การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงระบบการปกครอง และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศส
ธงคำตอบ
ระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส เป็นการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เนื่องจากมีการนำเอาหลักการของระบบการปกครองทั้งระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ และระบบประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกามาผสมผสานใช้ร่วมกัน เช่น หลักที่ประมุขของประเทศ คือ ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่นในระบบรัฐสภา
วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสนั้น ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง (โดยมีวาระ 5 ปี) ด้วยเกณฑ์ของการนับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (คือเกินกึ่งหนึ่ง) ถ้าไม่มีผู้ใดได้คะแนนตามเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะให้ผู้ที่ได้คะแนนในอันดับที่ 1 และ 2 มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สอง ด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา เมื่อได้ตัวประธานาธิบดีแล้ว ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แล้วมอบให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะต้องไปแถลงนโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่
สำหรับสมาชิกรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศสนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวน 577 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยตรงด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ซึ่งมีทั้งหมด 577 เขต (ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบแบ่งเขต เขตละหนึ่งคน) ถ้าในเขตเลือกตั้งใดไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ก็จะต้องให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่ 1 และที่ 2 มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สองด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้นจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยคณะบุคคลที่ทำการเลือก ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหลาย โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 321 คน และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และทุกๆ 3 ปี จะมีการจับสลากออก 1 ใน 3 เพื่อเลือกตั้งใหม่
ข้อ 2 จงอธิบายถึงสาระสำคัญของ “หลักการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” (Vorrang der Verfassung)
ธงคำตอบ
รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ได้บัญญัติกฎเกณฑ์การปกครองประเทศไว้ เช่น การบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ การทำหน้าที่นิติบัญญัติ หน้าที่บริหาร หน้าที่ตุลาการ ฯลฯ และเป็นกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้นตามวิธีการที่กำหนดเป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญและถือว่าเป็นหลักการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้หลายมาตรา เช่น
มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มาตรา 6 ได้บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 69 ได้บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 211 ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 (ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ) และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
มาตรา 245(1) ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
มาตรา 291 ซึ่งได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ ทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายที่แก้ไขได้ยาก เช่น ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
(1) ญัตติขอแก้ไขต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้วแต่กรณี หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน และถ้าญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ก็จะเสนอมิได้
(2) ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ คือ วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ วาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา และวาระที่สามเป็นการลงคะแนนให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(3) เมื่อได้ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ก็จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ข้อ 3 นางทองและพวกรวม 20 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอจัดตั้ง “พรรคมิตรสตรี” โดยมีนโยบายหลักของพรรคคือการเรียกร้องและสนับสนุนให้มีการคุ้มครองสิทธิสตรีมากกว่าชาย ปรากฏว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ปฏิเสธการรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรค
โดยแจ้งเป็นหนังสือแก่นางทองและพวกว่าเนื่องจากนโยบายของพรรคมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของบุคคล ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 30 นั้นบัญญัติให้ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”
ดังนี้ ท่านเห็นว่าการปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากนางทองและพวกเห็นว่าการปฏิเสธดังกล่าวของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นางทองและพวกจะใช้สิทธิในทางศาลต่อศาลใดได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 28 วรรคสอง บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 13 วรรคท้าย ผู้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียน อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งตามวรรคสามต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบกับหลักกฎหมายดังกล่าวแล้ว วินิจฉัยได้ ดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 การที่นางทองและพวกได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้ง “พรรคมิตรสตรี” นั้น ย่อมสามารถที่จะกระทำได้ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง
และในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองของนางทองและพวกโดยมีนโยบายหลักของพรรคคือ การเรียกร้องและสนับสนุนให้มีการคุ้มครองสิทธิสตรีมากกว่าชายนั้น การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคมิตรสตรีของนางทองและพวก รวมทั้งนโยบายของพรรคในกรณีดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญฯตามมาตรา 28 วรรคแรก และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด เป็นเพียงการเสนอแนวคิดความเห็นเชิงนโยบายของพรรคเท่านั้น ดังนั้นการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ปฏิเสธการรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคของนางทองและพวกจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 2 เมื่อการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองของนางทองและพวกตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง นางทองและพวกจึงสามารถใช้สิทธิในทางศาลได้ตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 13 วรรคท้าย โดยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวจากนายทะเบียนพรรคการเมือง
สรุป การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และนางทองและพวกสามารถใช้สิทธิในทางศาลต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ข้อ 4 ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า นายสมใจเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ต่อมามีบุคคลได้ร้องเรียนว่า นายสมใจได้ทุจริตซื้อเสียงโดยได้จ่ายเงินจำนวน 1 แสนบาท ให้แก่นายแดงกำนันตำบลห้วยใสเพื่อไปซื้อเสียงกับประชาชนในตำบล ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการสอบสวนและได้ตัดพยานบุคคลที่นายสมใจอ้างมาทั้งหมด โดยวินิจฉัยว่า นายสมใจได้ทุจริตในการเลือกตั้งจริง จึงให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายสมใจเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ตัดพยานของตนออกไปทั้งหมด และยังไม่ได้เรียกนายแดงพยานสำคัญมาสอบสวนแต่อย่างใด ซึ่งเป็นพยานที่มีผลต่อการวินิจฉัยในเรื่องนี้ ดังนั้นหากนายสมใจประสงค์ที่จะใช้สิทธิในทางศาล เพื่อที่จะขอให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสอบสวนในเรื่องนี้ใหม่ และให้เรียกนายแดงพยานสำคัญเข้ามาทำการสอบสวนด้วย ดังนี้ นายสมใจจะใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่ และศาลใดจะมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 239 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นด้วยโดยอนุโลม
วินิจฉัย
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ และหลักกฎหมายมาตรา 239 แห่งรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด
ดังนั้น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการสอบสวนนายสมใจ กรณีที่นายสมใจได้กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง และได้วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายสมใจ และให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมเป็นที่สุด นายสมใจไม่อาจฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
สรุป คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด นายสมใจจะใช้สิทธิในทางศาลใดๆไม่ได้