การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงระบบการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบัน  พร้อมทั้งอธิบายถึงที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2550)  ในประเด็นดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  (ฉบับปัจจุบัน)   กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การปกครองในระบบรัฐสภา  เป็นระบบการปกครองที่องค์กรซึ่งใช้อำนาจในทางการเมืองทั้ง  2  องค์กร  คือ  ฝ่ายนิติบัญญัติ  และฝ่ายบริหาร  มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยกันในการปฏิบัติหน้าที่  รวมทั้งมีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันด้วย

การปกครองในระบบรัฐสภานั้นมีหลักการที่สำคัญคือ  ฝ่ายบริหารต้องมีความรับผิดชอบในทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  ฝ่ายบริหารมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินก็โดยอาศัยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจ  เมื่อนั้นถือได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติต้องการถอดถอนฝ่ายบริหาร

การรับผิดชอบในทางการเมืองของฝ่ายบริหารนั้นจำกัดเฉพาะคณะรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการอย่างแท้จริงเท่านั้น  องค์ประมุขของรัฐไม่ต้องรับผิดชอบในทางการเมืองแต่อย่างใด

การแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัตินี้  อาจจะเป็นการกระทำโดยตรงซึ่งได้แก่  การที่สภานิติบัญญัติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อฝ่ายบริหารหรืออาจจะเป็นการกระทำทางอ้อม  ซึ่งได้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายสำคัญที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาอนุมัติ  เช่น  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี  เป็นต้น  นอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติยังมีอำนาจตั้งกระทู้ถามต่อฝ่ายบริหารได้อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามการปกครองในระบบรัฐสภานั้น  ถึงแม้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจถอดถอนฝ่ายบริหารด้วยการแสดงออกซึ่งความไม่ไว้วางใจ  ในทำนองเดียวกันฝ่ายบริหารก็มีมาตรการโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติ  ในกรณีที่ฝ่ายบริหารเชื่อมั่นว่าฝ่ายบริหารกระทำการด้วยความถูกต้องตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชน  กล่าวคือ  ฝ่ายบริหารมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรสำหรับที่มาของ  “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”  ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2550)  ตามที่ได้มีการแก้ไขใหม่นั้น  ได้กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้  500  คน  โดย

(1)  เป็นสมาชิกฯ  ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน  และ

(2) เป็นสมาชิกฯที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ  125  คน

1       การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ  1  คน

การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก  1  คน  ให้คำนวณจากราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ย  (หาร)  ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  375  คน

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี  ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  ที่คำนวณได้นั้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น  ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  ก็ให้มีสมาชิกฯได้  1  คน  จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  ให้มีสมาชิกฯในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก  1  คน  ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน

จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้ไม่เกิน  1  คน  ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้เกิน  1  คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกฯที่พึงมี  โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกฯ  1  คน  (มาตรา  94)

2       การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ  ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น  โดยให้เลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว  และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  (มาตรา 95)

บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา  95  ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชีไม่เกินบัญชีละ  125  คน  และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  (มาตรา  96)

การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง  ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น  โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้  เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  (มาตรา  98)

 

ข้อ  2  หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญหมายถึงอะไร  และมีวิธีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆกี่วิธี  ขอให้อธิบาย  และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร  ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ  สำหรับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรนั้น  หมายถึงการยอมรับว่า  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายธรรมดาอื่นๆที่มีอยู่ภายในรัฐ  ดังนั้น  กฎหมายธรรมดาอื่นๆนั้น  จะมีวิธีการจัดทำหรือมีบทบัญญัติมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้  ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2550)  มาตรา  6  ซึ่งบัญญัติว่า  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้  บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้”

วิธีการในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ในประเทศต่างๆนั้นมี  2  วิธี  ได้แก่

1       การควบคุมโดยศาลยุติธรรม  (เป็นการควบคุมโดยการยกเว้น)  กล่าวคือ  จะกำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  เช่น  ในประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้กำหนดไว้ว่า  เมื่อมีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นในศาลยุติธรรม แล้วคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างกฎหมายเพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน  เพื่อใช้บังคับกับคู่ความฝ่ายตรงข้าม  แต่คู่ความฝ่ายตรงข้ามยกเป็นประเด็นโต้แย้งว่า  กฎหมายดังกล่าวที่ใช้บังคับกับเขานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ในกรณีเช่นนี้  ศาลซึ่งพิจารณาคดีดังกล่าวนั้นมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นสอดคล้องหรือขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  หากศาลเห็นว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ศาลก็จะไม่ใช้กฎหมายนั้นบังคับแก่คู่กรณีหรือคู่ความในคดีนั้น  แต่ศาลจะไม่พิจารณาพิพากษาเพิกถอนกฎหมายนั้นแต่อย่างใด  โดยศาลอาจใช้กฎหมายนั้นกับคู่ความในคดีอื่นๆได้

2       การควบคุมโดยองค์กรพิเศษอื่นนอกจากศาลยุติธรรม  (เป็นการควบคุมโดยการฟ้องคดี)  เช่น  ประเทศไทยและเยอรมนี  จะมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ  กล่าวคือ  ในกรณีที่มีการฟ้องคดีและผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับนั้น  เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ก็ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  และถ้าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ากฎหมายหรือบทบัญญัติของกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิกถอนกฎหมายหรือบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆได้  และกฎหมายหรือบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกเพิกถอนแล้วนั้น  จะนำไปใช้บังคับกับคู่ความในคดีนั้นหรือคู่ความในคดีอื่นๆอีกไม่ได้

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ไว้  2  กรณี  คือ

1       ตามมาตรา  6  ซึ่งบัญญัติว่า  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้  บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

2       ตามมาตรา  154  ซึ่งบัญญัติหลักไว้ว่า  ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว  หรือที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา  151  ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย  หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกรัฐสภา  หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน  หรือนายกรัฐมนตรี  เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  ก็ให้ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น  มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

บทบัญญัติตามมาตรา  154  นั้น  ให้นำมาใช้บังคับกับร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  หรือวุฒิสภา  และร่างข้อบังคับการประชุมสภา  ที่สภาผู้แทนราษฎร  วุฒิสภา  หรือรัฐสภา  แล้วแต่กรณีให้ความเห็นชอบแล้ว  แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยโดยอนุโลม  (มาตรา  155)

 

ข้อ  3  ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยและได้เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้ว  จงอธิบายที่มาของสมาชิกรัฐสภา  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(ก่อนมีการแก้ไข)  อย่างละเอียดว่ามีที่มาอย่างไร

ธงคำตอบ

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (พ.ศ.2550)  ฝ่ายนิติบัญญัติ  (รัฐสภา)  ของไทยนั้น  ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ซึ่งสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  จะมีจำนวนและที่มาหรือวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง  ดังนี้  คือ

1       สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  480  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  400  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน  80  คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การคำนวณจำนวนสมาชิกฯ  ให้นำจำนวนราษฎรทั้งประเทศในปีก่อนปีที่มีการเลือกตั้งหารด้วย  400  จะได้เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ  1  คน  จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน  3  คน  ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  แต่ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน  3  คน  ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  3  คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน

–                     ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น

–                    เขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน  ให้แบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น  8  กลุ่มจังหวัด  โดยจัดจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน  และให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  แต่ละเขตเลือกตั้งให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้  10  คน

2       วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา

การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง  ประกอบด้วย

(1)  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

(2) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

(4) ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(5) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย  1  คน

(7) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย  1  คน

หมายเหตุ

ปัจจุบันได้มีการแก้ไขจำนวนและที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยกำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  500  คน  (ขอให้ดูรายละเอียดในธงคำตอบข้อที่ 1) และปัจจุบันประเทศไทยเมื่อนับรวมกรุงเทพมหานครด้วยจะมี  77  จังหวัด  ดังนั้นในการเลือกตั้งและสรรหาวุฒิสภาครั้งต่อไป    จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง  จังหวัดละ  1  คน  จึงมี  77  คน  ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจะมี  73  คน

 

ข้อ  4  ในวันที่  31  ตุลาคม  2553  ได้กำหนดเป็นวันเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เขต  2  จังหวัดสุรินทร์  วันที่  1  ตุลาคม  2553  คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  นายแดงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่  3  ต่อมาวันที่  20  ตุลาคม  2553  นายแดงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  เมื่อถึงวันเลือกตั้งในวันที่  31  ตุลาคม  2553  พระภิกษุแดงมิได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งฯ และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งฯ  ได้ต่อเจ้าหน้าที่ฯ  ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งฯ  สามเดือนต่อมาพระภิกษุแดงได้ลาสิกขาบท  และได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน  นายอำเภอได้ปฏิเสธเนื่องจากนายแดงไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ส.ส.  ครั้งล่าสุด  นายแดงอุทธรณ์  ต่อมานายอำเภอได้มีหนังสือแจ้งปฏิเสธและให้เหตุผลว่า  เมื่อประกาศรายชื่อว่านายแดงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯแล้ว  นายแดงมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ  มาตรา  72  ที่จะต้องไปทำหน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งฯ  หากไม่ไปก็จะต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิได้  เมื่อนายแดงไม่ได้แจ้งฯ  จึงเสียสิทธิในการรับสมัครรับเลือกตั้งในกรณีนี้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการปฏิเสธของนายอำเภอชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และนายแดงสามารถจะใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  28  วรรคสอง  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา  72  วรรคแรกและวรรคสอง  บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้  ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา  100(1)  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง  เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

(1)  เป็นภิกษุ  สามเณร  นักพรต  หรือนักบวช

มาตรา  223  วรรคแรก  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน  หรือระหว่างหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน  อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยดังนี้  คือ

ประเด็นที่  1  ตามมาตรา  72  วรรคแรกและวรรคสอง  บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้  ย่อมถูกตัดสิทธิทางการเมือง  เช่น  จะเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกลำดับชั้นสำหรับตำแหน่งทางการเมือง  เป็นต้น

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  ในการประกาศรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น  นายแดงมีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ด้วย  แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งนายแดงซึ่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่อเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ดังนี้จะเห็นได้ว่า  เมื่อมาตรา  100(1)  ได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นพระภิกษุไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ดังนั้น  พระภิกษุแดงจึงมิใช่บุคคลที่มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา  72  การที่พระภิกษุแดงไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิดังกล่าวนั้น  ย่อมไม่ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองแต่อย่างใด  นายแดงจึงยังคงมีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้  ดังนั้นการที่นายอำเภอปฏิเสธไม่ให้นายแดงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน  โดยให้เหตุผลว่า  นายแดงไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ส.ส.ครั้งล่าสุดนั้น  การปฏิเสธของนายอำเภอจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่  2  การที่นายแดงได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน  แต่ถูกนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธ  ถือว่ามีการโต้แย้งการใช้สิทธิทางการเมืองเกิดขึ้น  ดังนั้นนายแดงซึ่งถูกละเมิดสิทธิสามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลได้  ตามมาตรา  28  วรรคสอง  กล่าวคือนายแดงสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้นั่นเอง

สำหรับศาลใดจะเป็นผู้มีอำนาจในการรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยนั้น  เห็นว่าเมื่อคดีพิพาทดังกล่าวนั้น  เป็นคดีพิพาทระหว่างนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกับนายแดงซึ่งเป็นเอกชนและเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  (การปฏิเสธของนายอำเภอ  ถือว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองและถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย)  ดังนั้นศาลที่มีอำนาจในการรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยคือ  “ศาลปกครอง”  ตามมาตรา  223  วรรคแรกนั่นเอง  ดังนั้นนายแดงสามารถนำข้อพิพาทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง  เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งปฏิเสธของนายอำเภอได้

สรุป 

1       การปฏิเสธของนายอำเภอไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2       นายแดงสามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้  โดยการฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง

Advertisement