การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน  พร้อมทั้งอธิบายถึงวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี  คณะรัฐมนตรี  และสมาชิกรัฐสภาของประเทศดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  ปัจจุบันมีลักษณะเป็นรูปแบบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอารูปแบบการปกครองทั้งสองระบบมาผสมผสานกัน

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบรัฐสภา  ได้แก่  หลักการที่ฝ่ายบริหารแยกเป็น  2  องค์กร  คือ  องค์กรประมุขแห่งรัฐ  และองค์กร คณะรัฐมนตรี  ที่มีบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายร่วมกันบริหารรัฐกิจ  แล้วแสดงออกในนามของรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ว่า  คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ  ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจถอดถอนคณะรัฐมนตรี  โดยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจในการบริหารรัฐกิจของคณะรัฐมนตรี  แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี  ตรงกันข้ามประธานาธิบดีเองก็มีอำนาจยุบสภา

หลักการที่ลอกเลียนมาจากระบบประธานาธิบดี  ได้แก่  ความเป็นอิสระของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ  ประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  ไม่อาจถูกถอดถอนโดยสภา  จึงสามารถบริหารงานอยู่ได้จนครบวาระนั่นเอง

สถาบันการปกครองของฝรั่งเศส

1       สถาบันบริหาร  แบ่งออกเป็น

1)    ประธานาธิบดี  มาจากการเลือกตั้งโยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกจะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด  นั่นคือ  ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  20  ล้านคน  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียง  สิบล้าน + 1 คะแนนขึ้นไป  (สิบล้านหนึ่งคน)  เป็นต้น  โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้  ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่สอง

แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งแรก  ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง  ก็จะทำการเลือกตั้งในครั้งที่สอง  โดยจะให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งลำดับที่  1  และลำดับที่  2  ในครั้งแรกเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ได้  ซึ่งในการนับคะแนนในครั้งที่สองนี้จะใช้การนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา  นั่นคือ  หนึ่งในสองคนนี้  ใครได้คะแนนมากกว่าก็ได้รับเลือกเข้าเป็นประธานาธิบดีเลย

ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ  และในขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย  (เหมือนกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา)

อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

ประเภทแรก  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อองค์กรต่างๆ  ภายในรัฐ  เช่น  อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ  และคณะรัฐมนตรี  อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือทูต  หรืออำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ

ประเภทที่สอง  อำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อรัฐสภา  เช่น  ลงนามในกฎหมายต่างๆ  หรือให้รัฐสภานำร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้วกัลป์ไปพิจารณาใหม่  อำนาจในการยุบสภาอำนาจในการที่จะสั่งให้มีการหยั่งเสียงประชามติ  และที่สำคัญที่สุดคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที่เมื่อเกิดภาวะจำเป็นขึ้น  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้ปรึกษากับสภาตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว

2)  คณะรัฐมนตรี  ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีทั้งหลาย  ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วมอบให้ไปจัดตั้งคณะรัฐบาล  ซึ่งต้องไปแถลง

นโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่  พึงสังเกตว่านายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส  มิได้มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในระบบการปกครองแบบรัฐสภาทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสที่แท้จริงได้แก่ประธานาธิบดี  ที่ไม่จำต้องรับผิดชอบต่อสภา  แต่คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี  ต้องรับผิดชอบต่อสภาและอาจถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจได้

2       สภานิติบัญญัติ  แบ่งออกเป็น  2  สภา  ได้แก่

1)    สภาผู้แทนราษฎร  มีจำนวนสมาชิก  577  คน  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเกณฑ์ของการนับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ  ซึ่งมีทั้งหมด  577  เขต  (ระบบแบ่งเขต  เขตละ  1  คน)  ในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้ได้รับคะแนนตามเกณฑ์ดังกล่าว  ก็จะต้องให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในอันดับที่  1  และอันดับที่  2  มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สองด้วยเกณฑ์ของการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา

2)    วุฒิสภา  มีจำนวนสมาชิก  321  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  แต่จำนวนวุฒิสมาชิก  1  ใน  3  จะต้องออกจากตำแหน่งทุก  3  ปี

อำนาจของทั้งสองสภาเท่าเทียมกัน  เว้นแต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน  และที่สำคัญคือ  อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล

3       สถาบันอื่นๆ  เช่น

1)    สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  (คล้ายกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย)

2)    สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม  ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

3)    ศาลยุติธรรมสูงสุด  ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศ

 

ข้อ  2  จงอธิบายที่มาของอำนาจ  การใช้อำนาจ  การควบคุมตรวจสอบอำนาจ  ของอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ธงคำตอบ

ก.  อำนาจนิติบัญญัติ

ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  ซึ่งประกอบด้วย  2  สภา  ดังนี้

1       สภาผู้แทนราษฎร  มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ทั้งหมด  480  คน  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  มี  2  ประเภทคือ  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  400  คนและมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน  80  คน  วาระการดำรงตำแหน่งมีกำหนดคราวละ  4  ปี  นับแต่วันเลือกตั้ง

2       วุฒิสภา  มีสมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คนและมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการการสรรหา  รวม  74  คน

อำนาจหน้าที่รัฐสภาไทย  มี  3  ประการหลัก  ได้แก่

1       อำนาจในการตรา  การแก้ไขเพิ่มเติม  หรือการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติทั่วไป

2       อำนาจหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายบริหาร  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การขอเปิดอภิปรายทั่วไป

3       อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญๆ  เช่น  แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  การประกาศสงคราม  การทำสัญญาสำคัญบางประเภทฯลฯ

ข.      อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  ได้แก่  คณะรัฐมนตรี  ซึ่งประกอบด้วย

1       นายกรัฐมนตรี  จำนวน  1  คน  เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

2       รัฐมนตรี  จำนวนไม่เกิน  35  คน  ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย  เช่น  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการฯ  รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  เท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้น  นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้  แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่อย่างไรก็ตาม  คณะรัฐมนตรีจะเป็น  ส.ว.  ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

รัฐธรรมนูญฯ  กำหนดหลักการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ว่า  เมื่อมีการเลือกตั้ง  ส.ส.  เสร็จแล้ว  ให้สภา  เรียกประชุมสภาภายใน  30  วัน  นับแต่วันเลือกตั้ง  ส.ส.  เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน  30 วัน  นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก

การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว  ต้องมี  ส.ส.  ไม่น้อยกว่า  1  ใน  5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง  และมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร  มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นปามนโยบายและกฎหมาย  ซึ่งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารก็คือ  กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัตินั่นเอง

ค.      อำนาจตุลาการ

รัฐธรรมนูญฯ  มีการจัดระบบศาล  แบ่งเป็น  4  ศาล  ได้แก่  ศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  ศาลทหาร  ซึ่งที่มาของศาลต่างๆเหล่านี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่จัดตั้งศาลนั้นๆ  ขึ้นมา  เช่น  ศาลปกครอง  ก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.2542  เป็นต้น

อำนาจหน้าที่ขององค์กรตุลาการ

ตุลาการหรือศาลมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชน

ส่วนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรทั้งสามนั้น  อธิบายได้ดังนี้

การใช้อำนาจขององค์กรทั้งสามจะมีการถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งกันและกัน  ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจซึ่งก็คือ

การควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเสนอญัตติ  การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล  ตลอดจนการพิจารณาไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่างๆ 

การควบคุมตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร  ได้แก่  ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการยุบสภาได้  ด้วยการถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ให้ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

ส่วนอำนาจตุลาการนั้น  รัฐธรรมนูญให้ความเป็นอิสระมากที่สุด  อำนาจนิติบัญญัติหรือบริหารจะเข้ามาก้าวก่ายการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไม่ได้  แต่ในขณะเดียวกัน  ฝ่ายตุลาการก็มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ   และพระราชบัญญัติ  (ศาลรัฐธรรมนูญ)  ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่งทางปกครองหรือการกระทำใดๆ  ของฝ่ายบริหาร  (ศาลปกครอง)  รวมทั้งการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  (ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ด้วย

 

ข้อ  3  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก.      รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากปัญหาและสาเหตุใด  มีหลักการสำคัญว่าอย่างไร

ข.      จงนำแนวคิดทฤษฎีและหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาอธิบายรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบัน

ธงคำตอบ

ก.      รัฐธรรมนูญเกิดจากปัญหาการใช้อำนาจทางปกครองของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ที่อำนาจอยู่ที่ผู้นำเพียงผู้เดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง  และการใช้อำนาจในการปกครองไม่สามารถควบคุมตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้  ทำให้ประชาชนถูกรบกวนสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจทางปกครองอย่างไม่เป็นธรรม

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครองเป็น  3  อำนาจ  คือ  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ

จากหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง  ทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยอันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ  โดยมีหลักการสำคัญ  คือ

1       ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  เสมอภาคกัน

2       ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง  จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  ทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง

3       เมื่อได้อำนาจในการปกครองประเทศแล้ว  ต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน

4       การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้

ข.      ทฤษฎีหรือหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย  คือ

1       หลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง

2       หลักความเสมอภาคและเท่าเทียม

3       หลักการมีส่วนร่วมในการปกครอง

4       หลักการใช้อำนาจทางปกครอง

5       หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง

นักศึกษาสามารถนำทฤษฎีหรือหลักการสำคัญดังกล่าวมาอธิบายรัฐธรรมนูญ  ฉบับปัจจุบันเกี่ยวกับอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการได้อย่างเสรี  แต่จะต้องอ้างอิงหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น  กล่าวคือ  รัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน (รวมทั้งในฉบับอื่นๆ)  ได้นำเอาหลักการแบ่งแยกอำนาจมาใช้  โดยแบ่งอำนาจอธิปไตย  (อำนาจทางปกครอง)  ออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจทั้งสามอำนาจไม่ให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดใช้ได้อย่างอิสระ  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ  การรักษาเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ

อนึ่ง  หลักความเสมอภาคและเท่าเทียมของประชาชนภายในรัฐ  มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  ทั้งนี้มีต้นเหตุสืบเนื่องจากหลักการสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์  ปัญหาข้อเท็จจริงและการเรียกร้องในเรื่องการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องต่างๆ  เช่น เพศ  อายุ  ภาษา  เชื้อชาติ  ความพิการ  ฯลฯ  ซึ่งเกิดขึ้นจริงในอดีตจนนำไปสู่การบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร

นอกจากนี้ในเรื่องหลักการใช้อำนาจที่ต้องใช้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ก็มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย  อาทิเช่น  ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  ศาล  รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ  (The  Rule  of  Law)  ส่วนการตรวจสอบการใช้อำนาจ  เช่น  การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน  การตรวจสอบทรัพย์สิน การกระทำที่เป็นการขัดแห่งผลประโยชน์  การถอดถอนจากตำแหน่ง  การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  รวมทั้งในเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยประชาชน  การออกเสียงประชามติ  การปกครองส่วนท้องถิ่น  เราก็นำหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและหลักการมีส่วนร่วมในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นพื้นฐานในการบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน   

 

ข้อ  4  นายแดงผู้ประกอบกิจการค้านมกล่อง  ได้มอบเงิน  10  ล้านบาท  ให้แก่นายดำรัฐมนตรี  เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือให้ตนชนะการประมูลในการประกวดราคาเสนอขายนมกล่องให้แก่ทางราชการ  เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐ  ต่อมามีผู้กล่าวหาว่านายดำได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ  เพื่อให้นายแดงมอบให้ซึ่งเงิน  10  ล้านบาท  ระหว่างการตรวจสอบสำนวนของอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาล  นายดำรัฐมนตรีได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  อัยการสูงสุดจะฟ้องนายแดงผู้ประกอบกิจการค้านมกล่องเป็นคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550

มาตรา  219  วรรคสี่และวรรคห้า  ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา…

อำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มาตรา  275  วรรคแรกและวรรคสอง  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  หรือข้าราชการการเมืองอื่น  ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ  กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา  หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น  ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  มีอำนาจพิจารณาพิพากษา

บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ  ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน  รวมทั้งผู้ให้  หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง  เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้นายแดงจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้านมกล่อง  มิใช่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550 มาตรา  275  วรรคแรก  กล่าวคือ  มิใช่นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  หรือข้าราชการการเมืองอื่น  แต่การที่นายแดงได้มอบเงิน  (ให้สินบน)  แก่นายดำรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือให้ตนชนะการประมูลในการประกวดราคาเสนอขายนมกล่องให้แก่ทางราชการเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐนั้น  ลักษณะของการกระทำเป็นการก่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิด  นายแดงจึงเป็นผู้ใช้หรือผู้ให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่รัฐมนตรี  ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา  275  วรรคแรก  ในการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  กรณีเช่นนี้นอกจากอัยการสูงสุดจะมีอำนาจฟ้องนายดำต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา  275  วรรคแรกแล้ว อัยการสูงสุดยังมีอำนาจฟ้องนายแดงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา  275  วรรคสองได้ด้วย  อนึ่ง  แม้นายดำจะถึงแก่ความตายก่อนที่อัยการสูงสุดจะยื่นฟ้อง  ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องนายแดงของอัยการสูงสุดเสียไปแต่อย่างใด  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  มาตรา  219  วรรคสี่และวรรคห้า

สรุป  อัยการสูงสุดสามารถฟ้องนายแดงเป็นคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

หมายเหตุ  เดิมรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2540  มาตรา  308  วรรคสอง  บัญญัติให้นำวรรคแรกมาใช้เฉพาะกับตัวการ  ผู้ใช้และผู้สนับสนุนเท่านั้น ทำให้มีปัญหาว่าผู้ให้สินบนจะถูกฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯได้หรือไม่  ดังนั้นรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  จึงเพิ่มคำว่า  ผู้ให้  ผู้ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง  เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงเวลาการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  เข้ามา  ซึ่งส่วนที่เพิ่มเป็นถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  144  เพื่อให้ชัดเจนว่าผู้ให้  ผู้ขอให้หรือรับว่าจะให้สินบนแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องถูกฟ้องที่ศาลนี้ด้วย

Advertisement