การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

Advertisement

 ข้อ 1 นายไก่ตกลงขายบ้านและที่ดินให้แก่นายไข่ในราคา 1 ล้านบาท แต่นายไข่ไม่มีเงินก้อนจึงตกลงให้นายไข่ผ่อนได้เดือนละ 1 แสนบาท เมื่อจ่ายครบนายไก่จึงจะไปโอนทางทะเบียนให้ ต่อมาเมื่อนายไข่ผ่อนชำระจนครบ 1 ล้านบาท นายไก่ไม่ยอมไปโอนทางทะเบียน และไม่ยอมส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายไข่

(1) สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน
(2) นายไข่จะฟ้องนายไก่ให้โอนบ้านและที่ดิน และส่งมอบบ้านและที่ดินให้ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นใน การซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับ ผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่วินิจฉัยจาก บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 456 วรรคแรกแต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ตามมาตรา 456 วรรคสองนั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือวางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วนจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

หลักเกณฑ์การ พิจารณา ต้องดูว่าคู่กรณีมีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่กันในภายหลังหรือไม่ ถ้าไม่มีเจตนาดังกล่าวก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้ แต่ถ้าคู่กรณีมีเจตนาจะไปทำหนังสือและจดทะเบียนกันในภายหลังก็เป็นสัญญาจะ ซื้อจะขาย ผู้ซื้อสามารถฟ้องบังคับให้ผู้ขายไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนได้(1) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายไข่ในราคา 1 ล้านบาท แต่นายไข่ไม่มีเงินก้อนจึงตกลงให้นายไข่ผ่อนได้เดือนละ 1 แสนบาท เมื่อจ่ายครบจึงจะไปโอนทางทะเบียนให้ กรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่เป็น สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะให้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินโอนไปในขณะทำ สัญญาซื้อขาย แต่มีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กันในภายหลัง

(2) ประเด็นที่ว่านายไข่จะฟ้องบังคับให้นายไก่ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีดังกล่าวนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีการชำระหนี้บาง ส่วนแล้ว แม้นายไข่จะผ่อนชำระราคาบ้านและที่ดินครบ 1 ล้านบาท ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนด้วย (ฎ. 4796/2537) จึงใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ แม้สัญญาจะซื้อจะขายจะมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายไก่ซึ่งเป็น ฝ่ายจะต้องรับผิดเป็นสำคัญก็ตาม ดังนั้นเมื่อนายไก่ผิดสัญญาไม่ยอมไปโอนทางทะเบียนและไม่ยอมส่งมอบที่ดินแปลง นั้นให้นายไข่ นายไข่จึงฟ้องร้องให้นายไก่ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้ ตามมาตรา 456 วรรคสอง

สรุป สัญญาซื้อขายระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และนายไข่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายไก่ไปจดทะเบียนโอนขายบ้านและที่ดินแปลง นี้พร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ตนได้ ตามมาตรา456 วรรคสอง

ข้อ 2 นายดินตกลงขายรถยนต์ซึ่งตนขโมยมาให้แก่นายน้ำในราคา 5 แสนบาท โดยนายน้ำไม่ทราบว่าเป็นรถยนต์ที่นายดินขโมยมาแต่งและปลอมแปลงขาย ในสัญญาซื้อขายได้ตกลงกันไว้ว่าถ้าเกิดการรอนสิทธิอย่างใดๆขึ้นนายดินผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด หลังจากซื้อและส่งมอบรถไปได้เพียง 1 เดือน เจ้าของที่แท้จริงก็มาติดตามเอารถยนต์คืนไป นายน้ำจะฟ้องให้นายดินผู้ขายรับผิดในเหตุรอนสิทธิที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใดธงคำตอบหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดย ปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อ ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นมาตรา 483 คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้มาตรา 485 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

การ รอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกัน อยู่ในเวลาซื้อขาย มาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินโดยปกติสุขได้ ตามมาตรา 475 กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการณ์รอนสิทธินั้น แต่ทั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายอาจทำความตกลงกันว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพราะการ รอนสิทธิก็ได้ ตามมาตรา 483

อย่างไรก็ตามข้อสัญญาว่าจะไม่ต้อง รับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มครองผู้ขายได้ หากการรอนสิทธินั้นเกิดขึ้นเพราะการกระทำของผู้ขายเอง หรือผู้ขายรู้ความจริงแหง่การรอนสิทธิแล้วปกปิดเสีย ตามมาตรา 485

กรณี ตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายน้ำจะฟ้องนายดินให้รับผิดในเหตุรอนสิทธิที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อเจ้าของที่แท้จริงมาติดตามเอารถยนต์คืนไปจากนายน้ำผู้ซื้อ จึงเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลา ซื้อขาย แล้วมาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินโดยปกติสุขได้ จึงต้องถือว่านายน้ำผู้ซื้อถูกรอนสิทธิ ตามมาตรา 475 ซึ่งโดยปกติแล้วนายดินผู้ขายไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 475 เนื่องจากนายดินและนายน้ำได้ทำข้อสัญญาว่าไม่ต้องรับผิดในเหตุรอนสิทธิใน สัญญาซื้อขายตามมาตรา 483

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายดินผู้ขายทราบว่ารถยนต์ที่ขายนั้นเป็นรถยนต์ ที่ตนได้ขโมยมาขายให้นายน้ำ แล้วปกปิดมิแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ แล้วยังมาทำข้อตกลงยกเว้นว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิอีก ถือว่านายดินผู้ขายไม่สุจริต จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ตามมาตรา 485 ทั้งนี้เพราะข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มครองความรับผิดของผู้ขายในผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่ แล้ว และปกปิดเสียนั่นเอง

สรุป นายน้ำฟ้องนายดินผู้ขายให้รับผิดในเหตุรอนสิทธิได้



ข้อ 3 นายลมนำช้างของตนไปขายฝากไว้กับนายไฟในราคา 1 แสนบาท โดยทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างกันเองขึ้นไว้ 2 ฉบับ และเก็บไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี กำหนดราคาไถ่คืน 2 แสนบาท เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน นายลมมาขอไถ่ช้างคืนพร้อมเงิน 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาทถ้วน นายไฟปฏิเสธโดยอ้างว่าสินไถ่ไม่ครบ และยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลาไถ่คืน

สัญญาขายฝากระหว่างนายลมและนายไฟมีผลในทางกฎหมายอย่างไร และคำปฏิเสธของนายไฟตามกฎหมายรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 499 วรรคสอง ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่ แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

สัญญา ขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า สัญญาขายฝากระหว่างนายลมและนายไฟมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เห็นว่า นายลมนำช้างของตนไปขายฝากไว้กับนายไฟในราคา 1 แสนบาท โดยทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างกันเองขึ้นไว้ 2 ฉบับ และเก็บไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาได้จดทะเบียนการขายฝากต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากช้างอันเป็นสัตว์พาหนะซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ย่อมมีผลเป็นโมฆะ ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก
ประเด็นที่ ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า คำปฏิเสธของนายไฟที่ว่าสินไถ่ไม่ครบ รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า โดยหลักแล้ว ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่ แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งนี้ตามมาตรา 499 วรรคสอง เมื่อกรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่สัญญากำหนดสินไถ่สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 499 วรรคสอง นายลมจึงมีสิทธิไถ่ช้างคืนในราคา 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาทได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาขายฝากย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ประเด็นนี้จึงไม่ต้องพิจารณาคำปฏิเสธของนายไฟในกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

ประเด็น ที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า คำปฏิเสธของนายไฟที่ว่ายังไม่ถึงกำหนดระยะเวลาไถ่คืนรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า ถ้าสัญญาขายฝากเกิดขึ้น การไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืน ย่อมเป็นสิทธิของผู้ขายฝาก ซึ่งจะใช้สิทธิของตนเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่คืนตามสัญญาขายฝาก หรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (มาตรา 494(2)) หรือจะไม่ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืนเลยก็ย่อมทำได้ ผู้ซื้อฝากไม่อาจบังคับให้ผู้ขายฝากต้องไถ่ทรัพย์สินคืนได้แต่อย่างใด แต่กรณีนี้เมื่อสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาขายฝากย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ประเด็นนี้จึงไม่ต้องพิจารณา คำปฏิเสธของนายไฟในกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน

ดังนี้เมื่อ สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ผลของการเป็นโมฆะของสัญญา ย่อทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม เสมือนว่ามิได้ทำนิติกรรมสัญญาใดๆต่อกัน ดังนั้นนายไฟจึงต้องส่งมอบช้างคืนให้แก่นายลมผู้ขายฝาก ส่วนนายลมก็ต้องคืนเงินค่าขายฝากช้าง 1 แสนบาท ให้แก่นายไฟ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้
สรุป สัญญาขายฝากระหว่างนายลมและนายไฟเป็นโมฆะ และคำปฏิเสธของนายไฟรับฟังไม่ได้

Advertisement