การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์ซื้อรถยนต์คันหนึ่งมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคา  300,000  บาท  ต่อมานายจันทร์ทราบว่ารถยนต์คันนี้ไม่ใช่ของนายแดง  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  แต่เป็นของนายอาทิตย์  นายจันทร์ไม่อยากได้รถยนต์คันนี้ไว้และขายต่อให้นายอังคารในราคา  250,000  บาท

นายอังคารซื้อมาได้เพียง  1  เดือน  ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ไปเพื่อคืนให้นายอาทิตย์ตามที่ได้แจ้งความไว้  หลังจากนั้นอีก  6 เดือน  นายอังคารมาขอให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธินายจันทร์กลับปฏิเสธความรับผิด

ดังนี้นายอังคารมาถามนักศึกษาว่า  นายอังคารมีสิทธิเรียกร้องให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธิได้หรือไม่  นักศึกษาจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  482  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้คือ

(1) ถ้าไม่มีการฟ้องคดี  และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง

มาตรา  1330  สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น  ท่านว่ามิเสียไป  ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษาหรือผู้ล้มละลาย

วินิจฉัย

นายจันทร์ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี  นายจันทร์ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยมาตรา  1330  แม้รถยนต์คันนี้จะไม่ใช่ของนายแดงลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม  นายจันทร์ก็ไม่เสียสิทธิในรถยนต์คันนี้  นายจันทร์ขายต่อให้นายอังคาร  นายอังคารก็มีสิทธิในรถยนต์คันนี้เช่นเดียวกับนายจันทร์  แม้รถยนต์คันนี้จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปเพื่อคืนให้นายอาทิตย์  นายจันทร์ย่อมพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของนายอังคารได้สูญไปเพราะความผิดของนายอังคารเอง  ตามมาตรา  482  (1)  นายอังคารจะเรียกร้องให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

สรุป  นายอังคารจะเรียกร้องให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

 

ข้อ  2  นายไก่นำรถยนต์ซึ่งตนเก็บสะสมไว้จำนวน  20  คัน  ออกประมูลขายทอดตลาด  ในการขายครั้งนี้นายไก่แจ้งให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบโดยทั่วกันว่า  นายไก่ผู้ขายจะไม่รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิที่เกิดในรถยนต์ที่ผู้ซื้อประมูลได้ไป  นายไข่ประมูลชนะได้รถยนต์ไป  2  คัน

ซึ่งคันหนึ่งนายไก่ทราบดีว่าเป็นรถยนต์ที่ตนได้มาจากรถที่ถูกขโมยมาขายให้ตน  และอีกคันหนึ่งนั้นเครื่องยนต์ไม่ดีหลังจากนายไข่ซื้อรถยนต์ทั้ง  2  คัน  จากการขายทอดตลาดไปแล้ว  คันหนึ่งเจ้าของที่แท้จริงก็มาติดตามเอารถยนต์คืนโดยมีเอกสารแสดงชัดเจน  อีกคันหนึ่งเครื่องยนต์ก็เสียต้องซ่อมแซมอย่างใหญ่

นายไข่จะฟ้องให้นายไก่ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่อง  และการรอนสิทธิที่เกิดแก่รถยนต์  2  คันที่ซื้อทอดตลาดมาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  483  คู่สัญญาซื้อขายตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา  485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองรับผิดผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิด  ถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสม  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้รถยนต์ที่นายไข่ซื้อมาจะชำรุดบกพร่อง  แต่นายไข่จะฟ้องร้องให้นายไก่ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  เพราะเป็นการซื้อจากการขายทอดตลาด  ตามมาตรา  473  (3)  ประกอบมาตรา  472  ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้ตรวจดูทรัพย์สินก่อนซื้อขาย

ส่วนการรอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขาย  มาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สิโดยปกติสุขได้  ตามมาตรา  475  กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการณ์รอนสิทธินั้น  แต่ทั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายอาจทำความตกลงกันว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพราะการรอนสิทธิก็ได้  ตามมาตรา  483

อย่างไรก็ตามข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองผู้ขายได้  หากการรอนสิทธินั้นเกิดขึ้นเพราะการกระทำของผู้ขายเอง  หรือผู้ขายรู้ความจริงแห่งการรอนสิทธิแล้วปกปิดเสีย  ตามมาตรา  485

ดังนั้นนายไข่สามารถฟ้องให้นายไก่รับผิดในกรณีฯรอนสิทธิได้  เพราะนายไก่ผู้ขายทราบว่าเป็นรถยนต์ที่ตนได้มาจากรถที่ถูกขโมยมาขายให้ตน  แล้วปกปิดมิแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ  แล้วยังมาทำข้อตกลงยกเว้นว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิอีก  ถือว่าผู้ขายไม่สุจริต  จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

สรุป  นายไข่ฟ้องนายไก่ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  แต่ฟ้องให้รับผิดในกรณีรอนสิทธิได้

 

ข้อ  3  นายมดนำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายปลวก  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปี  ในราคา  1  ล้านบาท  และกำหนดสินไถ่ไว้เป็นราคา  2  ล้านบาท  เมื่อเวลาผ่านไปได้เพียง  5  เดือน  นายมดเห็นว่าคงไม่มีความสามารถไถ่คืนได้ในเวลา  7  เดือนที่เหลือ  

จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก  1  ปี  นายปลวกก็ยินยอมตกลงตามที่นายมดร้องขอ  เมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  10 เดือน  นับแต่ทำสัญญาขายฝากกัน  นายมดก็ไปขอไถ่บ้านและที่ดินคืนจากนายปลวกพร้อมนำเงินสินไถ่เป็นเงินหนึ่งล้านสามแสนบาทไปไถ่  นายปลวกปฏิเสธไม่ให้ไถ่คืนโดยอ้างว่า  (1)  เลยกำหนดระยะเวลาแล้ว และ  (2)  สินไถ่ไม่ครบถ้วนตามสัญญา

นายมดจะฟ้องบังคับให้นายปลวกรับไถ่โดยอ้างว่า  (1)  มีการตกลงขยายระยะเวลาในการไถ่  และ  (2)  สินไถ่ครบถ้วนแล้ว  จะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  496  การกำหนดเวลาไถ่นั้น  อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้  แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด  ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา  494  ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตามมาตรา  494

การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่  ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว  เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  499  สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันว่าเท่าใดไซร้  ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

(1) มีการตกลงขยายระยะเวลาในการไถ่จริง  และไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา  494  (1)  แต่จะฟ้องร้องบังคับคดีบังคับให้ผู้รับไถ่ปฏิบัติตามสัญญานั้นอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  และลงลายมือชื่อผู้รับไถ่เป็นสำคัญจึงจะยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับไถ่ได้  ดังนั้นนายมดจึงฟ้องให้นายปลวกรับไถ่ไม่ได้ตามมาตรา  496  วรรคสอง

(2)  สินไถ่นั้นเมื่อมีการกำหนดเกินกว่าราคาขายฝาก  กฎหมายให้สิทธิผู้รับซื้อฝากกำหนดได้ไม่เกินราคารับซื้อฝากบวกกับประโยชน์อีก  15%   เมื่อตกลงไว้  1  ปี  ขยายเป็น  2  ปี  ราคาขายฝาก  1  ล้านบาท  สินไถ่ก็ต้องเป็น  1  ล้าน  3  แสนบาท  นายปลวกจะอ้างว่าสินไถ่ไม่ครบเมื่อนายมดนำเงิน  1  ล้าน  3  แสนบาทไปขอไถ่บ้านและที่ดินคืนไม่ได้  ตามมาตรา  499  วรรคสอง

Advertisement