การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายจันทร์ขายรถยนต์คันหนึ่งให้นายอังคารในราคา 300,000 บาท แล้วคิดเสียดายที่ขายในราคาต่ำเกินไป นายจันทร์ไปขอร้องให้นายอังคารขายคืนให้ นายอังคารบอกว่าถ้าจำเป็นต้องขายจะขายในราคา 350,000 บาท นายจันทร์ให้นายอังคารจดข้อความดังกล่าวไว้และลงลายมือชื่อ
ส่วนนายจันทร์ก็จดข้อความว่าตกลงซื้อและลงลายมือชื่อนายจันทร์ แต่เมื่อนายจันทร์จะชำระราคา นายอังคารกลับไม่ยอมขายให้ นายจันทร์ว่าจะไปดำเนินการฟ้องร้องนายอังคาร นายอังคารกลับถึงบ้านกลัวว่านายจันทร์จะฟ้องตน นายอังคารจึงมีจดหมายไปถึงนายจันทร์ตอบตกลงขายให้ในราคา 350,000 บาท นายจันทร์เขียนจดหมายตอบตกลงซื้อพร้อมกับแนบเช็คจำนวน 350,000 บาท ส่งไปให้นายอังคาร
ก่อนที่จดหมายมาถึงนายอังคาร คืนนั้นเกิดเพลิงไหม้บ้านข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้บ้านนายอังคาร เป็นเหตุให้รถยนต์คันนี้ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งคัน ต่อมาจดหมายพร้อมกับเช็คมาถึงนายอังคาร นายอังคารนำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารได้เงินมา 350,000 บาท
นายจันทร์ทราบข่าวก็มาขอเงินคืน นายอังคารไม่ยอมคืนให้อ้างว่าเมื่อทำสัญญาแล้วรถยนต์คันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายจันทร์ และภัยพิบัติอันเกิดกับรถยนต์ก็โทษนายอังคารไม่ได้ บาปเคราะห์ย่อมตกเป็นพับแก่นายจันทร์ ตนจึงหมดหน้าที่ส่งมอบ แต่นายจันทร์ยังต้องชำระราคา ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้
ดังนี้ นายจันทร์กับนายอังคารมาขอให้นักศึกษาเป็นผู้ชี้ขาดตัดสินพิพาทนี้ นักศึกษาจะตัดสินให้นายอังคารคืนเงิน 350,000 บาท ให้แก่นายจันทร์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
วินิจฉัย
ตามมาตรา 453 ซื้อขายคือสัญญาที่คำเสนอคำสนองจะต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนว่าจะซื้อขายกันจริง แต่การแสดงเจตนาของนายอังคารที่บอกว่าถ้าจำเป็นต้องขายจะขายในราคา 350,000 บาทนั้น ยังไม่มีข้อความชัดเจนว่าจะขายจริง จึงยังไม่เป็นคำเสนอ แม้นายจันทร์ตกลงจะซื้อจริงก็ไม่ใช่เป็นคำสนองแต่เป็นคำเสนอขึ้นใหม่ เมื่อนายอังคารบอกปัดไม่ยอมขาย คำเสนอซื้อรถยนต์ของนายจันทร์ย่อมสิ้นความผูกพัน ต่อมานายอังคารมีจดหมายไปถึงนายจันทร์อีกครั้งตกลงขายรถยนต์ให้ในราคา 350,000 บาท จึงเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ นายจันทร์ตอบตกลงซื้อพร้อมแนบเช็คจำนวน 350,000 บาท แต่ก่อนที่จดหมายไปถึงนายอังคาร รถยนต์ถูกไฟไหม้เสียหายก่อนจดหมายมาถึง เมื่อจดหมายมาถึงแม้จะเกิดสัญญาแต่รถยนต์ที่ตกลงซื้อขายไม่มีอยู่ เมื่อรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายไม่อยู่ วัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายจึงเป็นพ้นวิสัยตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม นายอังคารต้องคืนเงิน 350,000 บาท ที่รับไว้ให้นายจันทร์ฐานลาภมิควรได้
สรุป นายอังคารต้องคืนเงิน 350,000 บาท แก่นายจันทร์ตามหลักกฎหมายและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
ข้อ 2 นายสำลีกำลังจะย้ายบ้าน จึงได้นำสิ่งของบางอย่างในบ้านออกขายเลหลังที่สนามหน้าบ้าน มีทั้งที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ ทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ ฯลฯ นาสีได้ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจากการขายครั้งนั้นของนายสำลี ในราคา 3,000 บาท ทั้งนายสาลีและนายสีไม่ทราบว่ามือถือเครื่องนั้นเป็นของนายเสาร์ที่ถูกขโมยมา
นายสีได้นำมาให้ร้านซ่อมมือถือเช็คเครื่องดูพบว่าเครื่องใช้ได้แต่มีรอยตำหนิอยู่ที่กระจกหน้าตัวเครื่อง ใช้น้ำยาทำความสะอาดแล้วก็ยังไม่ออก นายสีเสียค่าเปลี่ยนกระจกหน้าจอมือถือและค่าแรงไป 800 บาท แต่ร้านซ่อมจำได้ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นเป็นของที่ร้านขายให้นายเสาร์
และนายเสาร์ทำหาย จึงแจ้งให้นายเสาร์ทราบ นายเสาร์ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจมาเรียกคืนจากนายสี นายสีจึงคืนให้นายเสาร์ไป
เมื่อคืนโทรศัพท์มือถือให้นายเสาร์ไปได้ 4 เดือน ถ้านายสีจะมาฟ้องร้องให้นายสาลีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นและค่าซ่อมเปลี่ยนจอมือถือ 800 บาท จากนายสาลี นายสาลีจะต้องรับผิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น
มาตรา 481 ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นที่หนึ่ง
นายสาลีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรอนสิทธิหรือไม่ ตามปัญหา นายสีได้ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจากการขายเลหลังของนายสาลีในราคา 3,000 บาท ทั้งนายสาลีและนายสีไม่ทราบว่ามือถือเครื่องนั้นเป็นของนายเสาร์ที่ถูกขโมยมา นายสาลีได้นำมาให้ร้านซ่อมมือถือเช็คเครื่องดู
แต่ร้านซ่อมจำได้ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นเป็นของที่ร้านขายให้นายเสาร์ และนายเสาร์ทำหาย จึงแจ้งให้นายเสาร์ทราบ นายเสาร์ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจมาเรียกคืนจากนายสี นายสีจึงคืนให้นายเสาร์ไป จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อ (นายสี) ถูกรบกวนขัดสิทธิโดยบุคคลภายนอก (นายเสาร์) ไม่ให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองทรัพย์สิน (โทรศัพท์มือถือ) โดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามหลักทั่วไปแล้วผู้ขาย (นายสาลี) ต้องรับผิดแม้จะไม่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม ตามมาตรา 475 แต่การที่นายสีได้คืนโทรศัพท์มือถือให้นายเสาร์ไปได้ 4 เดือน แล้วจึงจะมาฟ้องร้องให้นายสาลีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการรอนสิทธินั้น เป็นกรณีที่นายสีผู้ซื้อยอมตามที่บุคคลภายนอก (นายเสาร์) เรียกร้อง ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้อง ตามมาตรา 481 ดังนั้น นายสาลีจึงมีสิทธิอ้างอายุความดังกล่าวยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดได้
ประเด็นที่สอง
นายสาลีจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องหรือไม่ ตามปัญหา เมื่อนายสีซื้อโทรศัพท์มือถือจากการขายเลหลังของนายสาลีแล้วได้นำมาให้ร้านซ่อมมือถือเช็คเครื่องดูพบว่า เครื่องใช้ได้แต่มีรอยตำหนิอยู่ที่กระจกหน้าตัวเครื่อง ใช้น้ำยาทำความสะอาดแล้วก็ยังไม่ออก นายสีเสียค่าเปลี่ยนกระจกหน้าจอมือถือและค่าแรงไป 800 บาท ดังนี้ นายสาลีไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472 เพราะนายสีซื้อโทรศัพท์มือถือที่เป็นของเก่าจึงไม่เสื่อมราคา และไม่เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ประโยชน์มุ่งหมายโดยสัญญา เพราะโทรศัพท์มือถือที่นายสีซื้อจากนายสาลีนั้นยังสามารถใช้ได้ เพียงแต่มีตำหนิที่กระจกหน้าตัวเครื่องเท่านั้น ไม่ทำให้โทรศัพท์ชำรุดบกพร่อง
สรุป นายสาลีไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้น และค่าซ่อมเปลี่ยนจอมือถือ 800 บาท
ข้อ 3 นายไก่นำบ้านและที่ดินไปขายฝากไว้กับนายไข่ในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 10 ปี ในราคา 2,150,000 บาทถ้วน โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากทำสัญญาได้ครบ 1 ปี นายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิในการไถ่ พร้อมนำเงิน 1,150,000 บาท แต่นายไข่ปฏิเสธว่ายังไม่ครบกำหนด 10 ปี และสินไถ่ไม่ครบ
1) นายไก่จะใช้สิทธิไถ่เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 1 ปี ได้หรือไม่
2) ข้ออ้างของนายไข่ที่จะปฏิเสธไม่รับไถ่รับฟังได้หรือไม่ว่า สินไถ่ไม่ครบ และยังไม่ถึงกำหนดเวลาไถ่
ธงคำตอบ
มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
มาตรา 499 วรรคสอง ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี
วินิจฉัย
1) นายไก่ขายฝากบ้านและที่ดินแก่นายไข่ในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 10 ปี ในราคา 2,150,000 บาท โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกำหมาย เมื่อเวลา ผ่านไป 1 ปี นายไก่ได้ใช้สิทธิไถ่บ้านและที่ดินดังกล่าว นายไข่จะปฏิเสธว่ายังไม่ครบกำหนด 10 ปี จึงไม่ให้ไถ่ย่อมทำไม่ได้ เพราะนายไก่จะใช้สิทธิไถ่เมื่อไรก็ได้นับแต่ทำสัญญาขายฝาก หากกำหนดระยะเวลาในการขายฝากยังไม่สิ้นสุด (บ้านและที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงมีกำหนดเวลาไถ่คืน 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย) และสินไถ่พร้อมตามมาตรา 491 และมาตรา 194(1)
2) ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้ในกรณีสินไถ่ไม่ครบ เพราะตามสัญญาได้กำหนดไถ่คืน 10 ปี กฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้าหากราคาขายฝากและสินไถ่แตกต่างกันก็ให้ผู้รับซื้อฝากคิดประโยชน์ได้ไม่เกิน 15% ตามมาตรา 499 วรรคสอง ในกรณีตามโจทย์คู่สัญญากำหนดสินไถ่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ให้สิทธิไว้คือประโยชน์ 15% ภายใน 10 ปีก็เป็นเงิน 1,150,000 บาท ซึ่งรวมราคาขายสินไถ่ที่ถูกต้องจะต้องเป็น 2,150,000 บาท แต่จะอ้างว่าการไถ่ต้องครบกำหนดเวลา 10 ปี รับฟังไม่ได้ เพราะนายไก่จะขอใช้สิทธิไถ่เมื่อใดก็ได้
สรุป
1) นายไก่ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนได้แม้เวลาผ่านไปเพียง 1 ปี
2) ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้ในกรณีสินไถ่ไม่ครบ ส่วนข้ออ้างที่ว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาไถ่ฟังไม่ขึ้น