การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงโครงสร้างของประเทศ ระบบการปกครอง และการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักของประเทศสหรัฐอเมริกามาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น ที่เรียกว่า “สหพันธรัฐ” หรือเรียกสั้นๆว่า “สหรัฐ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญใหม่” หรือ “รัฐธรรมนูญกลาง”
ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี มี 2 ประการ คือ
1 ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
2 มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กล่าวคือ เป็นอิสระจากกัน ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน
การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
ก สถาบันประมุขแห่งรัฐ
สถาบันประมุขแห่งรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม กล่าวคือ ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้
สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป
วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ก็คือ 4 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ไม่เกิน 2 สมัย ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี
ข. สถาบันนิติบัญญัติ (สภาคองเกรส)
รัฐสภาอเมริกัน เรียกว่า “สภาคองเกรส” (congress) ประกอบด้วย 2 สภา คือ
1 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แบบเสียงข้างมากรอบเดียว มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 435 คน รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน ดี.ซี.” อีก 3 คน ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด 438 คน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการยื่นญัตติเพื่ออภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจทั้งตัวประธานาธิบดีและบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีก็ไม่มีอำนาจยุบสภา
2 สภาสูงหรือวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 2 คนต่อ 1 มลรัฐ รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่สมาชิก 1 ใน 3 ของทั้งหมดจะต้องถูกจับสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ 2 ปี ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ค สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งหลายด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา
ง สถาบันตุลาการ (ศาลยุติธรรมสูงสุด)
ศาลสูงสุดของอเมริกา ประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 9 คน มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูง (หรือวุฒิสภา)
ข้อ 2 ให้อธิบายถึงระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ พร้อมทั้งอธิบายถึงวิธีการจัดตั้งสถาบันบริหารของประเทศดังกล่าวในปัจจุบันมาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
1 ระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ
รูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษในปัจจุบัน เป็นรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภาแบบสองพรรคการเมือง (พรรคอนุรักษนิยมและพรรคกรรมกร) ซึ่งเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีการกำหนดมาตรการในการโต้ตอบ ล้มล้างซึ่งกันและกัน เช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งการจัดรูปองค์กรการปกครองของอังกฤษไม่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เพราะอังกฤษใช้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
2 สถาบันของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ของประเทศอังกฤษ
การจัดรูปองค์กรของฝ่ายบริหารของอังกฤษนั้นเป็นแบบฝ่ายบริหารที่แบ่งเป็นสององค์กร คือ มีการแยกองค์กรประมุขของรัฐซึ่งก็คือกษัตริย์ กับองค์กรที่เป็นฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าออกจากกัน ในขอบเขตอำนาจฝ่ายบริหารนั้น รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านี้โดยคณะรัฐมนตรีผู้ที่จะรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งมีทั้งความรับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะและความรับผิดชอบในส่วนของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แต่ละคนด้วย แม้ว่ากษัตริย์ทรงมีฐานะอยู่ในส่วนของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วยก็ตาม แต่ก็จะเป็นเพียงฐานะอย่างเป็นทางการ ไม่ได้ทรงใช้อำนาจอย่างแท้จริงด้วยพระองค์เอง
การจัดตั้งฝ่ายบริหารของประเทศอังกฤษนั้น เริ่มจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่พรรคนั้นชนะการเลือกตั้งและมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะจัดตั้งรัฐบาลโดยคัดเลือกจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคเดียวกับตนและบางส่วนจากสมาชิกวุฒิสภา แล้วนำคณะรัฐบาลไปแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความไว้วางใจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง ก็มักจะได้แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากนายกรัฐมนตรี แต่วุฒิสภาบางท่านก็อาจได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน หากว่าวุฒิสมาชิกท่านนั้นมี
ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีความจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องมีวุฒิสมาชิกมาเป็นรัฐมนตรีด้วย
ข้อ 3 จงอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
– องค์ประกอบของรัฐสภา
– ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ
– การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจทั้งสาม
ธงคำตอบ
1 องค์ประกอบของรัฐสภา
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (มาตรา 88) รัฐสภาประกอบไปด้วยสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎรจะประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน (มาตรา 93 วรรคแรก)
วุฒิสภาจะประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน (มาตรา 111 วรรคแรก)
2 ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ
1 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดยเป็นสมาชิก
– มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน
– มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ 125 คน
(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน
การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ให้คำนวณจากราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง (หาร) ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 375 คน
จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ที่คำนวณได้นั้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ก็ให้มีสมาชิกฯได้ 1 คน จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ให้มีสมาชิกฯในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน
จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกฯที่พึงมี โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกฯ 1 คน (มาตรา 94)
(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้เลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 95)
บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 95 ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชีไม่เกินบัญชีละ 125 คน และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 96)
การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 98)
2 วุฒิสภา (ส.ว.)
วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก
– การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
– การสรรหา รวม 74 คน
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(1) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
(2) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
(4) ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(5) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 1 คน
(7) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย 1 คน
หมายเหตุ
ปัจจุบันประเทศไทยเมื่อนับรวมกรุงเทพมหานครด้วยจะมี 77 จังหวัด ดังนั้นในการเลือกตั้งและสรรหาวุฒิสภาครั้งต่อไป จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน จึงมี 77 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจะมี 73 คน
3 การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจทั้งสาม
1 อำนาจนิติบัญญัติ อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร เช่น การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้
2 อำนาจบริหาร อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เป็นต้น
3 อำนาจตุลาการ การใช้อำนาจตุลาการนั้น อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ
ข้อ 4 ตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 72 บัญญัติให้ “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” แต่ปรากฏว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา นายแดงหัวหน้าพรรคไทสันติและกรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งในครั้งนั้น จึงต่อต้านโดยการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคไทยสันติได้ประกาศนโยบายไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะแม้มีการเลือกตั้งก็จะได้นักการเมืองกลุ่มเดิมกลับมา ซึ่งไม่ก่อผลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่อย่างใด ถือเป็นการหลอกเอาประชาชนเป็นเครื่องมือในทางการเมือง จึงได้ติดประกาศ แจกแผ่นปลิว และให้สมาชิกพรรคฯ ปราศรัยในที่สาธารณะเรียกร้องให้ประชาชนร่วมสนับสนุนนโยบายของพรรคฯ โดยการร่วมมือกันไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งฯ ที่จะถึงนี้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของนายแดงและกรรมการบริหารพรรคฯ ที่ไม่ได้ไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง และการกระทำของพรรคไทสันติที่มีนโยบายและรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ในกรณีหนึ่งกรณีใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 28 วรรคแรก บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
มาตรา 45 วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
มาตรา 65 วรรคแรกและวรรคสอง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 72 วรรคแรก บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอยู่ 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 การกระทำของนายแดงและกรรมการบริหารพรรคฯ ที่ไม่ได้ไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ กรณีที่นายแดงหัวหน้าพรรคไทสันติและกรรมการบริหารพรรคฯไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส. ในครั้งที่ผ่านมาจึงต่อต้านโดยการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 นั้น จะเห็นได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 72 จะบัญญัติให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของบุคคลก็ตาม การกระทำของนายแดงและกรรมการบริหารพรรคฯ ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยการใช้สิทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 28 วรรคแรก แต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 การกระทำของพรรคไทสันติที่มีนโยบายและรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยทั่วไปการที่บุคคลได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความเห็นอันหนึ่งอันใดของตนต่อสาธารณะย่อมสามารถที่จะกระทำได้ (ตามมาตรา 45 วรรคแรก) แต่การที่พรรคไทสันติได้กระทำการโดยการติดประกาศ แจกแผ่นปลิว และให้สมาชิกพรรคฯ ปราศรัยในที่สาธารณะเรียกร้องให้ประชาชนร่วมสนับสนุนนโยบายของพรรคฯ โดยการร่วมมือกันไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น การเรียกร้องมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้งของพรรคไทสันติ ถือว่าเป็นการดำเนินการทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ตามมาตรา 2 วรรคแรกประกอบกับมาตรา 65 วรรคแรกและวรรคสอง) ดังนั้นการกระทำของพรรคไทสันติที่เรียกร้องมิให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นการกระทำซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 28 วรรคแรก
สรุป การกระทำของนายแดงและกรรมการบริหารพรรคฯ ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำของพรรคไทสันติ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ