การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  พลเดินผ่านรถยนต์ของนิกร  เห็นดิเรกนั่งอยู่ในรถยนต์คันนั้น  เข้าใจว่าเป็นสมนึกศัตรูของพล  พลจึงใช้ปืนยิงไปที่ดิเรก  กระสุนถูกกระจกรถยนต์ของนิกรแตกและทะลุถูกดิเรกตาย  และกระสุนปืนทะลุประตูรถยนต์ออกไปถูกแห้ว  และลูกสุนัขของจอยที่แห้วอุ้มอยู่ตายด้วย

ดังนี้  พลต้องรับผิดทางอาญาอย่างใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

วินิจฉัย

พลเดินผ่านรถยนต์ของนิกรเห็นดิเรกนั่งอยู่ในรถยนต์คันนั้นเข้าใจว่า  เป็นสมนึกศัตรูของพล  พลใช้ปืนยิงไปที่ดิเรกลูกกระสุนปืนถูกกระจกรถยนต์แตกและทะลุถูกดิเรก  พลกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  (ดิเรก)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  และเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (กระจกรถยนต์ของนิกร)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  พลจะอ้างว่าไม่เจตนากระทำต่อดิเรกเพราะสำคัญผิดว่าดิเรกคือสมนึกศัตรูของพลที่พลต้องการฆ่าไม่ได้ตามมาตรา  61  ที่วางหลักว่าผู้ใดเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด  ผู้นั้นจะยกความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่  และผลจากที่พลเจตนากระทำต่อดิเรกและทรัพย์ของนิกรไปเกิดกับแห้ว  และทรัพย์  (สุนัข)  ของจอยถือว่าพลเจตนากระทำต่อแห้วและทรัพย์ของจอยด้วยตามมาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น 

สรุป  พลต้องรับผิดทางอาญาเพราะได้กระทำโดยเจตนาต่อดิเรกและทรัพย์ของนิกร  และพลได้กระทำโดยเจตนาต่อแห้วและทรัพย์ของจอยโดยพลาดไป

 

ข้อ  2  นพชกยอดล้มลงแล้วนพเดินหนีไป  ยอดลุกขึ้นมาได้วิ่งไล่ตามทันนพ  ยอดชกนพที่ใบหน้า  นพหน้าแตกและแว่นตาที่นพสวมอยู่กระจกแตกด้วย  ดังนี้  ยอดต้องรับผิดทางอาญาอย่างใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

นพชกยอดล้มลงไปแล้วนพเดินหนี  นพได้กระทำโดยเจตนาต่อยอดและการกระทำนั้นเป็นการข่มเหงยอดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  ยอดเมื่อถูกนพชกแล้วลุกขึ้นมาวิ่งไล่ตามไปทันนพ  ยอดชกนพที่ใบหน้า  ยอดกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  (นพ)  และแว่นตาที่นพสวมอยู่กระจกแตกยอดกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (กระจกแว่นตา)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ยอดต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่ยอดจะรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้เพราะยอดกระทำไปเพราะบันดาลโทสะโดยถูกนพข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  ตามมาตรา  72

สรุป  ยอดกระทำโดยเจตนาต่อนพ  ยอดต้องรับผิดทางอาญาแต่รับโทษน้อยลงเพราะกระทำไปโดยบันดาลโทสะ

 

ข้อ  3  เชย  ชิด  และฉ่ำ  ไปเที่ยวงานประเพณี  พบเอกกับเพื่อนยืนอยู่  เชยมีอาวุธปืนเดินเข้าไปถามหาเรื่องจะทำร้ายเอก  แล้วทั้งสามก็ไปเที่ยวต่อ  หลังจากเที่ยวงานเสร็จระหว่างทางกลับบ้าน  เชย  ชิด  และฉ่ำพบเอกกับพวกอีก  ชิดได้ชักมีดออกแทงเอก  เอกหลบและชักปืนออกมาจะยิงชิด  ฉ่ำเข้าแย่งปืนกับเอก  ฉ่ำร้องบอกเชยว่า  เชยยิงๆ  เชยได้ใช้ปืนยิงเอก  ขณะเดียวกัน  ชิดเข้าขัดขวางพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอก  เอกถูกยิงตาย

ดังนี้  เชย  ชิด  และฉ่ำ  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

การที่เชยมีอาวุธปืนเข้าไปถามหาเรื่องเอกกับพวกก่อนและเชยได้ใช้อาวุธปืนยิงเอกในตอนหลังเป็นการแสดงว่าเชยมีเจตนาร่วมกระทำความผิด  เชยต้องรับผิดเป็นตัวการตามมาตรา  83  ที่วางหลักว่าในกรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ

การกระทำของชิด  ระหว่างทางกลับบ้าน  เชย  ชิด  และฉ่ำ  พบเอกกับพวก  ชิดได้ชักมีดออกแทงเอกแล้วเข้าขัดขวางพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอกขณะเชยใช้ปืนยิงเอกพฤติการณ์ของชิดแสดงว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิด  ชิดต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตา  83  ที่วางหลักว่าในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ 

การกระทำของฉ่ำ  เมื่อชิดชักมีดออกแทงเอก  เอกหลบและชักมีดออกจะยิงชิด  ฉ่ำได้เข้าแย่งปืนกับเอกปละฉ่ำได้ร้องบอกให้เชยยิงเอก  การกระทำของฉ่ำเป็นการร้องบอกให้ช่วยกันทำร้ายเอกตามเหตุการณ์ที่ฉ่ำมีต่อเอก  เมื่อเชยใช้ปืนยิงเอก  ฉ่ำได้มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับเชย  ฉ่ำต้องรับผิดเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป  เชย  ชิด  ฉ่ำ  มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด  จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

 

ข้อ  4  จำลองจับสนธิไว้เป็นตัวประกัน  แล้วยกปืนขึ้นจะยิงวิเชียร  วิเชียรจึงใช้ปืนยิงไปที่จำลอง  ลูกกระสุนถูกจำลองและสนธิตาย  ดังนี้ วิเชียรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

จำลองยกปืนขึ้นจะยิงวิเชียร  จำลองได้ก่อภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  วิเชียรใช้ปืนยิงไปที่จำลอง  วิเชียรได้กระทำเจตนาต่อจำลองตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่วิเชียรกระทำไปเพื่อป้องกันตนเองและกระทำไปพอสมควรแก่เหตุเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  และกระสุนปืนท่าวิเชียรยิงไปที่จำลองยังถูกสนธิตายด้วย  วิเชียรกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (สนธิ)  ตามาตรา  59  วรรคสอง  จึงเป็นความผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่วิเชียรกระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่จำลองก่อขึ้นและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  วิเชียรไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้นวิเชียรมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน  วิเชียนกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  วิเชียรไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(2)

สรุป  วิเชียรไม่ต้องรับผิดต่อจำลอง  เพราะการกระทำของวิเชียรเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  วิเชียรต้องรับผิดต่อสนธิ  แต่วิเชียรไม่ต้องรับโทษเพราะวิเชียรกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตราย

Advertisement