การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 รัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราว (พ.ศ. 2549 ) ได้บัญญัติถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติไว้อย่างไร ให้อธิบายมาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550 สำหรับคำถามข้อนี้คงจะไม่ออกสอบอีก
ข้อ 2 ให้อธิบายถึงรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี )มาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน
หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา ได้แก่ หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น 2 องค์กร คือ องค์กรประมุขแห่งรัฐ และองค์กร “คณะรัฐมนตรี” ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาร่วมกันบริหารรัฐกิจ แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา
หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี ได้แก่ ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง
สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส
1 สถาบันบริหาร แบ่งออกเป็น
1) ประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด นั่นคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 20 ล้านคน ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป (สิบล้านหนึ่งคน) เป็นต้น โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง
แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้ ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา นั่นคือ หนึ่งในสองคนนี้ ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย
ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)
อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทแรก อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ ภายในรัฐ เช่น อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ
ประเภทที่สอง อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา เช่น ลงนามในกฎหมายต่างๆ หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่ อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ และที่สำคัญที่สุดคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว
2) คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล ซึ่งต้องไปแถลง
นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้
2 สภานิติบัญญัติ แบ่งออกเป็น 2 สภา ได้แก่
1) สภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนสมาชิก 577 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
2) วุฒิสภา มีจำนวนสมาชิก 321 คน มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่จำนวนวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 จะต้องออกจากตำแหน่งทุก 3 ปี
อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน และที่สำคัญคือ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล
3 สถาบันอื่นๆ เช่น
1) สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)
2) สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม
3) ศาลยุติธรรมสูงสุด ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ
ข้อ 3 ให้อธิบายถึงโครงสร้างของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบการปกครอง และการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักที่ศูนย์กลางแห่งอำนาจ (วอชิงตัน ดี.ซี.) มาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น ที่เรียกว่า “สหพันธรัฐ” หรือเรียกสั้นๆว่า “สหรัฐ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญใหม่” หรือ “รัฐธรรมนูญกลาง”
ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี มี 2 ประการ คือ
1 ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
2 มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กล่าวคือ เป็นอิสระจากกัน ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร (สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน)
การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
ก. สถาบันนิติบัญญัติ (สภาคองเกรส)
รัฐสภาอเมริกัน เรียกว่า “สภาคองเกรส” (Zcongress) ประกอบด้วย 2 สภา คือ
1 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แบบเสียงข้างมากรอบเดียว มีวาระในการดำลงตำแหน่ง 2 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 435 คน รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน ดี.ซี.” อีก 3 คน ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด 438 คน
คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย 7 ปี
2 สภาสูงหรือวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 2 คนต่อ 1 มลรัฐ รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่สมาชิก 1 ใน 3 ของทั้งหมดจะต้องจับถูกสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ 2 ปี ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ ต้องมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว 9 ปีขึ้นไป
สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร
อำนาจหน้าที่ของสภาเกรส
1 อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร
2 อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ
3 อำนาจในการเลือกตั้งแทน เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี
4 อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส เช่น ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา
อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา
1 ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ
2 ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3
ข. สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้
การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ “Ticket” เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคดังกล่าว จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 50 มลรัฐ เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ Convention เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย
ขั้นตอนที่ 2
กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างเช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน ดังนั้นรวมแล้วได้ 32 คน ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ 32 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น และจะต้องเลือกทั้ง 32 คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่
สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (435 + 3 + 100 ) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป
ดังนั้นจะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก 50 มลรัฐของแต่ละพรรค ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง 270 เสียง คือ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (กึ่งหนึ่ง = 269) ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี
ขั้นตอนที่ 3
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน 538 คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป ก็หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร
วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ก็คือ 4 ปี ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี
ค. สถาบันตุลาการ (ศาลยุติธรรมสูงสุด)
ศาลสูงสุดของอเมริกา ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา ได้แก่
1 ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง
2 พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต กงสุล รัฐมนตรี หรือรัฐสมาชิก
ข้อ 4 ให้อธิบายถึงรูปการปกครองและวิธีการจัดตั้งฝ่ายบริหารของประเทศอังกฤษมาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
รูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษในปัจจุบัน เป็นรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภาแบบสองพรรคการเมือง (พรรคอนุรักษนิยมและพรรคกรรมกร) ซึ่งเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีการกำหนดมาตรการในการโต้ตอบ ล้มล้างซึ่งกันและกัน เช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโยฝ่ายบริหาร ซึ่งการจัดรูปองค์กรการปกครองของอังกฤษไม่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เพราะอังกฤษใช้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
สถาบันการปกครองของอังกฤษ แบ่งเป็น
1 สถาบันของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญ ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดประมาณ 635 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศอังกฤษใช้ระบบรัฐสภาดังนั้นวาระในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่แน่นอน อาจอยู่ไม่ครบ 5 ปีก็ได้ เพราะว่าอาจถูกฝ่ายบริหารประกาศยุบสภาได้
วุฒิสภาหรือสภาขุนนาง ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 1,000 คน มาจากการแต่งตั้งโดยองค์ประมุขของอังกฤษในฐานะที่เคยทำความดีความชอบให้กับประเทศ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าวุฒิสภาของอังกฤษจะมีจำนวนสมาชิกมากแต่ก็มีบทบาททางด้านนิติบัญญัติคือ การร่างกฎหมายนั้นจะมีเพียง 50 – 60 คนเท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าวุฒิสภาของอังกฤษเกือบไม่มีอำนาจทางการเมืองเลย
2 สถาบันของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล)
การจัดรูปองค์กรของฝ่ายบริหารของอังกฤษนั้นเป็นแบบฝ่ายบริหารที่แบ่งเป็นสององค์กร คือ มีการแยกองค์กรประมุขของรัฐซึ่งก็คือกษัตริย์ กับองค์กรที่เป็นฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าออกจากกัน ในขอบเขตอำนาจฝ่ายบริหารนั้น รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านี้โดยคณะรัฐมนตรีผู้ที่จะรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งมีทั้งความรับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะและความรับผิดชอบในส่วนของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แต่ละคนด้วย แม้ว่ากษัตริย์ทรงมีฐานะอยู่ในส่วนของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วยก็ตาม แต่ก็จะเป็นเพียงฐานะอย่างเป็นทางการ ไม่ได้ทรงใช้อำนาจอย่างแท้จริงด้วยพระองค์เอง
การจัดตั้งฝ่ายบริหารของประเทศอังกฤษนั้น เริ่มจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่พรรคนั้นชนะการเลือกตั้งและมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะจัดตั้งรัฐบาลโดยคัดเลือกจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคเดียวกับตนและบางส่วนจากสมาชิกวุฒิสภา แล้วนำคณะรัฐบาลไปแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความไว้วางใจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง ก็มักจะได้แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากนายกรัฐมนตรี แต่วุฒิสภาบางท่านก็อาจได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน หากว่าวุฒิสมาชิกท่านนั้นมี
ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีความจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องมีวุฒิสมาชิกมาเป็นรัฐมนตรีด้วย
3 สถาบันของฝ่ายตุลาการ (ศาล)
ศาลของอังกฤษนั้นได้รับการยอมรับมานานแล้วว่า มีความเป็นกลางไม่ขึ้นกับฝ่ายใดผู้พิพากษาเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐบาล ตัดสินคดีโดยอาศัยหลักกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) และด้วยระบบการแต่งตั้งศาลที่ไม่ได้มาจากระบบการเมือง ผู้พิพากษาที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมีอยู่น้อยมาก ผู้พิพากษาจะมาจากระบบการศึกษาและเนติบัณฑิต (Berrister) โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น บทบาทของนักการเมืองในการกำหนดนโยบาย และการใช้กฎหมายโดยฝ่ายศาลนั้นก็มักจะเกี่ยวโยงถึงกันและแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ยาก เช่น ศาลสามารถให้คำอธิบายเกี่ยวกับคดีอาญาและการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อให้รัฐสภาออกกฎหมายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ ความเห็นของศาลในฐานะของผู้ที่เป็นกลางในทางการเมืองจึงได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทุกฝ่าย