การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1 นายจันทร์ขายแม่หมูท้องแก่ของตนตัวหนึ่งให้นายอังคารในราคา 15,000 บาท นายอังคารตกลงซื้อและขอให้นายจันทร์นำหมูไปให้ที่บ้านพร้อมกับชำระราคา 
ในวันนัด นายจันทร์ได้นำหมูไปที่บ้านนายอังคารและขอให้นายอังคารชำระค่าหมู แต่นายอังคารกลับไม่ยอมชำระ นายจันทร์จึงไม่ส่งมอบหมูให้นายอังคาร อีก 5 วันต่อมา เกิดโรคระบาดเป็นเหตุให้แม่หมูตัวนี้ตาย นายจันทร์ขอให้นายอังคารชำระราคาค่าหมูอีก นายอังคารก็ไม่ยอมชำระ 

นายจันทร์มาถามท่านว่าแม่หมูที่ตายตกเป็นพับแก่นายจันทร์หรือนายอังคาร และนายจันทร์มีสิทธิเรียกร้องให้นายอังคารชำระราคาค่าหมูได้หรือไม่ ดังนี้ ท่านจะให้คำตอบนายจันทร์อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 วรรคแรก ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิใน ทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิ ได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรค หนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับ ผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่น บาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

วินิจฉัย

โดย หลักแล้ว เมื่อได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้กำหนดไว้แน่นอนแล้วว่าเป็นทรัพย์ชนิดใด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำ สัญญาซื้อขายกัน ตามมาตรา 458 กล่าวคือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อนั้นโอนไปยังผู้ซื้อทันที แม้จะยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายหรือยังไม่ได้ชำระราคาก็ตาม เพราะการส่งมอบและการชำระราคานั้นเป็นหนี้ที่คู่สัญญาต้องชำระกันในภายหลัง (ฎ. 1700/2527)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ขายแม่หมูท้องแก่ของตนตัวหนึ่งให้นายอังคารในราคา 15,000 บาท และนายอังคารก็ตกลงซื้อ เช่นนี้สัญญาซื้อขายย่อมเกิดขึ้น เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์ในแม่หมูย่อมโอนไปยังนายอังคารผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญา ซื้อขายกัน ตามมาตรา 458 แม้จะมีข้อตกลงให้นายจันทร์ไปส่งมอบหมูให้ที่บ้านพร้อมกับรับชำระราคาในวัน หลัง ก็หาทำให้เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตามมาตรา 459 ที่จะทำให้กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อไม่

เมื่อข้อเท็จจริงใน วันนัด นายจันทร์ได้นำหมูไปส่งมอบให้นายอังคาร แต่นายอังคารกลับไม่ยอมชำระราคาค่าหมู เช่นนี้นายอังคารย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา และการที่หมูตายในระหว่างที่นายอังคารผิดสัญญานั้นเกิดจากโรคระบาด มิใช่เกิดขึ้นเพราะความผิดของนายจันทร์ กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 370 วรรคแรก ที่ว่าสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอน ทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปโดยโทษผู้ขายมิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ซื้อ กรณีนี้บาปเคราะห์ย่อมตกเป็นพับแก่นายอังคารผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดรแม้นาย อังคารจะไม่ได้รับส่งมอบแม่หมู เพราะการสูญหรือเสียหายตกเป็นพับแก่ตน แต่นายอังคารก็ยังมีหน้าที่ชำระราคาค่าหมูตามสัญญาซื้อขาย เพราะกรรมสิทธิ์ในแม่หมูตกเป็นของนายอังคารแล้ว ทั้งแม่หมูตัวนี้ก็มีราคาเพียง 15,000 บาท แม้การซื้อขายจะมิได้มีหลักฐานในการฟ้องร้องให้บังคับคดี กล่าวคือไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด หรือมีการวางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 456 วรรคสามประกอบวรรคสองไม่ใช้บังคับกับการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาต่ำ กว่า 20,000 บาท

สรุป การที่แม่หมูตายย่อมตกเป็นพับแก่นายอังคาร ตามมาตรา 370 วรรคแรก และนายจันทร์มีสิทธิเรียกร้องให้นายอังคารชำระราคาค่าหมูได้

 

ข้อ 2 นายไก่นำที่ดินมีโฉนดของตนไปตกลงขายให้แก่นายไข่ในราคา 2 ล้านบาท โดยมีการส่งมอบที่ดินและชำระเงินกันครึ่งหนึ่งคือ 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือตกลงกันว่าอีก 1 เดือนจะชำระ แต่ครบเดือนแล้วนายไข่ก็ไม่ยอมชำระ นายไก่โมโหจึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายให้แก่นาย ห่านในราคา 3 ล้านบาท เมื่อทำสัญญากันแล้วนายห่านจึงมาขับไล่นายไข่ออกจากที่ดินดังกล่าว

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่ นายไก่และนายห่าน เป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน และมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
นายไข่จะฟ้องนายไก่ว่าตนถูกนายห่านรอนสิทธิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดย ปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อ ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือ สำเร็จบริบูรณ์ เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาจะไปโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลังโดยทำเป็นหนังสือและจด ทะเบียนต่อหน้าที่ ส่วนการที่คู่สัญญาตกลงจะชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านบาทในอีก 1 เดือนข้างหน้า เป็นการตกลงเรื่องการชำระราคา มิใช่การตกลงเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ อันจะทำให้เป็นสัญญาจะซื้อขายไม่

เมื่อ เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์ แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรก กรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายไก่เช่นเดิม นายไก่จึงมีสิทธิที่จะขายต่อไปได้

ส่วนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง นายไก่และนายห่านก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะต้องทำกันต่อไปแล้ว เนื่องจากการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้กระทำเสร็จสิ้นแล้วในขณะทำสัญญาซื้อขายกัน และเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ตามมาตรา 456 วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างนายไก่และนายไข่เป็นโมฆะ นายไข่ย่อมไม่มีสิทธิใดๆในที่ดินแปลงนี้เลย แม้นายห่านจะมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันมาก่อการรบกวนขัดสิทธิ ของนายไข่ในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข นายไข่ก็ไม่อาจฟ้องให้นายไก่รับผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ได้ เพราะไม่อยู่ในฐานะผู้ซื้อที่ถูกรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายนั่นเอง

สรุป
สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายไก่และนายไข่ เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและเป็นโมฆะ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายไก่และนายห่าน เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

นายไข่ฟ้องให้นายไก่รับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

 

ข้อ 3 นายทองนำแหวนทับทิมล้อมเพชรมูลค่า 5 ล้านบาท ไปขายฝากไว้กับเงินในราคาเพียง 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี โดยกำหนดสินไถ่ไว้คือ 1 ล้านบาทบวกประโยชน์อีก 15% และมีข้อกำหนดไว้ว่าห้ามมิให้นายเงินนำแหวนวงดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายโอนในระหว่างติดสัญญาขายฝาก

หลังจากทำสัญญากันแล้วนายเพชรเห็นแหวนวงดังกล่าวเกิดอยากได้จึงขอซื้อจากนาย เงิน นายเงินเสนอขายราคา 2 ล้านบาท นายเพชรตกลงซื้อโดยมีการชำระราคาและส่งมอบแหวนกันเรียบร้อยแล้ว

หลัง จากนั้นหนึ่งเดือน นายทองเห็นนายเพชรใส่แหวนจึงไปแจ้งให้นายเพชรทราบว่าเป็นแหวนซึ่งตนนำมาขาย ฝากไว้กับนายเงิน และมีข้อห้ามมิให้จำหน่ายด้วย จึงขอไถ่แหวนคือ พร้อมเงิน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาทถ้วน

แต่นายเพชรปฏิเสธไม่ให้ไถ่ ถ้าอยากได้คืนก็ต้องไถ่คืนในราคา 3 ล้านบาท คำปฏิเสธและคำเสนอของนายเพชรรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 493 ในการขายฝาก คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้ ถ้าและผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้ ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใดๆ อันเกิดแต่การนั้น

มาตรา 497 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ
(1) ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ

มาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้ คือ
(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ใน เวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

มาตรา 499 สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้า ปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้ จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายทองนำแหวนทับทิมล้อมเพชรมูลค่า 5 ล้านบาทไปขายฝากไว้กับนายเงิน โดยมีข้อกำหนดไว้ว่าห้ามมิให้นายเงินนำแหวนวงดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายโอนใน ระหว่างติดสัญญาขายฝาก ดังนี้นายเงินย่อมไม่อาจนำไปขายต่อให้บุคคลใดอีกได้ แต่ถึงแม้นายเงินจะฝ่าฝืนข้อสัญญาห้ามโอนดังกล่าว ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่าง ใด กำหนดแต่เพียงว่าหากผู้รับซื้อฝากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ผู้ขายฝากก็อาจเรียกค่าเสียหายได้เท่านั้น ตามมาตรา 493 การซื้อขายแหวนวงดังกล่าวระหว่างนายเงินและนายเพชร จึงมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 453 และกรรมสิทธิ์ในแหวนย่อมโอนไปยังนายเพชรตามมาตรา 458

ดัง นั้นหากนายทองผู้ขายฝากซึ่งเป็นบุคคลผู้มีสิทธิไถ่ ตามมาตรา 497(1) จะใช้สิทธิไถ่แหวนคืนนายทองจะต้องนำเงิน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาท อันเป็นสินไถ่ที่ตกลงกันไว้ในสัญญามาไถ่กับนายเพชรซึ่งเป็นผู้รับโอนที่มี หน้าที่รับไถ่ทรัพย์คืน ตามมาตรา 498(2) อย่างไรก็ตามถึงแม้นายทองจะนำสินไถ่มาครบตามที่ตกลงกันก็ตาม นายเพชรก็มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่คืนได้ โดยอ้างว่าตนไม่รู้ในเวลาซื้อขายว่าแหวนซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมา นั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืนตามสัญญาขายฝาก คำปฏิเสธของนายเพชรที่ไม่ยอมให้ไถ่นั้นรับฟังได้

ส่วนข้อเสนอของนาย เพชรที่ว่า ถ้าอยากได้คืนก็ต้องไถ่คืนในราคา 3 ล้านบาทรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายเพชรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในแหวนดังกล่าว ก็ย่อมมีสิทธิใดๆในทรัพย์ของตน การที่นายเพชรเสนอให้ไถ่คืนในราคา 3 ล้านบาทนั้น เป็นการเสนอขายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิใช่กรณีของการไถ่คืน ตามสัญญาขายฝาก ผู้ขายจึงเสนอราคาขายเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องกำหนดราคาหรือสินไถ่ในราคาขายฝากที่แท้จริงรวมผล ประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 499 แต่อย่างใด ข้อเสนอของนายเพชรดังกล่าวจึงรับฟังได้เช่นกันสรุป คำปฏิเสธและคำเสนอของนายเพชรรับฟังได้ทั้งสองกรณี

Advertisement