การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายไก่เป็นเจ้าของช้างแม่ลูก  ตกลงขายให้นายไข่  ช้างแม่  5  แสนบาท  ช้างลูก  2  แสนบาท  แต่นายไข่ไม่มีเงินสด  จำนวน  7  แสนบาท  ขอชำระค่าลูกช้าง  2  แสนบาทก่อน  ส่วนแม่ช้างตกลงกันว่าให้นายไข่ผ่อนชำระ  5  เดือน  เดือนละ  1  แสนบาท  ชำระครบเมื่อใดนายไก่ก็จะโอนทะเบียนช้างแม่ให้นายไข่  โดยนายไก่ส่งมอบช้างแม่ลูกให้นายไข่แล้ว  เมื่อนายไข่ชำระครบ  5  แสนบาท  นายไก่ไม่ยอมโอนแม่ช้างให้แก่นายไข่

(1)  สัญญาซื้อขายช้างแม่ลูกเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด

(2) กรรมสิทธิ์ในช้างแม่ลูกเป็นของใคร

(3) นายไข่จะฟ้องให้นายไก่โอนทะเบียนช้างแม่ลูกให้แก่ตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  453  อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่าผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

มาตรา 456  วรรคแรกและวรรคสอง  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย 

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  458  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น  ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  เช่น  เรือมีระวางตั้งแต่  5  ตันขึ้นไป  แพที่อยู่อาศัยและสัตว์พาหนะนั้น  จะต้องทำเป็นหนังสือ  และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก  แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด  หรือวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้วก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  456  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

(1)    สัญญาซื้อขายลูกช้างระหว่างนายไก่และนายไข่  เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เพราะเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดา  (ลูกช้างเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา)  จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ  และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  (มาตรา  453)

ส่วนกรณีสัญญาซื้อขายแม่ช้างนั้น  การที่นายไก่ตกลงขายแม่ช้างซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  (สัตว์พาหนะ)  ให้นายไข่ในราคา  5  แสนบาท  โดยตกลงกันว่าให้นายไข่ผ่อนชำระเป็นเวลา  5  เดือน  เดือนละ  1  แสนบาท  และเมื่อชำระเงินครบนายไก่จะไปโอนทะเบียนแม่ช้างให้นั้น  ถือเป็นกรณีที่คู่สัญญาไม่มีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในแม่ช้างโอนไปในขณะทำสัญญาซื้อขาย  แต่มีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลัง  ดังนั้น  สัญญาซื้อขายแม่ช้างระหว่างนายไก่และนายไข่จึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  ตามมาตรา  456  วรรคสอง

(2)   เมื่อสัญญาซื้อขายแม่ช้างเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  กรรมสิทธิ์ในแม่ช้างจึงยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในแม่ช้างจึงยังคงเป็นของนายไก่  ส่วนสัญญาซื้อขายลูกช้างนั้นเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในลูกช้างจึงโอนไปเป็นของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน  (มาตรา  453  และมาตรา  458)  นายไข่ผู้ซื้อจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลูกช้าง

(3)    ส่วนประเด็นที่ว่านายไข่จะฟ้องให้นายไก่โอนทะเบียนแม่ช้างให้แก่ตนได้หรือไม่นั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายไข่ได้ชำระเงินให้นายไก่ครบ  5  แสนบาท  อีกทั้งนายไก่ก็ได้ส่งมอบแม่ช้างให้แก่นายไข่แล้วจึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายแม่ช้างระหว่างนายไก่และนายไข่นั้น  มีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีคือ  ได้มีการชำระหนี้กันบางส่วนแล้ว  ดังนั้น  เมื่อนายไก่ผิดสัญญาไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนแม่ช้างให้นายไข่  นายไข่จึงสามารถฟ้องร้องให้นายไก่ไปจดทะเบียนโอนแม่ช้างให้ตนได้  ตามมาตรา  456  วรรคสอง

สรุป 

(1)    สัญญาซื้อขายลูกช้างเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  ส่วนสัญญาซื้อขายแม่ช้าง  เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย

(2)   กรรมสิทธิ์ในแม่ช้างเป็นของนายไก่  ส่วนกรรมสิทธิ์ในลูกช้างเป็นของนายไข่

(3)   นายไข่สามารถฟ้องร้องให้นายไก่ไปจดทะเบียนโอนแม่ช้างให้แก่ตนได้

 

 

ข้อ  2  นายดินไปตกลงซื้อตู้ไม้สักทองโบราณจากร้านนายน้ำในราคา  1  แสนบาท  และมีข้อตกลงกันว่า  นายน้ำเป็นผู้มีหน้าที่ส่งมอบตู้ใบนี้ให้แก่นายดินที่บ้านนายดิน  นายดินตรวจสอบตู้จนเป็นที่พอใจแล้ว  ในวันส่งมอบตู้ที่บ้าน  นายดินเห็นรอยขูดขีดขนาดใหญ่ซึ่งเกิดเหตุจากการขนส่งโดยชัดเจน  แต่ก็รับมอบตู้ใบนี้ไว้  ต่อมานายดินรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่ตู้ราคาเป็นแสน  แต่ขนส่งไม่ระมัดระวังทำให้มีรอย  ทำให้เสื่อมราคา  นายดินจะฟ้องนายน้ำให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด  เป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี  ผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473  เช่น  ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  แต่ผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน  เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายดินซื้อตู้ไม้สักทองโบราณจากร้านนายน้ำ  และปรากฏว่าตู้ดังกล่าวมีรอยขูดขีดนั้น  ย่อมถือว่าตู้ไม้สักทองโบราณที่ตกลงซื้อขายกันนั้นมีความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา  ซึ่งโดยหลัก  นายน้ำผู้ขายจะต้องรับผิดต่อนายดินผู้ซื้อ  ตามมาตรา  472

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ในวันส่งมอบตู้ที่บ้านของนายดินนั้น  นายดินเห็นรอยขูดขีดขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากการขนส่งโดยชัดเจน  แต่ก็ยังรับมอบตู้ใบนี้ไว้  จึงเป็นกรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  แต่ผู้ซื้อรับเอาทรัพย์นั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน  จึงเข้าข้อยกเว้น  นายน้ำผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา  473(2)  ดังนั้น  นายดินจึงไม่สามารถฟ้องนายน้ำให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้

สรุป  นายดินจะฟ้องนายน้ำให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

 

ข้อ  3  นายลมนำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากนายไฟไว้ในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปี  ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นต์  ภายหลังจากทำสัญญากันแล้ว  นายไฟเข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเห็นห้องหนึ่งของบ้านส่วนที่ต่อเติมออกไป  นายลมเจ้าของเดิมเขียนข้อความต่างๆอย่างหลงใหล  คลั่งไคล้ในกลุ่มเสื้อสีที่ตนรังเกียจ  จึงรื้อบ้านส่วนนี้และนำไปเผาไฟทิ้ง  เมื่อเวลาผ่านไป 10  เดือน  นายลมมาไถ่บ้านคืน  เจอสภาพบ้านและห้องสุดรักสุดหวงถูกทำลายไป  นายลมมีสิทธิจะฟ้องให้นายไฟรับผิดชอบได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  501  ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น  ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่  แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้  ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

วินิจฉัย

การขายฝากนั้น  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากย่อมโอนไปเป็นของผู้ซื้อ  เพียงแต่มีข้อตกลงกันว่า  ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้  (มาตรา  491)  ดังนั้น  ผู้ซื้อจึงมีสิทธิใช้สอยและกระทำการใดๆ  ในทรัพย์สินนั้นก็ได้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน  แต่อย่างไรก็ตาม  ผู้ซื้อก็มีหน้าที่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินนั้นอย่างวิญญูชนทั่วไปจะพึงสงวนรักษาและใช้ทรัพย์สินของตนด้วย  เพราะเมื่อผู้มีสิทธิไถ่มาขอไถ่คืน  ตามมาตรา  501  ได้กำหนดหน้าที่ผู้ซื้อไว้ว่า  ทรัพย์สินที่ผู้มีสิทธิไถ่ใช้สิทธิไถ่คืนนั้น  ผู้ซื้อต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่  แต่หากปรากฏว่าทรัพย์สินนั้นถูกทำลาย  หรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อ  ผู้ซื้อจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ไถ่ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายลมนำบ้านและที่ดินไปขายฝากนายไฟไว้ในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่ภายใน  1  ปี  ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นนั้น  เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ชอบด้วยกฎหมาย  (มาตรา  491  ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก)  นายไฟผู้ซื้อจึงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินและมีหน้าที่สงวนรักษาทรัพย์สินนั้นอย่างวิญญูชนทั่วไปจะพึงสงวนรักษาและใช้ทรัพย์สินของตน

ดังนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายไฟได้รื้อบ้านส่วนหนึ่งและนำไปเผาไฟทิ้ง  จึงถือเป็นกรณีที่นายไฟผู้ซื้อมิได้ใช้สอยและสงวนรักษาทรัพย์สินที่ซื้อฝากอย่างวิญญูชนทั่วไปจะพึงรักษาและใช้ทรัพย์สินของตน  และทำให้ทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของนายไฟผู้ซื้อเอง  ดังนั้น  เมื่อนายลมมาไถ่บ้านคืน  เจอสภาพบ้านและห้องสุดรักสุดหวงถูกทำลายไป  นายลมจึงมีสิทธิฟ้องให้นายไฟรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ตามมาตรา  501  เพราะถือว่า  นายไฟส่งคืนบ้านและที่ดินซึ่งบ้านถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของนายไฟผู้ซื้อ

สรุป  นายลมมีสิทธิฟ้องให้นายไฟรับผิดชอบได้

Advertisement