การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1.       นายจันทร์ขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) ของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา 1 ล้านบาท  และนายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารพร้อมกับรับชำระราคา  นายอังคารอยู่ในที่แปลงนี้มาได้ 1 ปี นายจันทร์นำที่ดินแปลงนี้ไปออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อนายจันทร์  และนายจันทร์ได้จดทะเบียนโอนขายให้นายพุธในราคา 3 ล้านบาท  นายพุธซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต นายพุธจะเข้าไปอยู่ในที่แปลงนี้แต่ถูกนายอังคารขัดขวาง  นายพุธขอให้นายอังคารออกไป มิฉะนั้นจะฟ้องขับไล่ นายอังคารไม่ยอมออก ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้  และมาขอให้ท่านชี้ขาดตัดสินข้อพิพาท

ดังนี้  ตามข้อเท็จจริงนี้ ท่านจะตัดสินข้อพิพาทระหว่างนายอังคารกับนายพุธอย่างไร  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา 456 วรรค 1 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรื่อมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย 

มาตรา 1378  การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรค 1  แต่ที่ดิน นส.3 เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง นายจันทร์ส่งมอบให้นายอังคารถือว่านายจันทร์สละสิทธิครอบครอง และนายอังคารได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1378  นายจันทร์หาได้นำที่ดินของตนไปออกโฉนดที่ดินแต่นำที่ดินของนายอังคารไปออกโฉนดเป็นชื่อตน  

นายจันทร์ย่อมไม่มีสิทธิในที่แปลงนี้  แม้นายพุธจะซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต นายพุธก็มีสิทธิเพียงเท่าที่นายจันทร์มีอยู่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน นายพุธย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายอังคาร  นายพุธต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้

 

ข้อ 2.       จันทร์กับอังคารจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงหนึ่งของจันทร์ให้อังคารในราคา 100,000 บาท  ตอนที่ตกลงเจรจาซื้อขายก่อนที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้กัน อังคารบอกกับจันทร์ว่า ตนรับซื้อที่ดินแปลงนี้เป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยจันทร์เรื่องเงินทองที่จันทร์กำลังมีปัญหาอยู่เท่านั้น

เมื่อขายให้ตนแล้วถ้าจันทร์มีเงินตามราคาที่ขายให้ตนเมื่อใดตนก็ยินดีที่จะให้จันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้ แต่ตอนที่โอนจดทะเบียนไม่ได้จดทะเบียนข้อตกลงนี้ด้วย  ต่อมาเมื่อจันทร์ขายที่ดินแปลงนี้ไปให้อังคารได้ห้าปี จันทร์ได้นำเงิน 100,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากอังคาร  อังคารจะไม่ยอมให้นายจันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้กลับคืนไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

มาตรา 456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท  หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

วินิจฉัย

จันทร์กับอังคารจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงหนึ่งของจันทร์ให้อังคารในราคา 100,000 บาท ตอนที่   ตกลงเจรจาซื้อขายก่อนที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้กัน อังคารบอกกับจันทร์ว่า ตนยินดีรับซื้อที่ดินแปลงนี้ชั่วคราง เพื่อช่วยจันทร์เรื่องเงินทองที่จันทร์กำลังมีปัญหาอยู่เท่านั้น เมื่อขายให้ตนแล้วถ้าจันทร์มีเงินตามราคาที่ขายให้ตนเมื่อใด ตนก็ยินดีที่จะให้จันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้ แต่ตอนที่โอนจดทะเบียนไม่ได้จดทะเบียนข้อตกลงนี้ด้วย ต่อมาเมื่อจันทร์ขายที่ดินแปลงนี้ไปให้อังคารได้ห้าปี นายจันทร์ได้นำเงิน 100,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคาร นายอังคารจะไม่ยอมให้นายจันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้กลับคืนไปได้ เพราะสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้เป็นสัญญาซื้อขาย (สำเร็จบริบูรณ์) เสร็จเด็ดขาดที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 456 วรรค 1 และไม่ใช่สัญญาขายฝาก เพราะข้อตกลงซื้อคืนนั้นไม่ได้จดไว้ในทะเบียนด้วย การให้สัญญาด้วยวาขาว่าจะขายคืนให้นั้นไม่เป็นคำมั่นที่จะใช้บังคับได้ตามมาตรา 456 วรรค 2

 

ข้อ 3.       บริษัทแห่งหนึ่ง ต้องการนำรถยนต์ของบริษัทบางคันที่เก่าแล้วออกประมูลขายทอดตลาด  จึงได้จ้างบริษัทขายทอดตลาดที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง ให้เป็นผู้ดำเนินการประมูลขายทอดตลาด  โดยบริษัทก็ทราบว่ารถยนต์ของบริษัททุกคันที่นำมาประมูลขายทอดตลาดนั้นเป็นรถที่เก่าและชำรุด ดำประมูลซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดครั้งนั้นได้คันหนึ่ง

เมื่อนำรถยนต์คันนั้นออกใช้จึงรู้ว่ารถยนต์มีความชำรุดมากถ้าจะซ่อมต้องเสียค่าซ่อมมาก  จึงได้นำรถยนต์คันนั้นออกขายต่อให้แดง  ดังนี้ อยากทราบว่าดำจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นำออกขายรับผิดได้หรือไม่ และแดงจะเรียกร้องให้ดำให้รับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด อายุความเท่าใด

แนวคำตอบ 

มาตรา 472  ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

วินิจฉัย

บริษัทแห่งหนึ่ง ต้องการนำรถยนต์ของบริษัทบางคันที่เก่าแล้วออกประมูลขายทอดตลาด จึงได้จ้างบริษัทขายทอดตลาดโดยได้รับใบอนุญาตถูกต้องให้เป็นผู้ดำเนินการประมูลขายทอดตลาด โดยบริษัทก็ทราบว่ารถยนต์ของบริษัททุกคันนั้นที่นำมาประมูลขายทอดตลาดนั้นเป็นรถที่เก่าและชำรุด ดำประมูลซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดครั้งนั้นได้คันหนึ่ง ดำจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นำออกขายรับผิดไม่ได้ ตามมาตรา 473(3) แม้ทรัพย์ที่ซื้อจะชำรุดบกพร่องก็ตาม แต่เมื่อดำนำรถยนต์คันนั้นออกขายต่อให้แดง ถ้าแดงไม่ทราบว่ารถยนต์คันนั้นชำรุดบกพร่อง และแดงได้ใช้ความระมัดระวังในการรับมอบทรัพย์สินในระดับวิญญูชน และเป็นความชำรุดบกพร่องที่ไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบและผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่ได้อิดเอื้อน และสัญญาซื้อขายระหว่างแดงและดำไม่ใช้เป็นการขายทอดตลาด แดงจะเรียกร้องให้ดำให้รับผิดได้ตามมาตรา 472 และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 แดงจึงฟ้องให้ดำรับผิดเพื่อการชำรุดบกพร่องได้

Advertisement