การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายมกราตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายกุมภาในราคา 1 ล้านบาท แต่นายกุมภาไม่มีเงินสดเป็นก้อน ทั้งคู่จึงตกลงกันว่านายมกราจะส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายกุมภา นายกุมภาชำระเงินก้อนแรก 5 แสนบาท ส่วนที่เหลือให้ผ่อนได้เดือนละหนึ่งแสนบาท เมื่อผ่อนครบเป็นเงิน 1 ล้านบาท นายมกราก็จะไปโอนทางทะเบียนให้ เมื่อนายกุมภาชำระครบ นายมกราไม่ยอมไปโอนทะเบียนให้ เพราะมีคนมาเสนอซื้อในราคา 2 ล้านบาท
นายกุมภาจะฟ้องให้นายมกราไปโอนทะเบียนบ้านและที่ดินให้แก่ตนตามสัญญาได้หรือไม่ และสัญญาที่นายมกราและนายกุมภาตกลงกันนั้นเป็นสัญญาประเภทใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 455 เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญา ซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์
มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขายที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชำระราคากันแล้วหรือไม่
สัญญาจะซื้อขาย คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่า จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง
และสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรก ประกอบมาตรา 455 ส่วนสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้แต่อย่างใด เพียงแต่ได้กำหนดไว้ว่าในกรณีที่จะมีการฟ้องร้องบังคับคดีกัน จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือ
1 จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
2 มีการวางประจำ (มัดจำ) ไว้ หรือ
3 มีการชำระหนี้บางส่วน
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมกราตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายกุมภาในราคา 1 ล้านบาท โดยทั้งคู่ตกลงกันว่านายมกราจะส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายกุมภา และนายกุมภาชำระเงินก้อนแรก 5 แสนบาท ส่วนที่เหลือตกลงให้ผ่อนได้เดือนละ 1 แสนบาท เมื่อผ่อนครบ 1 ล้านบาท นายมกราก็จะไปโอนทางทะเบียนให้ กรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายมกราและนายกุมภาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสัญญาที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทำตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อได้ไปทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั่นเอง
สัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายมกราและนายกุมภานั้น แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายมกราซึ่งเป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดก็ตาม สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันตามมาตรา 456 วรรคสอง คือได้มีการชำระหนี้บางส่วนโดยนายมกราได้ส่งมอบบ้านและที่ดินให้นายกุมภา และนายกุมภาได้ชำระเงินให้แก่นายมกราจนครบแล้ว ดังนั้น เมื่อนายมกราผิดสัญญาไม่ยอมไปโอนทะเบียนให้แก่นายกุมภา นายกุมภาจึงสามารถฟ้องให้นายมกราไปโอนทะเบียนและที่ดินให้แก่ตนได้
สรุป สัญญาที่นายมกราและนายกุมภาตกลงกันนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และนายกุมภาสามารถฟ้องบังคับให้นายมกราไปโอนทะเบียนบ้านและที่ดินให้แก่ตนตามสัญญาได้
ข้อ 2 นายมีนาตกลงซื้อชุดรับแขกทำจากไม้สักทองราคา 2 แสนบาท จากนายเมษา และมีข้อสัญญาตกลงกันว่าเป็นหน้าที่ของนายเมษาที่จะต้องส่งมอบชุดรับแขกให้นายมีนาถึงบ้าน
เมื่อถึงกำหนดวันส่งมอบคนงานขนของมาส่งถึงบ้าน นายมีนาตรวจสอบสินค้าก่อนรับมอบก็พบว่าโต๊ะกลางมีรอยขูดขีดขนาดใหญ่เกิดจากการขนย้ายจึงไม่ยอมรับมอบ แต่นายเมษาโทรมาแจ้งให้นายมีนารับไว้ก่อนวันหลังจะเอาโต๊ะตัวใหม่ไร้ความชำรุดบกพร่องมาเปลี่ยนให้
นายมีนาก็เลยจำต้องรับไว้ ต่อมาถึงกำหนดนายเมษาก็อิดออดโยกโย้ อ้างว่านายมีนายอมรับมอบโดยไม่อิดเอื้อนแล้ว นายมีนาจะฟ้องให้นายเมษารับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
มาตรา 473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด
วินิจฉัย
ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ
อย่างไรก็ดี ผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ แต่ผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อนเป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีนาซื้อชุดรับแขกทำจากไม้สักทองจากนายเมษา และเมื่อมีการส่งมอบชุดรับแขกปรากฏว่าโต๊ะกลางมีรอยขูดขีดขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการขนย้าย ย่อมถือว่าชุดรับแขกที่ตกลงซื้อขายกันนั้นมีความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา ดังนี้นายเมษาผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้นต่อนายมีนาผู้ซื้อ ตามมาตรา 472
และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า ในวันส่งมอบชุดรับแขกดังกล่าวที่บ้านของนายมีนา นายมีนาได้ตรวจสอบชุดรับแขกก่อนรับมอบและได้พบถึงความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงไม่ยอมรับมอบ แต่นายเมษาโทรมาแจ้งให้นายมีนารับไว้ก่อน วันหลังจะเอาโต๊ะตัวใหม่ไร้ความชำรุดบกพร่องมาเปลี่ยนให้ นายมีนาจึงจำต้องรับไว้นั้น กรณีดังกล่าวไม่ถือว่านายมีนาผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อนหรือโต้แย้งไว้ ตามนัยของมาตรา 473(2) อันจะทำให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้นแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่ผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมีการอิดเอื้อนหรือโต้แย้งไว้แล้ว ดังนั้นนายเมษาผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้น ตามมาตรา 472 จะอ้างมาตรา 473 (2) ว่านายมีนาได้ยอมรับมอบทรัพย์สินนั้นโดยมิได้อิดเอื้อนทำให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้
สรุป นายมีนาสามารถฟ้องให้นายเมษารับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้
ข้อ 3 นายพฤษภาตกลงขายฝากช้างโดยทำสัญญากันเองให้นายมิถุนาในราคา 1 ล้านบาท มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคา 2 ล้านบาท เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 1 วัน นายพฤษภานำเงิน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาทไปขอไถ่ แต่นายมิถุนาปฏิเสธโดยอ้างว่า
1) สัญญาขายฝากสมบูรณ์
2) เกินกำหนดเวลาไถ่
3) สินไถ่ไม่ครบ
ข้ออ้างทั้งสามประการรับฟังได้หรือไม่ เพราะอะไร ให้นักศึกษาอธิบายให้ครบทุกข้อ และช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืนหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย
มาตรา 499 วรรคสอง ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี
วินิจฉัย
สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ เมื่อเป็นสัญญาซื้อขาย จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างของนายมิถุนาทั้ง 3 ประการรับฟังได้หรือไม่ และช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืนหรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้
ประการที่ 1 การที่นายมิถุนาอ้างว่าสัญญาขายฝากสมบูรณ์นั้นรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายพฤษภาได้นำช้างไปขายฝากไว้กับนายมิถุนาโดยทำสัญญากันเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนการขายฝากต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะและเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษย่อมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก ดังนั้นข้ออ้างของนายมิถุนากรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้
ประการที่ 2 การที่นายมิถุนาอ้างว่านายพฤษภาไปขอไถ่ช้างคืนเกินกำหนดเวลาไถ่นั้นรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามมาตรา 494(2) จะได้กำหนดไว้ว่าในการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้น ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะต้องไถ่คืนภายในกำหนด 3 ปี นับแต่เวลาซื้อขาย แต่เมื่อคู่กรณีได้ตกลงกันไว้ว่าให้ไถ่คืนภายในกำหนด 1 ปีจึงต้องเป็นไปตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ เมื่อนายพฤษภามาขอไถ่ช้างคืนเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 1 วัน จึงถือว่าเกิดกำหนดเวลาไถ่ ดังนั้นข้ออ้างของนายมิถุนากรณีนี้จึงรับฟังได้
ประการที่ 3 การที่นายมิถุนาอ้างว่านายพฤษภามาขอไถ่ช้างคืนโดยใช้สินไถ่ไม่ครบนั้นรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 499 วรรคสองนั้นได้วางหลักไว้ว่า ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาได้ตกลงขายฝากช้างในราคา 1 ล้านบาท และตกลงสินไถ่ในราคา 2 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นการกำหนดสินไถ่สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา 499 วรรคสอง ดังนั้นนายพฤษภาย่อมมีสิทธิไถ่ช้างคืนได้ในราคา 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาท ข้ออ้างของนายมิถุนาที่ว่าสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้
ส่วนประเด็นที่ว่า ช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ผลของการเป็นโมฆะย่อมทำให้คู่กรณีตามสัญญาขายฝากนั้นกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้มีการทำสัญญาขายฝากใดๆต่อกัน ดังนั้นนายมิถุนาจึงต้องส่งมอบช้างคืนให้นายพฤษภา และนายพฤษภาก็จะต้องคืนเงินค่าขายฝากช้าง 1 ล้านบาทให้แก่นายมิถุนา ทั้งนี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้
สรุป ข้ออ้างของนายมิถุนาที่ว่าสัญญาขายฝากสมบูรณ์และสินไถ่ไม่ครบนั้นรับฟังไม่ได้ แต่ข้ออ้างที่ว่าเกินกำหนดเวลาไถ่นั้นรับฟังได้ และช้างเชือกนี้นายพฤษภาจะได้คืน แต่ต้องคืนเงินค่าขายฝาก 1 ล้านบาทให้แก่นายมิถุนา