การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส พร้อมทั้งอธิบายถึงระบบการปกครองทั้ง 3 ระบบ ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
มองเตสกิเออ (Montesquieu) เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า “เจตนารมณ์ทางกฎหมาย” หรือ De l’Esprit Lois ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 อำนาจคือ
1 อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา
2 อำนาจบริหาร เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล
3 อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ ได้แก่ ศาล
มองเตสกิเออ มีความเห็นว่า อำนาจทั้ง 3 อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ โดยไม่มีขอบเขต
กล่าวคือ ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก
และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น
มองเตสกิเออ มีความเห็นว่า “อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้” และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน
จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น 3 ระบบ คือ
1 ระบบรัฐสภา
2 ระบบประธานาธิบดี
3 ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
ระบบรัฐสภา
ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้ จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้ ล้มล้างในที่นี้คือ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
ระบบประธานาธิบดี
ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา การจัดตั้งองค์กรทั้ง 3 องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด
ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ
ส่วนแรก คือ ประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา นั่นคือ ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
ส่วนที่สอง คือ คณะรัฐบาล ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา
เพราะฉะนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้ ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน
ข้อ 2 ให้อธิบายถึงระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี – รัฐบาล) มาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน
หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา ได้แก่ หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น 2 องค์กร คือ องค์กรประมุขแห่งรัฐ และองค์กร “คณะรัฐมนตรี” ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาร่วมกันบริหารรัฐกิจ แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา
หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี ได้แก่ ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง
สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส
1 สถาบันบริหาร แบ่งออกเป็น
1) ประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด นั่นคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 20 ล้านคน ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป (สิบล้านหนึ่งคน) เป็นต้น โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง
แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้ ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา นั่นคือ หนึ่งในสองคนนี้ ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย
ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)
อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทแรก อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ ภายในรัฐ เช่น อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ
ประเภทที่สอง อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา เช่น ลงนามในกฎหมายต่างๆ หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่ อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ และที่สำคัญที่สุดคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว
2) คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล ซึ่งต้องไปแถลง
นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้
2 สภานิติบัญญัติ แบ่งออกเป็น 2 สภา ได้แก่
1) สภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนสมาชิก 577 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
2) วุฒิสภา มีจำนวนสมาชิก 321 คน มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่จำนวนวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 จะต้องออกจากตำแหน่งทุก 3 ปี
อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน และที่สำคัญคือ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล
3 สถาบันอื่นๆ เช่น
1) สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)
2) สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม
3) ศาลยุติธรรมสูงสุด ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ
ข้อ 3 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติกฎเกณฑ์ในการที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550
ข้อ 4 ให้อธิบายถึงกฎเกณฑ์ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) มาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
งดให้ธงคำตอบสำหรับข้อนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับพ.ศ. 2550