การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 สุขสมขับรถยนต์รับส่งนักเรียน รถยนต์ที่สุขสมขับห้ามล้อไม่อยู่ในระยะกระชั้นชิด สุขสมก็ทราบดีแต่ยังคงนำรถยนต์คันดังกล่าวไปรับส่งนักเรียนอีก ขณะสุขสมขับรถยนต์มาถึงทางแยกมีสัญญาณไฟจราจรสีแดง สุขสมห้ามล้อไม่อยู่เพราะระยกระชั้นชิด รถยนต์ที่สุขสมขับมาชนรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ข้างหน้าล้มลง ส่งเสริมได้รับบาดเจ็บและรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมยังไปถูกรถยนต์ของสดใสเสียหายด้วย
ดังนี้ สุขสมจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
วินิจฉัย
สุขสมทราบดีว่าห้ามล้อรถยนต์ไม่อยู่ในระยะกระชั้นชิด แต่ไม่จัดการซ่อมให้ดีตามวิสัยของผู้มีอาชีพรถยนต์รับจ้าง เพราะการที่รถยนต์ห้ามล้อไม่ดีย่อมเกิดอันตรายได้ และตามพฤติการณ์แล้วหากสุขสมจัดการซ่อมห้ามล้อให้ดีก็ย่อมทำได้ แต่หาได้จัดการซ่อมไม่ ถือได้ว่าสุขสมอาจใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ใช้ให้เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ การกระทำของสุขสมจึงเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เมื่อรถยนต์ที่สุขสมขับมาชนรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมล้มลง และส่งเสริมได้รับบาดเจ็บ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยประมาทของสุขสม ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท สุขสมต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมล้มไปถูกรถยนต์ของสดใสเสียหาย
เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของสุขสม แต่การกระทำโดยประมาทที่จะต้องรับผิดทางอาญาจะต้องมีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง สำหรับการกระทำโดยประมาทให้ทรัพย์สินเสียหายนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
สรุป สุขสมต้องรับผิดกระทำโดยประมาทให้ส่งเสริมได้รับบาดเจ็บ สำหรับรถยนต์ของสดใสที่เสียหาย สุขสมไม่ต้องรับผิดทางอาญา
ข้อ 2 นำชัยใช้ปืนขู่บังคับประทินให้ใช้ไม้ตีศีรษะสมภพ หากประทินขัดขืนจะยิงให้ตาย ประทินกลัวตายจึงใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะของสมภพ สมภพหลบทัน นำชัยจึงบอกให้ประทินตีอีก ประทินเงื้อไม้ขึ้นตีสมภพชักมีดแทงสวนไปถูกประทินล้มลง ไม้ที่ประทินถืออยู่ถูกเจนจบซึ่งนั่งอยู่ในบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ นำชัย ประทิน และสมภพจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
มาตรา 59 วรรคสอง กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
มาตรา 67 ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ
วินิจฉัย
ประทินใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะสมภพ ประทินได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการกระทำขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือ สมภพ ประทินกระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา” แต่ประทินไม่ต้องรับโทษเพราะขณะกระทำประทินอยู่ภายใต้อำนาจของนำชัย ประทินไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ และการที่ประทินใช้ไม้ตีศีรษะของสมภพนั้นผลที่เกิดขึ้นคือสมภพได้รับบาดเจ็บ แต่ถ้าประทินขัดขืนไม่ใช้ไม้ตีศีรษะสมภพตามคำขู่ของนำชัยแล้วประทินจะถูยิงตาย การกระทำของประทินจึงเป็นการกระทำไม่เกินสมควรแก่เหตุ ดังนั้น ประทินจึงกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67(1) ประทินมีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ
การกระทำของสมภพ สมภพกระทำต่อประทินโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันประสงค์ต่อผล สมภพได้กระทำต่อประทินโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง แต่สมภพกระทำไปเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ประทินได้ก่อขึ้น และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง สมภพจำต้องป้องกันสิทธิของตนเอง และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของสมภพเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย สมภพไม่มีความผิดตามมาตรา 68 นำชัยได้มีเจตนาก่อให้ประทินกรทำความผิดด้วยวิธีบังคับและความผิดได้เกิดขึ้นตามที่ก่อ นำชัยต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84
สรุป
1 ประทินมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ เพราะกระทำผิดด้วยความจำเป็น
2 สมภพกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด
3 นำชัยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ข้อ 3 สมยศรับราชการอยู่ชายแดนได้รับอนุญาตให้ลากลับมาเยี่ยมบ้าน สมยศกลับมาถึงบ้าน ส่องแสงภรรยาชอบด้วยกฎหมายของสมยศ เล่าให้สมยศฟังว่าเมื่อเดือนก่อนหาญได้เข้ามาข่มขืนกระทำชำเราส่องแสงในบ้าน สมยศทราบจากส่องแสงเช่นนั้นโกรธมากจึงตามไปฆ่าหาญ สมยศพบแห้วน้องชายหาญไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าเป็นหาญจึงชักอาวุธปืนยิงแห้ว ขณะที่สมยศยิงแห้ว หาญออกมาเห็นเข้าพอดีจำได้ว่าสมยศเป็นสามีของส่องแสงที่ตนข่มขืนสมยศคงจะมาฆ่าตน หาญจึงยิงสมยศได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ สมยศ และหาญจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
มาตรา 59 วรรคสอง กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
มาตรา 61 ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
วินิจฉัย
สมยศต้องการฆ่าหาญ สมยศเห็นแห้วน้องชายหาญไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าเป็นหาญ สมยศชักอาวุธปืนออกยิงแห้ว สมยศได้กระทำต่อแห้วโดยเจตนาปนระสงค์ต่อผลตามมาตรา 59 วรรคสอง สมยศจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง แม้ว่าสมยศเจตนาจะกระทำต่อหาญ แต่ได้กระทำต่อแห้วโดยสำคัญผิดก็ตาม สมยศจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำต่อแห้วโดยเจตนาไม่ได้ตามมาตรา 61 ซึ่งการที่สมยศสำคัญผิดว่าแห้วคือหาญ เป็นความสำคัญผิดในตัวบุคคล ซึ่งแม้จะเกิดจากความประมาทของสมยศก็ตาม สมยศต้องรับผิดต่อแห้วโดยเจตนาอยู่แล้ว เพราะตามมาตรา 61 ความสำคัญผิดนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ แต่สมยศกระทำไปเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมและได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงไปขณะนั้น สมยศกระทำไปเพราะบันดาลโทสะ จะได้รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้ ตามมาตรา 72
ส่วนหาญเห็นสมยศกำลังยิงแห้ว หาญจำสมยศได้ว่าเป็นสามีของส่องแสงที่ตนข่มขืนและคงจะมาฆ่าตน หาญจึงยิงสมยศ หาญได้กระทำต่อสมยศโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และหาญจะอ้างว่ามีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หาญจำต้องป้องกันสิทธิของตนเองไม่ได้ และขณะนั้นหาญเองก็ไม่คิดจะป้องกันสิทธิของผู้อื่น (แห้ว) ด้วย เพราะหาญเป็นผู้ก่อภยันตรายขึ้นก่อน หาญจึงอ้างว่ากระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ไม่ได้
สรุป สมยศกระทำความผิดทางอาญา แต่กระทำไปเพราะบันดาลโทสะ จึงรับโทษน้อยลง หาญกระทำต่อสมยศโดยเจตนาและอ้างว่ากระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้
ข้อ 4 เฉิดโฉมเดินผ่านสมปอง สมปองจึงพูดว่า “โอโฮ อกภูเขาบั้นท้ายดินระเบิด” เฉิดโฉมไม่พอใจมาบ่นให้เพื่อนๆฟังว่า อยากตีศีรษะสมปองปากไม่ดี ชาตรีซึ่งหลงรักเฉิดโฉมอยากเอาใจเฉิดโฉมชาตรีชวนสมพงษ์ไปทำร้ายสมปอง สมพงษ์ตกลง ยอดทราบว่าชาจรีกับสมพงษ์จะไปทำร้ายสมปอง ยอดจึงบอกชาตรีกับสมพงษ์ว่าอย่างวู่วาม แล้วทั้งสามคนร่วมกันวางแผน พอถึงเวลาไปทำร้ายสมปอง ชาตรีไปกับสมพงษ์สองคน ยอดไม่ได้ไปด้วย ชาตรีตีศีรษะสมปองแล้วส่งไม้ให้สมพงษ์แล้วหลบหนีไปด้วยกัน ดังนั้น เฉิดโฉม สมพงษ์ และยอด จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน หรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
วินิจฉัย
การที่เฉิดโฉมบ่นให้เพื่อนๆฟังว่าอยากตีศีรษะสมปองปากไม่ดี แล้วชาตรีซึ่งหลงรักเฉิดโฉมอยากเอาใจเฉิดโฉม ชาตรีจึงชวนสมพงษ์ไปทำร้ายสมปองนั้น ถือไม่ได้ว่าเฉิดโฉมก่อให้ชาตรีกระทำความผิด เฉิดโฉมเพียงระบายความไม่พอใจให้ฟังเท่านั้น ดังนั้น เฉิดโฉมจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 เพราะผู้ใช้ตามมาตรา 84 นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีเจตนาก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด แต่ตามปัญหา เฉิดโฉมไม่มีเจตนาก่อให้ชาตรีกระทำความผิด
เมื่อชาตรีชวนสมพงษ์ไปทำร้ายสมปองแล้วสมพงษ์ตกลง ยอดทราบว่าชาตรีกับสมพงษ์จะไปทำร้ายสมปอง ยอดจึงบอกชาตรีกับสมพงษ์ว่าอย่าวู่วาม แล้วทั้งสามคนร่วมกันวางแผน พอถึงเวลาไปทำร้ายสมปองชาตรีไปกับสมพงษ์สองคน ยอดไม่ได้ไปด้วย ชาตรีตีศีรษะสมพงษ์แล้วส่งไม้ให้สมพงษ์แล้วหลบหนีไปด้วยกัน ดังนั้น ชาตรีกับสมพงษ์จึงเป็นตัวการทำร้ายร่างกายสมปอง เพราะชาตรีกับสมพงษ์ได้ร่วมกันกระทำขณะกระทำความผิดโดยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดด้วยกัน (กล่าวคือ รู้ถึงการกระทำของกันและกัน และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย) ชาตรีและสมพงษ์ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
การกระทำของยอด ยอดได้ร่วมกันวางแผนกับชาตรีและสมพงษ์ แต่ยอดไม่ได้ร่วมกระทำขณะกระทำความผิดเพราะยอดไม่ได้ไปทำร้ายสมปองด้วย ยอดจึงเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิด ยอดต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 86
สรุป
1 เฉิดโฉมไม่มีเจตนาก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดจึงไม่ต้องรับผิด
2 สมพงษ์ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
3 ยอดต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86