การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

 
คำแนะนำ
 ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายไก่ตกลงขายบ้านเรือนไทยซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบโบราณ และสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังให้แก่นายไข่ในราคา 5 ล้านบาท โดยตกลงกันว่าจ่ายก่อน 3 ล้านบาท อีก 2 ล้านบาท จะจ่ายให้ในวันที่นายไข่มารื้อเรือนไป เมื่อถึงกำหนดวันรื้อเรือน นายไก่ไม่ยอมให้รื้อเพราะมีคนมาเสนอซื้อในราคา 10 ล้านบาท

1) สัญญาซื้อขายระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน และมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
2) นายไข่จะฟ้องให้นายไก่ปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

Advertisement

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย


มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นใน การซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับ ผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่น บาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ พิจารณาได้ดังนี้

1) สัญญาซื้อขายบ้านเรือนไทยระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ด ขาดเพราะการซื้อขายโดยการรื้อถอนออกไปนั้น ถือเป็นการซื้อขายอย่างสังหาริมทรัพย์ และสัญญาซื้อขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดานั้นไม่ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด (มาตรา 453)

2) นายไข่จะฟ้องให้นายไก่ปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อการซื้อขายบ้านดังกล่าวเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดาซึ่งมีราคา ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป และมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี คือ การชำระหนี้บางส่วน ซึ่งก็คือเงิน 3 ล้าน ที่นายไข่ได้ชำระให้แก่นายไก่ในวันทำสัญญา ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดวันรื้อเรือน นายไก่ไม่ยอมให้รื้อ นายไข่ก็สามารถฟ้องให้นายไก่ปฏิบัติตามสัญญาได้ (มาตรา456 วรรคสองและวรรคสาม)

สรุป
1) สัญญาซื้อขายระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
2) นายไข่ฟ้องให้นายไก่ปฏิบัติตามสัญญาได้

 

ข้อ 2 นายมดซื้อรถยนต์ 1 คัน มาจากการขายทอดตลาดของนายปลวก หลังจากส่งมอบรถยนต์ได้เพียง 1 อาทิตย์ นางมอดก็พาตำรวจมาติดตามเอารถยนต์ของตนคืนโดยอ้างว่ารถยนต์ถูกขโมยมา นายมดตรวจสอบหลักฐานต่างๆแล้วจึงยอมคืนรถยนต์ให้แก่นางมอดไป

1) นายมดจะฟ้องให้นายปลวกรับผิดชอบว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่
2) ถ้าฟ้องได้จะต้องฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดย ปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อ ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

มาตรา 481 ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับ แต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

วินิจฉัย

การ รอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกัน อยู่ในเวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินโดย ปกติสุขได้ ซึ่งตามมาตรา 475 กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการรอนสิทธินั้น แต่ถ้าหากผู้ซื้อได้ยอมตามที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือกว่านั้นเรียกร้อง แล้ว ผู้ซื้อจะต้องฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธินั้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ยอมความดังกล่าว มิฉะนั้นจะไม่สามารถฟ้องคดีได้ตามมาตรา 481

กรณีตามอุทาหรณ์ พิจารณาได้ดังนี้

1) นายมดจะฟ้องให้นายปลวกรับผิดชอบว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่นางมอดพาตำรวจมาติดตามเอารถยนต์ของตนคืนจากนายมดนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ใน เวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิทำให้ผู้ซื้อคือ นายมดไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข จึงเป็นการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ซึ่งผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อ ดังนั้น นายมดจึงฟ้องให้นายปลวกรับผิดชอบว่าตนถูกรอนสิทธิได้

2) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายมดได้ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นางมอดไป จึงถือเป็นกรณีที่ผู้ซื้อซึ่งถูกรอนสิทธิได้ยอมตามที่บุคคลภายนอกซึ่งมี สิทธิเหนือกว่านั้นเรียกร้องแล้ว ดังนั้น นายมดจึงต้องฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธินั้นภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ยอมดังกล่าวตามมาตรา 481

สรุป
1) นายมดฟ้องให้นายปลวกรับผิดชอบว่าตนถูกรอนสิทธิได้
2) นายมดจะต้องฟ้องภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน

 

ข้อ 3 นายอาทิตย์นำบ้านและที่ดินของตนไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนาง จันทร์ในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี และกำหนดสินไถ่ไว้ 2 ล้านบาท ก่อนครบ ปี นายอาทิตย์ไปขอไถ่ทรัพย์คืนพร้อมเงิน 1,150,000 บาท นางจันทร์ปฏิเสธโดยอ้างว่ายังไม่ครบ 1 ปี และสินไถ่ไม่ครบ คำปฏิเสธของนางจันทร์รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 499 สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้า ปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้ จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์นำบ้านและที่ดินของตนไปขายฝากไว้กับนางจันทร์ในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปีนั้น เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ว่า นายอาทิตย์ได้ไปขอไถ่ทรัพย์คืนพร้อมเงิน 1,150,000 บาท ดังนี้ นางจันทร์จะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเหตุว่านายอาทิตย์ได้ขอใช้สิทธิในการไถ่ก่อนครอบ 1 ปี และภายในระยะเวลาที่กำหมายกำหนด (มาตรา 494(1)) และในส่วนเงินสินไถ่นั้นตามมาตรา499 วรรคสอง ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่ แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวม ประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดสินไถ่ไว้ 2 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี การที่นายอาทิตย์นำเงิน 1,150,000 บาท มาเป็นสินไถ่จึงเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้องแล้ว กล่าวคือ ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี เท่ากับ 1,150,000 บาท (มาตรา 499 วรรคสอง) ดังนั้นคำปฏิเสธของนางจันทร์ที่ว่ายังไม่ครบ 1 ปี และสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้

สรุป คำปฏิเสธของนางจันทร์รับฟังไม่ได้

Advertisement