การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายดำไปเที่ยวทะเลเห็นที่ดินริมทะเลของนายแดงประกาศขาย นายดำจึงได้ติดต่อนายแดงเจรจาขอซื้อ นายแดงตกลงขายให้ในราคาสามล้านบาท เมื่อตกลงแล้วนายดำได้ชำระราคาล่วงหน้าให้นายแดงไว้ก่อนหนึ่งแสนบาท
นายแดงก็ได้เขียนใบรับเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงนั้นให้นายดำไว้ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายทั้งคู่นัดกันอีกสองอาทิตย์ จะทำในวันที่ไปดำเนินการทางโอนจดทะเบียน เนื่องจากนายดำจะต้องรีบกลับกรุงเทพฯ ในเย็นวันนั้น
ต่อมาเมื่อถึงวันนัดทำสัญญาและโอนทะเบียนนายดำไปหานายแดงที่บ้านเพื่อจะรับนายแดงไปที่สำนักงานที่ดินด้วยกันจะดำเนินการจดทะเบียนโอนให้เรียบร้อย แต่นายแดงกลับไม่ยอมโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายดำ ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาขายที่ดินแปลงนี้กับนายดำแต่อย่างใด
นายดำจะฟ้องร้องบังคับให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และสัญญาซื้อขายระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
วินิจฉัย
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 456 วรรคแรก
แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 456 วรรคสองนั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือวางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
หลักเกณฑ์การพิจารณา ต้องดูว่าคู่กรณีมีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลังหรือไม่ ถ้าไม่มีเจตนาดังกล่าวก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้ แต่ถ้าคู่กรณีมีเจตนาจะไปทำหนังสือและจดทะเบียนกันในภายหลังก็เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้ซื้อสามารถฟ้องบังคับให้ผู้จะขายไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนได้
กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงตกลงขายที่ดินริมทะเลให้ในราคาสามล้านบาท เมื่อตกลงแล้วนายดำได้ชำระราคาล่วงหน้าให้นายแดงไว้ก่อนหนึ่งแสนบาท นายแดงก็ได้เขียนใบรับเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงนั้นให้นายดำไว้ ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายทั้งคู่นัดกันอีกสองอาทิตย์ จะทำในวันที่ไปดำเนินการทางโอนจดทะเบียน เนื่องจากนายดำจะต้องรีบกลับกรุงเทพฯ ในเย็นวันนั้น ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปในขณะทำสัญญาซื้อขายแต่มีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลัง
ส่วนประเด็นที่ว่าจะฟ้องบังคับให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีดังกล่าวนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว ทั้งมีใบรับเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงนั้นเป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือ จึงใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ดังนั้นเมื่อนายแดงผิดสัญญาไม่ยอมไปโอนที่ดินแปลงนั้นให้นายดำ และปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาขายที่ดินนี้กับนายดำแต่อย่างใด นายดำจึงฟ้องร้องให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้ ตามมาตรา 456 วรรคสอง
สรุป นายดำจะฟ้องร้องบังคับให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้ ตามมาตรา 456 วรรคสอง สัญญาซื้อขายระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย
ข้อ 2 นายพันซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องไฟฟ้าแห่งหนึ่ง เมื่อปีใหม่ร้านของนายพันจัดเทศกาลลดราคาประจำปี นายพูนได้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องหนึ่งจากร้านของนายพันในเทศกาลปีใหม่นั้น จากราคาป้ายของใหม่หนึ่งหมื่นบาทในเทศกาลนี้ร้านจะลดให้เหลือเพียงแปดพันบาท
เมื่อคนงานของนายพันนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องนั้นมาส่งที่บ้าน นายพูนพบว่ามีรอยขีดข่วนอยู่ภายนอกและยังพบรอยบุบสองแห่งสภาพก็ดูเก่าเก็บเหมือนเอาเครื่องที่มีตำหนิมาขาย แต่ระบบของเครื่องก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ นายพูนจึงไม่ยอมรับนั้นและต้องการให้นายพันนำเครื่องใหม่มาให้ตน
แต่นายพันปฏิเสธนายพูนจะเรียกให้นายพันรับผิดและส่งมอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
มาตรา 473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด
วินิจฉัย
ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขาย ตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุขึ้น ดังนี้
1 เสื่อมราคา
2 เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ
3 เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายโดยสัญญา
ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นต้องมีอยู่ก่อนหรือขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขายโดยผู้ซื้อไม่รู้ (ฎ. 459/2514) เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขาย ตามมาตรา 473
กรณีตามอุทาหรณ์ ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวนายพูนผู้ซื้อพบเห็นเมื่อคนงานของนายพันนำเครื่องใช้ไฟฟ้ามาส่งที่บ้าน ซึ่งมีรอยบุบสองแห่ง สภาพดูเก่าเหมือนเอาเครื่องที่มีตำหนิมาขาย แม้ระบบของเครื่องจะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติก็ตาม นายพันผู้ขายก็ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว ตามมาตรา 472 วรรคแรก เพราะความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขายโดยผู้ซื้อไม่รู้ว่ามีความชำรุดบกพร่องดังกล่าวในเวลาซื้อขาย หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือที่มุ่งหมายโดยสัญญา แม้ผู้ขายจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตามมาตรา 472 วรรคท้าย ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขายตามมาตรา 473 แต่อย่างใด
สรุป นายพูนสามารถเรียกให้นายพันรับผิด และส่งมอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องใหม่ได้ ตามมาตรา 472
ข้อ 3 นายไก่นำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายไข่ในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีกสิบห้าเปอร์เซ็นต่อปี หลังจากขายฝากไปได้ 6 เดือน นายไก่ได้โทรศัพท์มาขอขยายระยะเวลาในการไถ่ถอนออกไปเป็น 2 ปี
นายไข่ไม่ตอบตกลงในทันทีแต่ขอเวลาไตร่ตรองสักระยะหนึ่งก่อน ต่อมาอีกหนึ่งอาทิตย์นายไก่ก็ได้รับจดหมายจากนายไข่ตอบตกลงให้ขยายระยะเวลาในการไถ่เป็น 2 ปี ตามคำขอ เมื่อใกล้จะครบกำหนด 2 ปี นายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิในการไถ่ พร้อมนำเงิน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาท นายไข่ปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่โดยอ้างว่า (1) กำหนดระยะเวลาตามสัญญาคือ 1 ปี ได้สิ้นสุดลงแล้ว และ (2) ถ้าว่ามีการซื้อขายเป็น 2 ปีจริง สินไถ่ก็ไม่ครบ
(1) ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้หรือไม่ และ
(2) นายไก่จะฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่คืนเพราะมีการตกลงขยายระยะเวลาแล้วได้หรือไม่ และนายไก่จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ไถ่บ้านและที่ดินของตนคืน
ธงคำตอบ
มาตรา 492 ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์สินที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
มาตรา 496 กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นเวลาตามมาตรา 494
การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 497 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ
(1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ
มาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้ คือ
(1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ
มาตรา 499 สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี
วินิจฉัย
การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก คู่สัญญาอาจตกลงกันก่อนถึงกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ แต่ทั้งนี้กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสิบปี ถ้าเกินกำหนดสิบปี ให้ใช้บังคับได้เพียงสิบปีเท่านั้น ตามมาตรา 494 (1) และมาตรา 496 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่ากำหนดระยะเวลาไถ่ตามสัญญาคือ 1 ปีได้สิ้นสุดแล้ว รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า หลังจากนายไก่จดทะเบียนขายฝากไปได้ 6 เดือน นายไก่ได้โทรศัพท์มาขอขยายระยะเวลาในการไถ่ออกเป็น 2 ปี และนายไข่ก็ตอบจดหมายตกลงให้ขยายระยะเวลาไถ่ได้ ดังนี้จะเห็นว่านายไก่และนายไข่คู่สัญญาได้ตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ก่อนกำหนดเวลาไถ่เดิมโดยขยายเวลาไถ่ไปอีก 1 ปี รวมเป็น 2 ปี ซึ่งไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 494 (1) ทั้งนี้มีจดหมายของนายไข่เป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือชื่อนายไข่ผู้รับไถ่ การขยายกำหนดเวลาไถ่เป็น 2 ปี จึงใช้บังคับตามกฎหมายได้ ตามมาตรา 496 ข้ออ้างของนายไข่ในประเด็นนี้จึงรับฟังไม่ได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่าถ้ามีการขยายเวลาไถ่เป็น 2 ปีจริง สนไถ่ก็ไม่ครบ รับฟังได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงมีว่า นายไก่จดทะเบียนขายฝากบ้านและที่ดินในราคา 1 ล้านบาทมีกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีกร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 499 วรรคสอง ดังนั้นหากนายไก่ต้องการไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากภายใน 1 ปี นายไก่จะต้องนำเงินสินไถ่มาไถ่ทรัพย์คืน 1,150,000 บาท อย่างไรก็ดีเมื่อมีการขยายระยะเวลาในการไถ่เป็น 2 ปี และการขยายเวลาไถ่ดังกล่าวใช้บังคับตามกฎหมายได้ หากนายไก่ต้องการไถ่ทรัพย์คืนต้องนำประโยชน์ตอบแทนอีกร้อยละ 15 ต่อปี มาไถ่คืน ดังนั้นนายไก่ต้องนำสินไถ่รวมทั้งสิ้น 1,300,000 บาท มาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืน หากไม่ครบ นายไข่มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่ทรัพย์คืนได้ ข้ออ้างในประเด็นดังกล่าวจึงรับฟังได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า นายไก่จะฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่คืนเพราะมีการตกลงขยายเวลาไถ่แล้วได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ขายฝากได้ใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว ผู้ซื้อฝากต้องรับการไถ่ ถ้าผู้ซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่ถอน หรือไม่ยอมรับสินไถ่ ผู้ขายฝากมีสิทธิฟ้องร้องให้ผู้ซื้อฝากจดทะเบียนไถ่การขายฝากโอนที่ดินคืนให้ผู้ขายฝากได้ และถือว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว แต่กรณีตามอุทาหรณ์ นายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิในการไถ่พร้อมนำเงิน 1,150,000 [ท มาขอไถ่ ดังนี้แม้นายไก่ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 497 (1) จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์คืนต่อนายไข่ผู้รับไถ่ตามมาตรา 498 (1) ภายในกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายเป็น 2 ปีก็ตาม แต่สินไถ่ที่นำมาไถ่คืนนั้นไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ คือ 1,300,000 บาท ถือว่ายังไม่เป็นการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์โดยชอบ จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่ทรัพย์คืนได้ (ฏ. 407/2540)
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า นายไก่จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ไถ่บ้านและที่ดินของตนคืน เห็นว่า นายไก่จะต้องนำสินไถ่ 1,300,000 บาท ไปแสดงเจตนาขอไถ่ทรัพย์คืนต่อนายไข่ผู้รับไถ่ ตามมาตรา 498 (1) ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่เวลาขายฝาก จึงจะเป็นการใช้สิทธิไถ่โดยชอบ อย่างไรก็ตามหากนายไข่ผู้รับไถ่ไม่ยอมให้ไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับสินไถ่ นายไก่ผู้ไถ่ก็มีสิทธิที่จะวางสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ในกรณีเช่นนี้ให้ทรัพย์สินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
สรุป
1) ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่ากำหนดระยะเวลาตามสัญญาคือ 1 ปีนั้นสิ้นสุดลงแล้วรับฟังไม่ได้ แต่ข้ออ้างว่าสินไถ่ไม่ครบรับฟังได้
2) นายไก่ไม่สามารถฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่ทรัพย์คืนเพราะมีการขยายระยะเวลาไถ่คืนได้และนายไก่ต้องนำสินไถ่ 1,300,000 [ท ไปขอไถ่กับนายไข่ภายในกำหนดเวลาไถ่ หรือวางสินไถ่ ณ สำนักงานวางทรัพย์