การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 กฎเกณฑ์หรือวิธีการในการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดีและบรรดารัฐมนตรี) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส มีข้อแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
กฎเกณฑ์หรือวิธีการในการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดีและบรรดารัฐมนตรี) ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศฝรั่งเศส มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้คือ
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม โดยประชาชนชาวอเมริกันทั้ง 50 รัฐ จะเป็นผู้ออกเสียงลงคะแนนเลือกคณะผู้เลือกตั้งใหญ่มีจำนวนทั้งสิ้น 538 คน โดยจะเลือกจากบุคคลที่ถูกพรรคการเมืองทั้งสองพรรคคือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เสนอเป็นบัญชีรายชื่อเพื่อให้ประชาชนในแต่ละมลรัฐเลือก และเมื่อรวมคะแนนทั่วทั้ง 50 รัฐแล้ว พรรคใดได้คะแนนคือได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เกินกึ่งหนึ่ง พรรคนั้นก็จะได้ผู้ลงสมัครของพรรคนั้นเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จากนั้นประธานาธิบดีก็จะทำการแต่งตั้งรัฐมนตรีจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยบริหารงานของประเทศ โดยความเห็นชอบของวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ
ในประเทศฝรั่งเศส ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเลือก ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมด ถ้าไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงตามเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะต้องให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 2 อันดับแรกมาแข่งขันกันใหม่ในรอบที่ 2 และผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในรอบที่ 2 ก็จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แล้วประธานาธิบดีก็จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องไปแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความไว้วางใจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามหลักของระบบรัฐสภา
ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยไม่มีข้อกำหนดว่าจะดำรงตำแหน่งได้กี่วาระ
ข้อ 2 แนวคิดทฤษฎีของรุสโซ (Rousseau) ที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” หมายถึงอะไร และมีผลตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร การปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะทหารกลุ่มหนึ่งโดยอ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยนั้น จะขัดต่อทฤษฎีดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ตามทฤษฎีของรุสโซ (Rousseau) ที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” นั้น หมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแต่ละคนที่รวมกันอยู่ในรัฐ ประชาชนหรือราษฎรแต่ละคนจึงมีส่วนในการมอบอำนาจในลักษณะที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้เลือกผู้แทนขึ้น และก่อให้เกิดผลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนี้คือ
1 ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครองทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออก ซึ่งส่วนแห่งอำนาจอธิปไตยของตนอันนำมาซึ่งหลักที่เรารู้จักกันดีคือ “การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง” (Universal Suffrage) เพราะถือว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน มิใช่เป็นหน้าที่จึงไม่อาจจำกัดสิทธิได้ดังที่รุสโซกล่าวว่า “สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรมาพรากไปจากประชาชนได้”
2 การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนนั้นเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง
ดังนั้น การปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะทหารกลุ่มหนึ่งโดยอ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยนั้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อทฤษฎีของรุสโซดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3 ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยและเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาแล้วจะไปเป็นผู้นำของคนในสังคม
จงอธิบายอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับที่มาของอำนาจ การใช้อำนาจ การควบคุมตรวจสอบอำนาจ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
ธงคำตอบ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดเกี่ยวกับที่มาของอำนาจ การใช้อำนาจ การควบคุมตรวจสอบอำนาจ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไว้ดังนี้ คือ
ที่มาของอำนาจ
1 อำนาจนิติบัญญัติ มี “รัฐสภา” เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
“สภาผู้แทนราษฎร” ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน
“วุฒิสภา” ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
2 อำนาจบริหาร มี “คณะรัฐมนตรี” เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งคน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
3 อำนาจตุลาการ มี “ศาล” เป็นองค์กรที่ชิอำนาจตุลาการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 10 ว่า ศาลมี 4 ศาล ได้แก่
(1) ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหนึ่งคน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
(2) ศาลยุติธรรม ซึ่งมีสามชั้น ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
(3) ศาลปกครอง และ
(4) ศาลทหาร
การใช้อำนาจ
1 อำนาจนิติบัญญัติ ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง หรือกฎหมายอื่นๆ มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ เช่น ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เป็นต้น มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น
2 อำนาจบริหาร ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้
3 อำนาจตุลาการ ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งแต่ละศาลจะมีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายแตกต่างกัน
การควบคุมตรวจสอบ
1 อำนาจนิติบัญญัติ อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร เช่น การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้
2 อำนาจบริหาร อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เป็นต้น
3 อำนาจตุลาการ การใช้อำนาจตุลาการนั้น อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ
ข้อ 4 ในการพิจารณาคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติของรัฐสภา ของศาลจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีนายเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำเลยในคดี โดยนายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลจังหวัดชลบุรีเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า นายเอกเป็นผู้บริโภคตามมาตรา 61 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 หรือไม่ และการพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติของศาลจังหวัดชลบุรีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนี้ หากท่านเป็นศาลซึ่งพิจารณาคดีนี้ จะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 131 วรรคสาม “ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก”
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
วินิจฉัย
ประเด็นที่ 1 การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า นายเอกเป็นผู้บริโภคตามมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 หรือไม่นั้น ไม่ใช่การโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 211 ดังนั้นศาลจังหวัดชลบุรีจึงไม่ต้องส่งคำร้องโต้แย้งของนายเอกไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายเอกร้องขอ
ประเด็นที่ 2 ตามมาตรา 131 วรรคสาม ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมสภามิได้นั้น ใช้บังคับเฉพาะในกรณีการพิจารณาคดีอาญาเท่านั้น ไม่ใช้บังคับกับการพิจารณาคดีแพ่ง ดังนั้นเมื่อตามอุทาหรณ์ เป็นการพิจารณาคดีแพ่ง จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 131 วรรคสาม แต่อย่างใด ศาลจังหวัดชลบุรีสามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปได้
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของนายเอกไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายเอกร้องขอ และจะดำเนินการพิจารณาคดีนั้นต่อไป