การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายโก๋ออกไปล่าสัตว์ในป่ากับนายเก๋า หลังจากแยกย้ายกันไปสักพักใหญ่ นายโก๋มานั่งพักอยู่ที่จุดนัดพบคอยนายเก๋า ระหว่างนั้นนายโก๋ได้ยินเสียงพุ่มไม้ไหว ก็เข้าใจไปว่าเป็นหมูป่าโดยไม่คิดว่า เป็นนายเก๋าทั้งที่ปกตินายเก๋ามักจะชอบล้อเล่นแบบนี้อยู่เสมอ ด้วยความรีบร้อนไม่ดูให้ดี นายโก๋ ใช้ปืนยิงไปหลังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าโดนนายเก๋าถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญา ของนายโก๋
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้
กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือ ความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคหนึ่ง ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํารับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโก๋ใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึกแล้ว จึงถือว่านายโก๋มีการกระทําทางอาญา แต่การที่นายโก๋ยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์แต่ ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นนายเก๋านั้น เป็นกรณีที่นายโก๋ได้กระทําไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิ่งนั้นเป็นคน ดังนั้น จะถือว่านายโก๋ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของ การกระทําคือการที่นายเก๋าถึงแก่ความตายไม่ได้ กล่าวคือ จะถือว่านายโก๋ได้กระทําโดยเจตนาต่อนายเก๋าไม่ได้ นั่นเอง (มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม)
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม ของนายก๋าได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นการกระทําของนายโก๋ เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และ
นายโก๋อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ ถ้านายโก๋ใช้ความระมัดระวัง พิจารณาให้ดีไม่รีบร้อนก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นนายเก๋าไม่ใช่สัตว์ เพราะนายเก๋มากจะหยอกล้อเล่นแบบนี้เป็นประจํา ดังนั้น นายโก๋จึงต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62 วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่
สรุป
นายโก๋ต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62 วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่
ข้อ 2. นายแดงต้องการฆ่านายดํา วันหนึ่งนายแดงเห็นนายดํานั่งรับประทานอาหารอยู่กับนางขาว นายแดงจึงใช้ปืนลูกซองยิงไปที่นายดํา กระสุนถูกนายดําได้รับบาดเจ็บและบางส่วนของกระสุนยังกระจาย ไปถูกนางขาวถึงแก่ความตาย เศษกระสุนส่วนหนึ่งไปถูกกระจกรถยนต์ของนายฟ้าแตกเสียหาย
จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายแดง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่า นั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไป ตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ความรับผิดทางอาญาของนายแดง แยกพิจารณาได้ดังนี้
ความรับผิดของนายแดงต่อนายดํา
การที่นายแดงใช้ปืนยิงไปที่นายดํานั้น เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และใน ขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํา คือความตายของผู้ที่ตนยิง ดังนั้น การกระทําของนายแดง จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เมื่อกระสุนถูกนายดําได้รับบาดเจ็บไม่ถึงแก่ความตาย การกระทําของนายแดงจึงเป็นการกระทําที่ได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล นายแดงจึงมี ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80
ความรับผิดของนายแดงต่อนางขาว
การที่นายแดงใช้ปืนยิงไปที่นายดําในขณะที่นายดํานั่งรับประทานอาหารอยู่กับนางขาวนั้น นายแดงย่อมเล็งเห็นผลของการกระทําของตนอยู่แล้วว่า กระสุนปืนอาจถูกนางขาวได้ ดังนั้น เมื่อกระสุนที่นายแดง ได้ยิงไปนั้นได้ถูกนางขาวถึงแก่ความตาย การกระทําของนายแดงต่อนางขาวดังกล่าวจึงเป็นการกระทําโดยเจตนา ย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสอง นายแดงจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลตาม มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ส่วนกรณีที่เศษกระสุนส่วนหนึ่งไปถูกกระจกรถยนต์ของนายฟ้าแตกเสียหายนั้น ถือเป็นการกระทําโดยประมาทของนายแดงตามมาตรา 59 วรรคสี่ แต่เนื่องจากการทําให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นโดยประมาทนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ดังนั้น นายแดงจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อกระจกรถยนต์ ของนายฟ้า ตามหลักเกณฑ์มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ที่ว่าบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทําโดยประมาท ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท
สรุป
นายแดงต้องรับผิดทางอาญาต่อนายดําฐานพยายามฆ่านายดําตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 และรับผิดทางอาญาต่อนางขาวฐานฆ่านางขาวตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่นายแดงไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อกระจกรถยนต์ของนายฟ้า
ข้อ 3. บุญจงต้องการทําร้ายสมหมาย บุญจงจึงบอกสุทินให้ตีศีรษะสมหมาย ถ้าไม่ตีจะกดรีโมทระเบิดตึกราคา 10 ล้านบาทของสมหมายซึ่งได้วางระเบิดไว้แล้ว สุทินกลัวบุญจงระเบิดตึกจึงใช้ไม้ตีศีรษะ สมหมาย สมหมายหลบและล้มลง สุทินจะตีซ้ำ แมนบุตรของสมหมายเห็นเข้าจึงผลักสุทินล้มลง ได้รับบาดเจ็บ สมหมายลุกขึ้นได้ใช้เท้าเตะไปที่หน้าสุทิน จงวินิจฉัยความรับผิดของบุญจง สุทิน แมน และสมหมาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้ พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของ โทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ บุญจง สุทิน แมน และสมหมาย จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของบุญจง
การที่บุญจงบอกสุทินให้ตีศีรษะสมหมาย ถ้าไม่มีจะกดรีโมทระเบิดตึกราคา 10 ล้านบาทของสมหมายซึ่งได้วางระเบิดไว้แล้วนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดด้วยการบังคับขู่เข็ญแล้ว บุญจงจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทําลงคือสุทินได้ใช้ไม้ตีศีรษะสมหมายแล้ว ดังนั้น บุญจงผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง
กรณีของสุทิน
การที่สุทินใช้ไม้ตีศีรษะสมหมาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของสุทินจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตาม มาตรา 59 วรรคสอง สุทินจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่สุทินใช้ไม้ตีศีรษะสมหมายนั้น สุทินได้กระทําไปเพราะอยู่ภายใต้อํานาจบังคับของบุญจง ซึ่งสุทินไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ เมื่อสุทินได้กระทําไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทําของสุทินจึงเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (1) ดังนั้น สุทินจึงมีความผิดแต่ ไม่ต้องรับโทษ
กรณีของแมน
การที่แมนบุตรของสมหมายผลักสุทินล้มลงได้รับบาดเจ็บนั้น ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของแมนจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง แมนจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่แมนผลักสุทินล้มลงได้รับบาดเจ็บนั้น แมนได้กระทําไปเพื่อป้องกันสิทธิของสมหมายให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของสุทิน และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อแมนได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของแมนจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68 ดังนั้น แมนจึงไม่ต้องรับผิดต่อสุทิน
กรณีของสมหมาย
การที่สมหมายได้ใช้เท้าเตะไปที่หน้าสุทินนั้น ถือเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของสมหมายจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของสมหมายนั้น สมหมายสามารถอ้างได้ว่าได้กระทําความผิด เพราะเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษได้ตามมาตรา 72 เพราะสมหมายถูกสุทินข่มเหงอย่าง ร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และได้กระทําต่อสุทินในขณะนั้น
สรุป
บุญจงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84
สุทินมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 เพราะเป็นการกระทําความผิด
ด้วยความจําเป็น
แมนไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม
มาตรา 68
สมหมายต้องรับผิดทางอาญา แต่อ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อน ผ่อนโทษได้ตามมาตรา 72.
ข้อ 4. ประชากับสมเดชร่วมกันวางแผนฆ่าชุมพล โดยตกลงกันให้ประชาไปหลอกชุมพลออกจากบ้านมาให้สมเดชยิง อรสาแอบได้ยินประชากับสมเดชวางแผนฆ่าชุมพล และทราบว่าสมเดชไม่มีอาวุธปืน อรสาได้ฝากอาวุธปืนแก่วันรบมาให้สมเดช โดยสมเดชไม่ทราบว่าเป็นปืนของอรสา ระหว่างที่ประชาเดินทางไปบ้านชุมพล สมเดชพบชุมพลโดยบังเอิญ จึงยิงชุมพลตายก่อนที่ประชาจะพบกับชุมพล
ดังนี้ ประชา และอรสา ต้องรับผิดทางอาญาฐานใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมเดชใช้อาวุธปืนยิงชุมพลตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของสมเดชจึงเป็นการกระทํา โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น สมเดชจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง (ในความผิด ฐานฆ่าชุมพลตายโดยเจตนา)
สําหรับประชาและอรสา จะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่สมเดชยิงชุมพลตายอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของประชา
แม้ประชาจะได้ร่วมวางแผนกับสมเดชเพื่อที่จะฆ่าชุมพล แต่ในขณะที่สมเดชใช้ปืนยิงชุมพลถึงแก่ความตายนั้น ประชาไม่ได้อยู่ร่วมด้วย จึงถือว่าประชาขาดเจตนาที่จะร่วมกันกระทําความผิด ดังนั้นประชา จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ประชาได้ร่วมกันวางแผนเพื่อฆ่าชุมพล โดยตกลงให้ประชาไปหลอกชุมพลออกมาจากบ้านเพื่อให้สมเดชยิงนั้น ถือเป็นการกระทําอันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการ ที่ผู้อื่นกระทําความผิด ดังนั้นประชาจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
กรณีของอรสา
การที่อรสาแอบได้ยินประชากับสมเดชวางแผนฆ่าชุมพล และทราบว่าสมเดชไม่มีอาวุธปืนจึงได้ฝากอาวุธปืนแก่วันรบเพื่อนํามาให้สมเดชนั้น แม้สมเดชจะไม่ทราบว่าเป็นปืนของอรสาก็ตาม การกระทําของอรสา ถือเป็นการกระทําอันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด ดังนั้นอรสาจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สรุป ประชาและอรสาจะต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86