การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงโครงสร้าง  รูปการปกครอง  และการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักของประเทศสหรัฐอเมริกามาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

ประเทศสหรัฐอเมริกา  ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น  ที่เรียกว่า  สหพันธรัฐ  หรือเรียกสั้นๆว่า  สหรัฐ  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก  รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ  ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน  โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า  รัฐธรรมนูญใหม่  หรือ  รัฐธรรมนูญกลาง

ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี  มี  2  ประการ  คือ

1       ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

2       มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  กล่าวคือ  เป็นอิสระจากกัน  ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน  ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร  สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน

การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา  มีดังนี้

ก.      สถาบันนิติบัญญัติ  (สภาคองเกรส)

รัฐสภาอเมริกัน  เรียกว่า  สภาคองเกรส (Zcongress)  ประกอบด้วย  2  สภา คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  แบบเสียงข้างมากรอบเดียว  มีวาระในการดำลงตำแหน่ง  2  ปี  มีจำนวนทั้งสิ้น  435  คน  รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน  ดี.ซี.  อีก  3  คน  ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด  438 คน

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  คือ  ต้องมีอายุ  25  ปีขึ้นไป  และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย  7  ปี

2       สภาสูงหรือวุฒิสภา  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  2  คนต่อ  1  มลรัฐ  รวมทั้งสิ้นจำนวน  100 คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  6  ปี  แต่สมาชิก  1  ใน  3  ของทั้งหมดจะต้องจับถูกสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ  2  ปี  ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ  ต้องมีอายุตั้งแต่  30  ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว  9  ปีขึ้นไป

สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่  นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี  ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ  เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร

อำนาจหน้าที่ของสภาเกรส

1       อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ  ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน  ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร

2       อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส  หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ

3       อำนาจในการเลือกตั้งแทน  เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี  และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน  กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี

4       อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส  เช่น  ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา

อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา

1       ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ

2       ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง  2  ใน  3

ข.      สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด  ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง  โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ  อยู่เพียง  2  พรรค  คือ  พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต  ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม  กล่าวคือ  ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง  เรียกว่า  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  (Big  Elector)  เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี  ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ  “Ticket”  เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน  มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่  1 

พรรคการเมืองทั้ง  2  พรรคดังกล่าว  จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ  ซึ่งมีทั้งหมด  50  มลรัฐ  เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ  Convention  เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว  ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ขั้นตอนที่  2 

กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่  ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน  ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อย่างเช่น  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30  คน  และสมาชิกวุฒิสภาอีก  2  คน  ดังนั้นรวมแล้วได้  32  คน  ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ  32  รายชื่อ  เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา  ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด  ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น  และจะต้องเลือกทั้ง  32  คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น  เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่

สำหรับ  คณะผู้เลือกตั้งใหญ่  นั้นมีทั้งหมด  538  คน  ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  (435 + 3 + 100 )  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด  คือ  จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป

ดังนั้นจะเห็นว่า  หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก  50  มลรัฐของแต่ละพรรค  ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง  270  เสียง  คือ  เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด  (กึ่งหนึ่ง  269)  ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่  3

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน  538  คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน  ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่  270  เสียงขึ้นไป  ก็หมายความว่า  ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส  จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร

วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี  ก็คือ  4  ปี  ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง  รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่  และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี

ค.      สถาบันตุลาการ  (ศาลยุติธรรมสูงสุด)

ศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา  ได้แก่

1       ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด  หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง

2       พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต  กงสุล  รัฐมนตรี  หรือรัฐสมาชิก

 

ข้อ  2  ให้อธิบายถึงรูปการปกครองของประเทศไทย  และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของสถาบันนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2550) มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ 

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  (ฉบับปัจจุบัน)   กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การปกครองในระบบรัฐสภา  เป็นระบบการปกครองที่องค์กรซึ่งใช้อำนาจในทางการเมืองทั้ง  2  องค์กร  คือ  ฝ่ายนิติบัญญัติ  และฝ่ายบริหาร  มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยกันในการปฏิบัติหน้าที่  รวมทั้งมีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันด้วย

การปกครองในระบบรัฐสภานั้นมีหลักการที่สำคัญคือ  ฝ่ายบริหารต้องมีความรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  ฝ่ายบริหารมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินก็โดยอาศัยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจ  เมื่อนั้นถือได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติต้องการถอดถอนฝ่ายบริหาร

การรับผิดชอบในทางการเมืองของฝ่ายบริหารนั้นจำกัดเฉพาะคณะรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการอย่างแท้จริงเท่านั้น  องค์ประมุขของรัฐไม่ต้องรับผิดชอบในทางการเมืองแต่อย่างใด

การแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัตินี้  อาจจะเป็นการกระทำโดยตรงซึ่งได้แก่  การที่สภานิติบัญญัติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อฝ่ายบริหารหรืออาจจะเป็นการกระทำทางอ้อม  ซึ่งได้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายสำคัญที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาอนุมัติ  เช่น  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี  เป็นต้น  นอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติยังมีอำนาจตั้งกระทู้ถามต่อฝ่ายบริหารได้อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามการปกครองในระบบรัฐสภานั้น  ถึงแม้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจถอดถอนฝ่ายบริหารด้วยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจ  ในทำนองเดียวกันฝ่ายบริหารก็มีมาตรการโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติ  ในกรณีที่ฝ่ายบริหารเชื่อมั่นว่าฝ่ายบริหารกระทำการด้วยความถูกต้องตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชน  กล่าวคือ  ฝ่ายบริหารมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ  (รัฐสภา)  ของไทยนั้น  ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ซึ่งมีที่มาหรือวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งดังนี้คือ

ก.      สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

1       สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  480  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  400 คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน  80  คน  (มาตรา 93)

2       การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

–  การคำนวณจำนวนสมาชิกฯ  ให้นำจำนวนราษฎรทั้งประเทศในปีก่อนปีที่มีการเลือกตั้งหารด้วย  400  จะได้เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  เช่น  จังหวัด   ก.   มีราษฎร  472,500  คน  ดังนั้นสามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้  3  คน  เป็นต้น

– จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน  3  คน  ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  แต่ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน  3  คน  ให้แบ่งเขตจังหวัดออดเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  3  คน (มาตรา  94)

3       การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน

 

–                    ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น  โดยพรรคการเมืองหนึ่งจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้งหรือจะส่งเพียงบางเขตเลือกตั้งก็ได้  ทั้งนี้รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนต้องไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต  และต้องคำนึงถึงโอกาสสัดส่วนที่เหมาะสม  และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย  (มาตรา 95 , 97 )

–                    เขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน  ให้แบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น  8  กลุ่มจังหวัด  โดยจัดจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน  และให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  แต่ละเขตเลือกตั้งให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้  10  คน  (มาตรา 96)

–                    ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในเขตเลือกตั้งนั้นมารวมกัน  แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง  เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น  คะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ  และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้งนั้น  (มาตรา  98)

ข.      วุฒิสภา  (ส.ว.)

1       วุฒิสภา (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                    การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน (มาตรา  111)

2       การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 

ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา (มาตรา 112)

3       การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง  ประกอบด้วย

(1) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

(2) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

(4) ประธานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(5) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 1 คน

(7) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย 1 คน (มาตรา 113)

 

ข้อ  3  นายบาบู  ซึ่งถือศาสนาฮินดูและเป็นเจ้าของร้านอาหาร  อินเดียเลิศรส  ไม่พอใจที่มีกลุ่มชาวพุทธส่วนหนึ่งเคยไปเรียกร้องให้มีการบัญญัติ  ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ  ไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550  จึงได้นำป้ายมาปิดประกาศหน้าร้านอาหารของตน  

ห้ามบุคคลซึ่งถือศาสนาพุทธเข้ามาทานอาหารภายในร้าน  ต่อมานายเอกบุคคลสัญชาติไทยและนายหม่องบุคคลสัญชาติพม่าซึ่งต่างก็ถือศาสนาพุทธได้มาทานอาหารที่ร้านของนายบาบู  แต่ถูกนายบาบูห้ามเข้ามาในร้านและชี้ให้ดูป้ายที่ตนได้ปิดประกาศไว้  ดังนั้นให้ท่านวินิจฉัยว่า

กรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2550  ของนายเอกและนายหม่องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  28  วรรคสอง  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา  37  บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา  นิกายของศาสนา  หรือลัทธินิยมในทางศาสนา  และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม  ศาสนบัญญัติ  หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน  เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง  บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆอันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้  เพราะเหตุที่ถือศาสนา  นิกายของศาสนา  ลัทธินิยมในทางศาสนาหรือปฏิบัติตามศาสนธรรม  ศาสนบัญญัติ  หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อ  แตกต่างจากบุคคลอื่น

วินิจฉัย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  วางหลักในมาตรา  37  ให้บุคคลทุกคนมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา  นิกายของศาสนา  หรือลัทธินิยมในทางศาสนา  โดยกำหนดให้เป็น  เสรีภาพบริบูรณ์  หมายถึง  เสรีภาพอันไม่มีข้อจำกัดหรือไม่อาจมีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้เลย  แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าการใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาดังกล่าว  จะใช้ได้เท่าที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น  ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือรัฐธรรมนูญ  ละไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อใดก็ตามที่บุคคลรู้ว่าถูกละเมิดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้  เช่น  เสรีภาพในการนับถือศาสนา  ก็สามารถยกบทบัญญัติมาตรา  28  วรรคสอง  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550 มาใช้  สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ทันที

อย่างไรก็ดีการจะยกบทบัญญัติดังกล่าว  เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้  จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำระหว่างรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน  เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายมหาชน

กรณีตามอุทาหรณ์  ไม่ถือเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา  ตามมาตรา  37  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  เพราะเหตุว่าการที่นายบาบูนำป้ายมาปิดประกาศหน้าร้านอาหารของตน  ห้ามบุคคลซึ่งนับถือศาสนาพุทธเข้ามาทานอาหารภายในร้าน  เป็นสิทธิของผู้ขายตามกฎหมายเอกชนซึ่งสามารถกระทำได้  ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญาผูกนิติสัมพันธ์  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนิติสัมพันธ์โดยฝ่ายนั้นไม่สมัครใจยินยอมไม่ได้  ดังนั้นผู้ขายจึงสามารถเลือกปฏิบัติต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้  เช่น  การที่ไม่ขายสินค้าให้คนผิวดำ  แต่ขายเฉพาะให้กับคนผิวขาว  หรือขายให้กับเพศชาย  แต่ปฏิเสธเพศหญิง  เช่นนี้เอกชนย่อมมีสิทธิทำได้  ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ  เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช้บังคับโดยตรงในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน

เมื่อไม่เป็นการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญ  นายเอกและนายหม่องจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้  ตามมาตรา  28  วรรคสอง

สรุป  กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  28  วรรคสอง  และมาตรา  37  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550

 

ข้อ  4  ในการพิจารณาคดีของศาลอาญา  นายแดงจำเลยในคดีได้โต้แย้งต่อศาลว่า  มาตรา  15  พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. 2522 ซึ่งศาลอาญาจะนำมาตัดสินกับคดีของตน  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550  มาตรา  30 เรื่องความเสมอภาคของบุคคลในกฎหมาย ขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วเห็นว่ากรณีมิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามที่นายแดงได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด  แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจพบว่า  กระบวนการตรา  พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ดังนี้  ศาลรัฐธรรมนูญ  มีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  211  ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า  คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง  ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

มาตรา  6  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

วินิจฉัย

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  มาตรา  211  ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่คู่ความหรือศาลอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา  6

กรณีตามอุทาหรณ์มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่ากระบวนการตรา  พ.ร.บ.  ยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. 2522  ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  เห็นว่า

การตรากฎหมายเป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติ  และการควบคุมมิให้การตรากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย  พ.ศ.2550  กำหนดไว้เป็นพิเศษแล้วในมาตรา  154  โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรี  มีอำนาจส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นอกจากนี้ตัวบทมาตรา  211  ยังกล่าวถึงเฉพาะบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  ซึ่งหมายถึงถ้อยคำในกฎหมายเท่านั้น  คู่ความในคดีจึงขอให้ศาลส่งข้อโต้แย้งว่า  การตรากฎหมาย  ซึ่งหมายถึงกระบวนการในการตรากฎหมายและรูปแบบของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ได้  และแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นเองก็ไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย

ดังนั้นเมื่อมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา  6  ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจในประเด็นที่จะพิจารณาวินิจฉัยถึงกระบวนการตรา  พ.ร.บ.  ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  ตามมาตรา  211

สรุป  ตามมาตรา  211  ประกอบมาตรา  6  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2500  ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว

Advertisement