การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ1. วันที่ 1 ตุลาคม 2556 นางส้มเช้งทำหนังสือสัญญาซื้อขายกระบือซึ่งมีตั๋วรูปพรรณจากนางแตงโมในราคา 50,000 บาท และเกวียนในราคา 50,000 บาท โดยในวันทำสัญญานางแตงโมได้มอบกระบือและเกวียนให้แก่นางส้มเช้ง ส่วนนางส้มเช้งก็ได้ชำระเงินจำนวน 60,000 บาท ให้แก่นางแตงโมแล้วแต่เงินส่วนที่เหลือตกลงจะชำระให้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2556 ครั้นเมื่อถึงกำหนดวันดังกล่าว นางส้มเช้งไม่สามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระให้แก่นางแตงโมได้ ดังนี้หากนางแตงโมมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำปรึกษาเช่นไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษได้แก่ เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรก

แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินตามมาตรา 456 วรรคแรก หรือเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าจะฟ้องร้องบังคับคดีกันเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือมีการวางประจำ (มัดจำ)ไว้ หรือได้มีการชำระหนี้กันบางส่วนแล้ว (มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. สัญญาซื้อขายกระบือ เมื่อกระบือมีตั๋วรูปพรรณจึงถือว่าเป็นสัตว์พาหนะ และเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการทำสัญญาซื้อขายกระบือระหว่างนางส้มเช้งกับนางแตงโมนั้น ทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์กันแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และเมื่อเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษมาตรา 456 วรรคแรก ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

เมื่อสัญญาซื้อขายกระบือระหว่างนางส้มเช้งกับนางแตงโมได้ทำเป็นหนังสือสัญญากันแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายกระบือจึงตกเป็นโมฆะ ดังนั้นเมื่อนางส้มเช้งไม่สามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระให้แก่นางแตงโม นางแตงโมจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

  1. สัญญาซื้อขายเกวียน เมื่อเกวียนเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ธรรมดามิใช่สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ สัญญาซื้อขายเกวียนจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดานั้น ไม่ต้องกระทำตามแบบตามที่มาตรา 456 วรรคแรกได้กำหนดไว้ กล่าวคือ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์

และเมื่อสัญญาซื้อขายเกวียนซึ่งตกลงราคากัน 50,000 บาท เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคา 20,000 บาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ได้มีหสักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนางส้มเช้ง และได้มีการชำระหนี้บางส่วน โดยนางส้มเช้งได้ชำระราคาเกวียนให้แก่นางแตงโมแล้วจำนวนหนึ่งและนางแตงโมได้ส่งมอบเกวียนให้แก่นางส้มเช้งแล้ว ดังนั้น เมื่อนางส้มเช้งไม่สามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระให้แก่นางแตงโม นางแตงโมย่อมสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีตามมาตรา 456 วรรคสามประกอบวรรคสอง

สรุป

หากนางแตงโมมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นางแตงโมตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นายจันทร์ขโมยรถยนต์ของนายอาทิตย์มาขายให้นายอังคาร นายอังคารซื้อโดยสุจริต ปรากฏว่านายอังคารถูกศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้นายแดงเป็นเงิน 3 แสนบาท นายอังคารไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดรถยนต์คันนี้ไปจากนายอังคารและขายทอดตลาด นายพุธเป็นผู้ประมูลซื้อได้ ต่อมานายพุธมารู้ความจริงว่ารถยนต์คันนี้เป็นของนายอาทิตย์ที่ถูกขโมยมาและไม่อยากได้ไว้ นายพุธขายรถยนต์คันนี้ให้นายพฤหัส นายพฤหัสซื้อโดยสุจริต หลังจากนั้นอีก 5 วัน นายอาทิตย์มาพบรถยนต์คันนี้อยู่กับนายพฤหัสและขอให้นายพฤหัสคืนให้ตน โดยนายอาทิตย์แสดงทะเบียนรถยนต์ว่าเป็นรถยนต์ของตนพร้อมกับใบแจ้งความที่เจ้าพนักงานตำรวจออกให้ นายพฤหัสเห็นเอกสารและหลักฐานก็ยอมคืนรถยนต์คันนี้ให้นายอาทิตย์

อีก 5 เดือนต่อมา นายพฤหัสมาเรียกร้องให้นายพุธรับผิดในการรอนสิทธิ นายพุธมาถามท่านว่า นายพุธจะต้องรับผิดในการที่นายพฤหัสคืนรถยนต์คันนี้ให้นายอาทิตย์หรือไม่ ท่านจะให้คำตอบแก่นายพุธอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

มาตรา 479 “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้นและซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด”

มาตรา 482 “ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง…”

มาตรา 1330 “สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษาหรือผู้ล้มละลาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพุธเป็นผู้ประมูลซื้อรถยนต์มาได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยสุจริตเพราะไม่รู้ความจริงว่ารถยนต์คันนี้เป็นของนายอาทิตย์ที่ถูกขโมยมา นายพุธย่อมได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1330 แม้รถยนต์คันนี้จะไม่ใช่ของนายอังคารลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม นายพุธก็ไม่เสียสิทธิในรถยนต์คันนี้ และจะมีสิทธิดีกว่านายอาทิตย์ และเมื่อนายพุธขายต่อให้นายพฤหัส นายพฤหัสก็มีสิทธิในรถยนต์คันนี้เช่นเดียวกับนายพุธ

เมื่อต่อมานายอาทิตย์ได้เรียกให้นายพฤหัสคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ตน ซึ่งนายพฤหัสก็ยอมคืนให้แก่นายอาทิตย์ ทำให้รถยนต์คันนี้หลุดไปจากการครอบครองของนายพฤหัส ซึ่งโดยหลักแล้วนายพฤหัสก็ชอบที่จะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดในการรอนสิทธิได้ตามมาตรา 475 ประกอบมาตรา 479

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายพฤหัสได้คืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์ไปโดยไม่มีการฟ้องคดีนั้นนายพุธย่อมพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของนายพฤหัสได้สูญไปเพราะความผิดของนายพฤหัสเองตามมาตรา 482(1) ดังนั้นนายพฤหัสจะเรียกร้องให้นายพุธรับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

สรุป

นายพุธไม่ต้องรับผิดในการที่นายพฤหัสคืนรถยนต์คันนี้ไห้นายอาทิตย์

 

ข้อ 3 แดงขายกำไลทองวงหนึ่งให้ดำในราคา 200,000 บาท และในการตกลงซื้อขายครั้งนั้นดำยังให้แดงมีโอกาสซื้อกำไลทองวงนั้นคืนได้ในราคาที่ขายให้ตนแต่ไม่ได้กำหนดเวลาซื้อคืน ขายไปได้สามปีกับสองเดือน แดงไม่มีเงินมาซื้อกำไลทองวงนั้นคืน แดงจึงได้เขียนจดหมายมายังดำว่าตนขอขยายกำหนดเวลาซื้อกำไลวงนั้นคืนออกไปอีกหนึ่งปี ดำได้เขียนจดหมายตอบแดงว่าดำตกลงยินดีที่จะให้แดงขยายกำหนดเวลาซื้อคืนออกไปอีกหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่แดงได้รับจดหมายฉบับนี้ในราคาที่ดำซื้อมา หลังจากแดงได้รับจดหมายจากดำเก้าเดือน แดงได้นำเงิน 200,000 บาท มาขอซื้อกำไลวงนั้นกลับคืน ดำจะไม่ยอมขายกำไลวงนั้นคืนแดงให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาดรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่แดงขายกำไลทองให้ดำในราคา 200,000 บาท และในการตกลงซื้อขายกันในครั้งนั้นดำยังให้แดงมีโอกาสซื้อกำไลทองวงนั้นคืนได้ในราคาที่ขายให้ตน ดังนี้ถือว่าสัญญาระหว่างแดงและดำเป็นสัญญาขายฝากตามมาตรา 491 และเมื่อในสัญญานั้นไม่ได้กำหนดเวลาในการซื้อคืนไว้ กำหนดเวลาในการไถ่จึงต้องใช้กำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ไนมาตรา 494(2) กล่าวคือ แดงจะต้องไถ่กำไลทองวงนั้นคืนภายในกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

และเมื่อเวลาได้ผ่านไปแล้ว 3 ปี 2 เดือน แดงไม่มีเงินมาซื้อกำไลทองวงนั้นคืน แต่ได้เขียนจดหมายมายังดำว่าตนขอขยายกำหนดเวลาซื้อกำไลทองวงนั้นออกไปอีก 1 ปี ซึ่งดำก็ได้เขียนจดหมายตอบแดงว่าดำตกลงยินดีที่จะให้แดงขยายกำหนดเวลาไถ่ออกไปอีก 1 ปีนับตั้งแต่วันที่แดงได้รับจดหมาย กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาในการไถ่ แต่เป็นกรณีที่ดำได้ให้คำมั่นแก่แดงว่าจะขายคืนกำไลทองวงนั้นให้แก่แดง โดยมีกำหนดเวลา 1 ปี ดังนั้นเมื่อแดงได้นำเงิน 200,000 บาท มาขอซื้อกำไลทองวงนั้นคืนหลังจากได้รับจดหมายจากดำเพียง 9 เดือน ซึ่งยังไม่ครบ 1 ปี ดำจะไม่ยอมขายกำไลทองวงนั้นคืนให้แก่แดงไม่ได้ เพราะอยู่ในกำหนดเวลาคำมั่นที่ดำได้ให้ไว้กับแดง

สรุป

ดำจะไม่ยอมขายกำไลทองวงนั้นคืนแก่แดงไม่ได้ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement