การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงโครงสร้างของรัฐ  ระบบการปกครอง  และการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักของประเทศสหรัฐอเมริกา  มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

ประเทศสหรัฐอเมริกา  ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น  ที่เรียกว่า  สหพันธรัฐ  หรือเรียกสั้นๆว่า  สหรัฐ  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก  รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ  ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน  โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า  รัฐธรรมนูญใหม่  หรือ  รัฐธรรมนูญกลาง

ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  มี  2  ประการ  คือ

1       ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

2       มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  กล่าวคือ  เป็นอิสระจากกัน  ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน  ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร  สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน

การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา  มีดังนี้

ก.      สถาบันนิติบัญญัติ  (สภาคองเกรส)

รัฐสภาอเมริกัน  เรียกว่า  สภาคองเกรส (Zcongress)  ประกอบด้วย  2  สภา คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  แบบเสียงข้างมากรอบเดียว  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  2  ปี  มีจำนวนทั้งสิ้น  435  คน  รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน  ดี.ซี.  อีก  3  คน  ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด  438 คน

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  คือ  ต้องมีอายุ  25  ปีขึ้นไป  และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย  7  ปี

2       สภาสูงหรือวุฒิสภา  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  2  คนต่อ  1  มลรัฐ  รวมทั้งสิ้นจำนวน  100 คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  6  ปี  แต่สมาชิก  1  ใน  3  ของทั้งหมดจะต้องถูกจับสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ  2  ปี  ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ  ต้องมีอายุตั้งแต่  30  ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว  9  ปีขึ้นไป

สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่  นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี  ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ  เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร

อำนาจหน้าที่ของสภาคองเกรส

1       อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ  ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน  ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร

2       อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส  หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ

3       อำนาจในการเลือกตั้งแทน  เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี  และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน  กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี

4       อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส  เช่น  ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา

อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา

1       ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ

2       ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง  2  ใน  3

ข.      สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด  ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง  โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ  อยู่เพียง  2  พรรค  คือ  พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต  ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  กล่าวคือ  ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง  เรียกว่า  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  (Big  Elector)  เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี  ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ  “Ticket”  เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน  มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่  1 

พรรคการเมืองทั้ง  2  พรรคดังกล่าว  จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ  ซึ่งมีทั้งหมด  50  มลรัฐ  เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ  Convention  เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว  ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ขั้นตอนที่  2 

กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่  ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน  ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อย่างเช่น  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30  คน  และสมาชิกวุฒิสภาอีก  2  คน  ดังนั้นรวมแล้วได้  32  คน  ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ  32  รายชื่อ  เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา  ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด  ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น  และจะต้องเลือกทั้ง  32  คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น  เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่

สำหรับ  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  นั้นมีทั้งหมด  538  คน  ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  (435 + 3 + 100 )  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด  คือ  จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป

ดังนั้นจะเห็นว่า  หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก  50  มลรัฐของแต่ละพรรค  ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง  270  เสียง  คือ  เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด  (กึ่งหนึ่ง  269)  ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่  3

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน  538  คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน  ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป  ก็หมายความว่า  ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส  จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร

วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี  ก็คือ  4  ปี  ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง  รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่  และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี

ค.      สถาบันตุลาการ  (ศาลยุติธรรมสูงสุด)

ศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้แก่

1       ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด  หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง

2       พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต  กงสุล  รัฐมนตรี  หรือรัฐสมาชิก

 

ข้อ  2  การยุบสภาคืออะไร  และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบสภาไว้อย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ความหมายของ  “การยุบสภา”  นั้น  ในทางทฤษฎี  หมายถึง  มาตรการของฝ่ายบริหารในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ  อันมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมีอันสิ้นสุดลง

อำนาจในการยุบสภานี้  ถือว่าเป็นสาระสำคัญของระบอบปกครองแบบรัฐสภา  ซึ่งมีการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ  กล่าวคือ  ฝ่ายบริหารสามารถยุบสภาได้  และฝ่ายนิติบัญญัติสามารถลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  (ฝ่ายรัฐบาล)  ได้

การยุบสภานั้น  อาจเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ  ดังนี้  คือ

1       ในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ  ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้  จึงจำเป็นต้องยุบสภา  เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกต้อง

2       ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า  ในขณะที่จะยุบสภานั้น  คะแนนนิยมของรัฐบาลกำลังดี  และหากมีการเลือกตั้งใหม่ในขณะนั้น  ฝ่ายรัฐบาลจะมีโอกาสได้รับชัยชนะ  ได้ที่นั่งในสภามากมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีก  จึงทำการยุบสภาเสีย

สำหรับการยุบสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550นั้น  มีบัญญัติไว้ในมาตรา  108  ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร  และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

จากบทบัญญัติดังกล่าว  การยุบสภานั้น  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้  คือ

1       การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  และจะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ  ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น

2       การยุบสภาผู้แทนราษฎร  ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา  และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ย่อมมีผลเป็นการยุบสภาทันที

3       ในการยุบสภาตามข้อ  2  ต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่  เป็นการเลือกตั้งทั่วไป  ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า  45  วัน  แต่ไม่เกิน  60  วัน  นับแต่วันยุบสภา  และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

4       การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน  กล่าวคือ  ถ้าหากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง  จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้

5       การยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่จะกระทำลงก่อนครบกำหนดวาระของสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวคือ  จะกระทำในเวลาใดก็ได้ในช่วงก่อนสภาผู้แทนราษฎรมีวาระครบ  4  ปี

6       ในกรณีที่ได้มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้  (มาตรา  158  วรรคแรก)

 

ข้อ  3  จงอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ธงคำตอบ

อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้  คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  480  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  400  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน  80  คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การคำนวณจำนวนสมาชิกฯ  ให้นำจำนวนราษฎรทั้งประเทศในปีก่อนปีที่มีการเลือกตั้งหารด้วย  400  จะได้เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน  3  คน  ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  แต่ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน  3  คน  ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  3  คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน

–                     ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น

–                    เขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน  ให้แบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น  8  กลุ่มจังหวัด  โดยจัดจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน  และให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  แต่ละเขตเลือกตั้งให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้  10  คน

2       วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา

การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง  ประกอบด้วย

(1)  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

(2) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

(4) ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(5) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย  1  คน

(7) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย  1  คน

 

ข้อ  4  นายเอกและนายโท  ซึ่งเป็นรัฐมนตรีฯ  ได้ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จำนวน  200  คน  เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง  เนื่องจากได้กระทำการเป็นแกนนำในการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ  อันเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ  และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ  ต่อมาประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)  พิจารณา   ซึ่งคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  พิจารณาแล้วเห็นว่า  มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ  ร่างพระราชบัญญัติฯตามคำร้องขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  และการกระทำของนายเอกและนายโทในการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  คณะกรรมการ  ป.ป.ช.  เห็นว่ากรณีดังกล่าวมิใช่อำนาจหน้าที่ของตน  แต่กรณีนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ  จึงได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ตามรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องของคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ไว้พิจารณาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

 มาตรา  154  ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาเห็นชอบแล้ว  ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา  150  หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา  151  ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง

(1)    หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า  1  ใน  10  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้  หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา  หรือประธานรัฐสภา  แล้วแต่กรณี  แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าว  ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย  และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา  214  ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา  คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป  ให้ประธานรัฐสภา  นายกรัฐมนตรี  หรือองค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่คณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณา  ซึ่งเรื่องที่ส่งไปนั้นมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอยู่  2  ประเด็น  คือ  ประเด็นแรก  ร่างพระราชบัญญัติฯตามคำร้องขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  และประเด็นที่สอง  คณะกรรมการ  ป.ป.ช.  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่า  การกระทำของนายเอกและนายโทในการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ  ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  กรณีดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องของคณะกรรมการ  ป.ป.ช. ไว้พิจารณาได้หรือไม่  เห็นว่า

ประเด็นแรก  โดยปกติศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติฯ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามมาตรา  154(1) แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้นั้น  ต้องเป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา  หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  และได้ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย  แต่ตามข้อเท็จจริง  ผู้ที่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญคือคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้อำนาจไว้แต่อย่างใด  ดังนั้นกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ไว้พิจารณาไม่ได้

ประเด็นที่สอง  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ  ตามที่องค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา  214  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป  แต่ตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่า  เป็นเรื่องที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียวคือ  คณะกรรมการ  ป.ป.ช. เท่านั้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่  ซึ่งมิใช่กรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป  กรณีดังกล่าวจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  214  ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ไว้พิจารณาไม่ได้

สรุป  ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องของคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ไว้พิจารณา

Advertisement