การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1 นายจันทร์ซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนายอังคารในราคา 5 ล้านบาท นายจันทร์ชำระราคาค่าที่ดินให้นายอังคาร 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้นายอังคารในวันที่นายอังคารกลับจากต่างประเทศ และไปจดทะเบียนโอนให้นายจันทร์ นายอังคารได้ส่งมอบที่ดินให้นายจันทร์พร้อมกับรับเงิน 1 ล้านบาทในวันทำสัญญา 
นายจันทร์อยู่ในที่ดินแปลงนี้มาได้ 8 ปี นายอังคารกลับจากต่างประเทศ นายอังคารหาได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคาร หลังจากนั้นอีก 3 ปี ที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นมาก นายอังคารได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้นายพุธอีกในราคา 10 ล้านบาท นายพุธซื้อแล้วจะเข้าไปอยู่ในที่แปลงนี้ แต่ถูกนายจันทร์ขัดขวาง นายพุธขอให้นายจันทร์ออกไป

 นายจันทร์ไม่ยอมออก นายพุธฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่นายจันทร์ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ นายจันทร์ต่อสู้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ และนายจันทร์มาถามท่านว่าข้อต่อสู้ของนายจันทร์จะมีทางชนะคดีหรือไม่ดังนี้ ตามข้อเท็จจริงนี้ ท่านจะให้คำตอบนายจันทร์อย่างไร เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นใน การซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับ ผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ สัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดระหว่างนายจันทร์และนายอังคารเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ตามมาตรา 456 วรรคสอง เพราะนายจันทร์และนายอังคารคู่สัญญามีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลัง เมื่อเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แม้นายอังคารจะได้ส่งมอบที่ดินให้นายจันทร์ครอบครองก็ตาม ก็ไม่ทำให้นายจันทร์ผู้ซื้อได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1367 เพราะนายจันทร์รู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอังคาร ถือว่านายจันทร์ผู้จะซื้อครอบครองแทนนายอังคาร ผู้จะขายตามมาตรา1368 เท่านั้น มิใช่ยึดถือในฐานะเจ้าของ กรณีเช่นนี้แม้นายจันทร์จะครอบครองติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 (ฎ. 7422 – 7426/2549)

เมื่อนายจันทร์ผู้จะซื้อยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายอังคาร นายอังคารผู้จะขายจึงมีสิทธิขายที่ดินให้บุคคลอื่นได้ การที่นายพุธซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายอังคารเจ้าของที่ดินโดยได้จดทะเบียนการ ซื้อขายถูกต้องตามมาตรา 456 วรรคแรก ที่ดินแปลงนี้ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพุธทันทีและถือว่านายพุธผู้ซื้อคน หลังนี้ย่อมมีสิทธิดีกว่านายจันทร์

อนึ่งการที่นายจันทร์ยังคงครอบ ครองที่ดินอยู่ภายหลังจากที่นายอังคารขายที่ดินให้นายพุธแล้วนั้น ถือว่านายจันทร์ครอบครองที่ดินแทนนายพุธตามมาตรา 1368 ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแม้จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่อาจยกการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต้อสู้เจ้า ของที่ดินได้ กรณีนี้นายพุธสามารถฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่นายจันทร์ออกไปจากที่ดินดัง กล่าวได้ ส่วนข้อต่อสู้ของนายจันทร์ว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้นไม่มี ทางจะชนะคดีได้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำตอบแก่นายจันทร์ว่าข้อต่อสู้ของนายจันทร์ไม่มีทางชนะคดีได้

 

ข้อ 2 อาทิตย์เป็นเจ้าของกกรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง อาทิตย์ได้ขายฝากที่ดินแปลงนี้ของอาทิตย์ไว้กับจันทร์ ราคาขายฝาก 300,000 บาท และอาทิตย์รับเงินราคาขายฝาก 300,000 บาท แต่ไม่ได้กำหนดสินไถ่และไม่ได้กำหนดเวลาไถ่คืน อาทิตย์ได้ส่งมอบที่ดินให้จันทร์ จันทร์จึงจ่ายเงิน 300,000 บาทให้อาทิตย์

เมื่อขายฝากไปได้สี่เดือน อาทิตย์ตาย พุธบุตรชายซึ่งเป็นผู้รับมรดกคนเดียวของอาทิตย์ได้มาติดต่อจันทร์เพื่อขอไถ่ ที่ดินแปลงนี้คืน จันทร์ปฏิเสธ พุธจะฟ้องเรียกคืนที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

วินิจฉัย

ใน เรื่องแบบของสัญญาขายฝากนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่เมื่อสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดประเภทหนึ่ง จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบังคับว่าการซื้อขายต้องทำตามแบบตามมาตรา 456 วรรคแรก การขายฝากทรัพย์สินนั้นต้องทำตามแบบดังนั้นด้วย มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ฎ. 3970/2548) ส่วนทรัพย์สินใดจะต้องมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี การขายฝากก็ต้องมีหลักฐานดังนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะการขายฝากต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายนั่นเอง

กรณี ตามอุทาหรณ์ พุธจะเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากจันทร์ได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า อาทิตย์และจันทร์ทำสัญญาขายฝากที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยทำเป็น หนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด กำหนดเพียงราคาขายฝากและได้ส่งมอบที่ดินให้จันทร์เท่านั้น สัญญาขายฝากดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรกประกอบมาตรา 491 (ฎ. 810/2546)

เมื่อสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะ คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการทำสัญญากัน ดังนั้นพุธจึงต้องคืนเงินราคาขายฝาก300,000 บาท ให้แก่นายจันทร์โดยนำหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ส่วนพุธเองก็มีสิทธิเรียกที่ดินแปลงดังกล่าวคืนจากจันทร์ได้โดยอาศัยหลัก กฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้และหลักกฎหมายมรดกเช่นเดียวกัน (ฎ. 165/2527)

กรณี มิใช่เรื่องทายาทของผู้ขายฝากเดิมมาใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากตามมาตรา 497(1) เนื่องจากสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะเสียเปล่าแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยขายฝากมาใช้ปรับแก่ข้อเท็จจริงได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในเรื่องกำหนดเวลาไถ่และสินไถ่อีก

สรุป พุธเรียกที่ดินคืนจากจันทร์ได้

 

ข้อ 3 นายทองได้ตกลงจะให้บ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่ง และรถยนต์คันหนึ่งของนายทองให้นายเงินโดยเสน่หา บ้านพร้อมที่ดินนายทองได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนยกบ้านพร้อมที่ดินให้นาย เงินไปแล้ว แต่กลับไม่ยอมออกจากบ้านหลังนั้น ส่วนรถยนต์นายทองได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบให้นายเงินไว้ แต่ยังไม่ได้ส่งมอบตัวรถยนต์และทะเบียนให้

นายเงินจึงต้องการที่จะให้นายทองออกไปจากบ้านและที่ดินแปลงนั้น และให้ส่งมอบรถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์ให้กับตน ถ้านายเงินมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำแนะนำกับนายเงินอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 523 การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้

มาตรา 525 การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ ในกรณีเช่นนี้การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ

มาตรา 526 ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้น ได้ แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้คือ

บ้านพร้อมที่ดิน นายทองได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนยกบ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่งให้นายเงินไป แล้ว แต่กลับไม่ยอมออกจากบ้านหลังนั้น กรณีเช่นนี้เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนให้แล้ว การให้เป็นอันสมบูรณ์โดยมิต้องส่งมอบบ้านและที่ดินนั้นให้แก่กันตามมาตรา525

อนึ่งเมื่อการให้บ้านพร้อมที่ดินได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การที่นายทองผู้ให้ไม่ส่งมอบบ้านและที่ดินนั้นให้แก่นายเงินผู้รับ นายเงินผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์ได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยไม่ได้ตามมาตรา526

รถยนต์ แม้นายทองจะได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบให้นายเงินไว้ก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา การที่นายทองยังไม่ได้ส่งมอบตัวรถยนต์และทะเบียนให้ การให้ย่อมไม่สมบูรณ์ กรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายทองอยู่ เพราะการให้สังหาริมทรัพย์ธรรมดาย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ ตามมาตรา 523

สรุป นายเงินสามารถเรียกให้นายทองส่งมอบบ้านและที่ดินให้กับตนได้เท่านั้น ส่วนรถยนต์ไม่อาจเรียกให้ส่งมอบพร้อมกับทะเบียนได้

หมายเหตุ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การให้รถยนต์อันเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาย่อมสมบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สิน ที่ให้ตามมาตรา523 ไม่มีกฎหมายบังคับว่าการให้ทรัพย์สินดังกล่าวต้องทำตามแบบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังผู้รับแล้ว หาจำต้องจดทะเบียนโอนกันตามมาตรา 525 เสียก่อนไม่ เพรากฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะ ควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อผู้รับ ผู้รับก็เป็นเจ้าของรถยนต์คันที่ยกให้แล้ว (ฎ. 5212/2537 ฎ. 3104/2536)

Advertisement