่ผ่านมาสาครได้ข่มขืนกระทำชำเราจรรยา  มนตรีได้ฟังคำบอกกล่าวจากจรรยารู้สึกโกรธสาครมากจึงตามไปฆ่าสาคร  มนตรีไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าขจรเป็นสาครซึ่งตนตามฆ่า  จึงยิงขจรลูกกระสุนปืนถูกขจรบาดเจ็บแล้วยังเลยไปถูกแจ่มใสตายด้วย

ดังนี้มนตรีจะต้องรับผิดทางอาญา  อย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริง  ตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า  การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด  บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

มนตรีต้องการฆ่าสาคร  สมตรีไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าขจรเป็นสาคร  ซึ่งตนตามฆ่าจึงยิงขจร  มนตรีเจตนากระทำต่อขจรแล้ว  ตามมาตรา 59  วรรคสอง  มนตรีจึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  แม้ว่ามนตรีเจตนาจะกระทำต่อสาครแต่ได้กระทำโดยสำคัญผิดก็ตาม  มนตรีจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำต่อขจรโดยเจตนาไม่ได้  ตามมาตรา  61

เพราะมนตรีกระทำต่อขจรนั้นเป็นเจตนาประสงค์ต่อผล  แต่ที่มนตรีเจตนากระทำต่อขจรโดยเข้าใจว่าเป็นสาครนั้นเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเนื่องมาจากสาครได้ข่มเหงมนตรีอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  มนตรีจึงรับโทษน้อยลง  ตามมาตรา  72  การที่มนตรีสำคัญผิดว่าขจรคือสาคร  เป็นความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งแม้จะเกิดจากความประมาทของมนตรีก็ตาม  มนตรีต้องรับผิดต่อขจรโดยเจตนาอยู่แล้ว  เพราะตามมาตรา  61  ความสำคัญผิดนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้  ซึ่งต่างกับมาตรา  62  วรรคแรกที่แก้ตัวได้

แต่ถ้าความสำคัญผิดเกิดจากความประมาทจึงต้องรับโทษตามมาตรา  62  วรรคสอง  เมื่อมนตรีกระทำต่อขจรไปโดยบันดาลโทสะแล้ว  ผลของการกระทำไปเกิดกับแจ่มใสนั้นเป็นผลซึ่งเกิดโดยพลาดไป  แต่ตามมาตรา  60  ถือว่ามนตรีเจตนากระทำต่อแจ่มใส  ซึ่งมนตรีอ้างบันดาลโทสะตามมาตรา  72  ได้เช่นเดียวกัน  เพื่อรับโทษน้อยลง

สรุป  มนตรีกระทำต่อขจรโดยเจตนาและเจตนากระทำต่อแจ่มใสโดยพลาดไป  แต่มนตรีกระทำไปขณะบันดาลโทสะ  จึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

 

ข้อ  3  มารุตกับพวกแข่งรถจักรยานยนต์กันบนท้องถนน  สงบมีบ้านอยู่ริมถนนเกิดความรำคาญเสียงดังของรถจักรยานยนต์ที่มารุตกับพวกขับแข่งกันมา  สงบจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ของมารุตกับพวกขับแข่งกันมาลูกกระสุนปืนถูกรถจักรยานยนต์ที่มารุตขับมาล้มลง  มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนน  อาชาขับรถยนต์บรรทุกมาพอดีที่มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนนซึ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อไม่ทัน  รถยนต์บรรทุกจึงทับมารุตตาย

ดังนี้  สงบและอาชาจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

วินิจฉัย

มารุตกับพวกแข่งรถจักรยานยนต์กันบนท้องถนน  สงบมีบ้านอยู่ริมถนนเกิดความรำคาญเสียงดังของรถจักรยานยนต์ที่มารุตกับพวกขับแข่งกันมา  สงบจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ของมารุตกับพวกขับแข่งกันมา  ลูกกระสุนปืนถูกรถจักรยานยนต์ที่มารุตขับมาล้มลง  มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนน  อาชาขับรถยนต์บรรทุกมาพอดีที่มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนนซึ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อไม่ทัน  รถยนต์บรรทุกจึงทับตาย  ดังนี้  แม้สงบไม่ได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงให้มารุตตาย  แต่สงบย่อมเล็งเห็นผลว่าการใช้ปืนยิงไปที่มารุตกับพวกที่ขับรถจักรยานยนต์แข่งกันมานั้นอาจจะทำให้กระสุนปืนถูกคนตายหรือทำให้ถูกรถจักรยานยนต์แล้วเสียหลักทำให้เกิดอันตรายได้  ดังนั้น  จึงต้องถือว่าสงบเจตนากระทำต่อมารุตโดยเล็งเห็นผล  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  สงบต้องรับผิดทางอาญาต่อมารุตตามมาตรา  59  วรรคแรก  ส่วนการกระทำของอาชานั้น  อาชาไม่ต้องรับผิดทางอาญา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  เพราะอาชาไม่มีเจตนากระทำต่อมารุต  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าอาชากระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะ  (ขณะขับรถ)  เช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  แต่มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนนซึ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อไม่ทัน  รถยนต์บรรทุกจึงทับมารุตตาย  จึงถือไม่ได้ว่าอาชากระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่

สรุป  สงบกระทำต่อมารุตโดยเจตนา  จึงต้องรับผิดทางอาญาต่อมารุต  อาชาไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะไม่ได้กระทำต่อมารุตโดยเจตนาและไม่ได้กระทำต่อมารุตโดยประมาท

 

ข้อ  4  สดสวยโกรธเสริมศักดิ์สามี  เพราะเจ้าชู้มาก  สดสวยวานให้สมศักดิ์และสมยศน้องชายของสดสวยทั้งสองคนไปฆ่าเสริมศักดิ์ แสงทองน้องสาวของสดสวยเป็นผู้จัดหาอาวุธปืนให้สมศักดิ์และสมยศและขับรถไปส่งสมศักดิ์กับสมยศที่บ้านของเสริมศักดิ์  เมื่อสมศักดิ์กับสมยศขึ้นไปบนบ้าน  เห็นเสริมศักดิ์นอนหลับ  สมศักดิ์ยกปืนเล็งไปที่เสริมศักดิ์  สมศักดิ์เกิดความสงสารจึงไม่ลั่นไก  สมยศเห็นสมศักดิ์ไม่ยิงจึงชักปืนจะยิงเสริมศักดิ์เสียเอง  สดสวยตามมาทันด้วยความรักที่มีอยู่จึงเข้าไปผลักสมยศกระสุนปืนลั่นออกไปไม่ถูกเสริมศักดิ์  ดังนี้ สมสวย  สมศักดิ์  สมยศ  และแสงทองจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  82  ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น  แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้นฃ

มาตรา  88  ถ้าความผิดที่ได้ใช้  ได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด  แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้  ผู้กระทำได้กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้ใช้คงรับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ในมาตรา  84  วรรคสอง

มาตรา  89  ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ  ลดโทษ  หรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดคงใดจะนำเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทำความผิดคนอื่นในการกระทำความผิดนั้นด้วยไม่ได้  แต่ถ้าเหตุอันควรยกเว้นโทษลดโทษหรือเพิ่มโทษในลักษณะคดี  จึงให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน

วินิจฉัย

การกระทำของสดสวย  ตามปัญหา  สดสวยวานให้สมศักดิ์และสมยศน้องชายของสดสวยทั้งสองคนไปฆ่าเสริมศักดิ์  จึงถือว่าสดสวยได้ก่อให้สมศักดิ์กับสมยศกระทำความผิด  สดสวยจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดและต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้  ตามมาตรา  84  แต่เมื่อสมศักดิ์กับสมยศขึ้นไปบนบ้าน  เห็นเสริมศักดิ์นอนหลับสมศักดิ์ยกปืนขึ้นเล็งไปที่เสริมศักดิ์  สมศักดิ์เกิดความสงสารจึงไม่ลั่นไก  จึงถือได้ว่าสมศักดิ์ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ  และการที่สมศักดิ์ได้กระทำไปแล้วไม่ต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  สมศักดิ์จึงไม่ต้องรับโทษฐานพยายาม  ตามมาตรา  82  ซึ่งการยับยั้งการกระทำเสียเองนี้  ย่อมมีผลไปถึงผู้กระทำคนอื่นๆ  (ตัวการ  ผู้สนับสนุน  ผู้ใช้)  ในความผิดที่กระทำเพราะการยับยั้งนั้นด้วย  เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี  ตามาตรา  89  ดังนั้น  จึงมีผลไปถึงสดสวยด้วย  แต่เมื่อสมยศเห็นสมศักดิ์ไม่ยิงจึงชักปืนจะยิงเสริมศักดิ์เสียเอง  และสดสวยตามมาทันแล้วผลักสมยศ  จึงเป็นการขัดขวางให้การกระทำไม่บรรลุผล  สดสวยมีความผิด  ตามมาตรา  88  ต้องรับโทษหนึ่งในสาม  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

การกระทำของสมศักดิ์  ตามปัญหา สมศักดิ์ยกปืนเล็งไปที่เสริมศักดิ์แต่เกิดความสงสารจึงไม่ลั่นไก  สมศักดิ์ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะยับยั้งการกระทำเสียเองโดยสมัครใจ  ตามมาตรา  82  สมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่า

การกระทำของสมยศ  ตามปัญหา  สมยศชักปืนจะยิงเสริมศักดิ์เสียเองแต่สดสวยเข้าไปผลักสมยศกระสุนปืนลั่นไปไม่ถูกเสริมศักดิ์  จึงถือได้ว่าสมยศได้ลงมือกระทำแล้ว  แต่กระทำไปไม่ตลอด  จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า  ตามมาตรา  80

การกระทำของแสงทอง  ตามปัญหา  แสงทองเป็นผ็จัดหาอาวุธปืนให้สมศักดิ์และสมยศ  และได้ขับรถไปส่งสมศักดิ์กับสมยศที่บ้านของเสริมศักดิ์  จึงถือได้ว่า  แสงทองช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  แสงทองจึงเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86  แม้สมยศลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอดจึงเป็นขั้นพยายามก็ตาม  แสงทองก็ต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป 

1       สดสวยเป็นผู้ใช้ให้  (สมยศ)  กระทำความผิด  แต่ได้เข้าขัดขวางให้การกระทำไม่บรรลุผล  สดสวยมีความผิด  ตามมาตรา  88  ต้องรับโทษหนึ่งในสามตามมาตรา  84  วรรคสอง

2       สมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่า

3       สมยศมีความผิดฐานพยายามฆ่า

4       แสงทองมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน 

Advertisement