การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงโครงสร้างของประเทศ ระบบการปกครอง และหลักการสำคัญของระบบ พร้อมทั้งอธิบายถึงที่มาของประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาในทุกขั้นตอนมาตามที่เข้าใจ
ธงคำตอบ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น ที่เรียกว่า “สหพันธรัฐ” หรือเรียกสั้นๆว่า “สหรัฐ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญใหม่” หรือ “รัฐธรรมนูญกลาง
ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี มี 2 ประการ คือ
1 ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
2 มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กล่าวคือ เป็นอิสระจากกัน ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน
การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
ก. สถาบันนิติบัญญัติ (สภาคองเกรส)
รัฐสภาอเมริกัน เรียกว่า “สภาคองเกรส” (Zcongress) ประกอบด้วย 2 สภา คือ
1 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แบบเสียงข้างมากรอบเดียว มีวาระในการดำลงตำแหน่ง 2 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 435 คน รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน ดี.ซี.” อีก 3 คน ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด 438 คน
คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย 7 ปี
2 สภาสูงหรือวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 2 คนต่อ 1 มลรัฐ รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่สมาชิก 1 ใน 3 ของทั้งหมดจะต้องจับถูกสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ 2 ปี ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ ต้องมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว 9 ปีขึ้นไป
สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร
อำนาจหน้าที่ของสภาเกรส
1 อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร
2 อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ
3 อำนาจในการเลือกตั้งแทน เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี
4 อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส เช่น ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา
อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา
1 ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ
2 ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3
ข. สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้
การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ “Ticket” เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคดังกล่าว จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 50 มลรัฐ เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ Convention เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย
ขั้นตอนที่ 2
กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างเช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน ดังนั้นรวมแล้วได้ 32 คน ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ 32 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น และจะต้องเลือกทั้ง 32 คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่
สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (435 + 3 + 100 ) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป
ดังนั้นจะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก 50 มลรัฐของแต่ละพรรค ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง 270 เสียง คือ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (กึ่งหนึ่ง = 269) ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี
ขั้นตอนที่ 3
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน 538 คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป ก็หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร
วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ก็คือ 4 ปี ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี
ค. สถาบันตุลาการ (ศาลยุติธรรมสูงสุด)
ศาลสูงสุดของอเมริกา ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา ได้แก่
1 ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง
2 พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต กงสุล รัฐมนตรี หรือรัฐสมาชิก
ข้อ 2 ก . ในฐานะที่ท่านเป็นนักศึกษากฎหมายท่านทราบหรือไม่ว่า กฎหมายที่ท่านเรียนอยู่แต่ละวิชานั้นมีขั้นตอนในการบัญญัติอย่างไร ดังนั้นจงอธิบายขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพอสังเขป
ข . ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยคนหนึ่ง ท่านทราบหรือไม่ว่าหน้าที่ของท่านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอะไรบ้าง
ธงคำตอบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติวิธีการและขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งสามารถกระทำได้ 4 ทาง ได้แก่
1 โดยคณะรัฐมนตรี
2 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน
3 ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เสนอได้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของตน
4 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาออกกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยและหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม 2.3. และ 4. เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี (มาตรา 142)
ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ คือ รัฐสภาที่เป็นองค์การที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ
ขั้นตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ มี 2 ขั้นตอน คือ ส่งร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วถ้าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติออกเป็น 3 วาระ คือ
วาระที่ 1 เรียกว่า “วาระรับหลักการ” เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้ว จะลงมติว่า จะรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินั้น ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไป แต่หากสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ ก็จะส่งร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป การพิจารณาวาระที่ 1 นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมการไปพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือปัญหาใดๆก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการก็ได้
วาระที่ 2 เป็นการพิจารณาในรายละเอียด ปกติจะพิจารณาโดยกรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้น สภาผู้แทนราษฎรคนใดเห็นว่าข้อความหรือถ้อยคำใดในร่างพระราชบัญญัตินั้นควรแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้เสนอขอคำแปรญัตติต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเรียงลำดับมาตราจะมีการอภิปรายได้เฉพาะที่มีการแก้ไขหรือที่มีการสงวนคำแปรญัตติ หรือสงวนความเห็นไว้เท่านั้น ในวาระนี้จะไม่มีการลงมติ เมื่อพิจารณาแล้วก็จะส่งเข้าสู่วาระที่ 3
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอและในขั้นรับหลักการไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน แต่คณะกรรมาธิการหรือสภาผู้แทนราษฎรได้แก้ไขเพิ่มเติม และประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งระงับการพิจารณาไว้ก่อน และส่งให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะวินิจฉัยภายใน 15 วันนับแต่ที่มีกรณีดังกล่าว ถ้าที่ประชุมร่วมกันวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นมีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการแก้ไขเพื่อมิให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน (มาตรา 144)
วาระที่ 3 เรียกว่า “วาระให้ความเห็นชอบ” เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติในวาระที่ 3 ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้นโดยไม่มีการอภิปรายอีก หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันตกไป แต่หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยวุฒิสภา
วุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรส่งมาให้ 3 วาระ
วาระที่ 1 การพิจารณาวาระนี้เป็นการพิจารณาและลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยกับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินั้นหรือไม่
การพิจารณาในวาระนี้ วุฒิสภามีอำนาจตั้งกรรมาธิการไปพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือปัญหาใดๆก่อนที่วุฒิสภาจะมีมติเห็นชอบด้วยกับหลักการหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบด้วยกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปเป็นวาระที่สอง
วาระที่ 2 วุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งหรือกรรมการเต็มสภา ซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณาและการแปรญัตติเช่นเดียวกับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
วาระที่ 3 การพิจารณาในวาระนี้จะเป็นการพิจารณาเพื่อลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติก็จะเป็นการลงมติยืนยันว่าวุฒิสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถ้าในวาระที่สองมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม การพิจารณาในวาระนี้จะไม่มีการอภิปราย
ผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และดำเนินการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป หากไม่เห็นชอบด้วยก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรจะยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นมาใหม่ได้ต่อเมื่อครบ 180 วันนับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สภาผู้แทนราษฎรสามารถยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ในกรณีที่วุฒิสภามีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญ และเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ถ้าเป็นกรณีอื่นให้แต่ละสภาตั้งบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้นๆมีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วให้คณะกรรมาธิการร่วมกันรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง
กรณีที่สภาหนึ่งสภาใดไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้วก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อครบระยะเวลา 180 วันนับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที และถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ (มาตรา 150)
ถ้าร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภา จะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ หากรัฐสภาลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (มาตรา 151)
ข . ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยคนหนึ่ง ท่านทราบหรือไม่ว่าหน้าที่ของท่านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอะไรบ้าง
ธงคำตอบ
1 หน้าที่ที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (มาตรา 70)
2 หน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย (มาตรา71)
3 หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 72)
4 หน้าที่รับราชการทหาร เสียภาษี ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 73)
ข้อ 3 ขอให้ท่านอธิบายถึงกระบวนการและขั้นตอนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามาโดยสังเขป
ธงคำตอบ
การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในส่วนของฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง ซึ่งเรียกว่า “Secretaries” โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าของรัฐบาลด้วย
ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้
การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ “Ticket” เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคดังกล่าว จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 50 มลรัฐ เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ Convention เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย
ขั้นตอนที่ 2
กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างเช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน ดังนั้นรวมแล้วได้ 32 คน ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ 32 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น และจะต้องเลือกทั้ง 32 คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่
สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (435 + 3 + 100 ) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป
ดังนั้นจะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก 50 มลรัฐของแต่ละพรรค ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง 270 เสียง คือ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (กึ่งหนึ่ง = 269) ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี
ขั้นตอนที่ 3
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน 538 คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป ก็หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร
วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ก็คือ 4 ปี ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี
ข้อ 4 นายเอกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ต่อมาในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ อัยการสูงสุดได้ฟ้องนายเอกเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานทุจริตต่อหน้าที่หลังจากนั้นศาลอาญาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัดพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติดังกล่าว ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ศาลอาญาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะดำเนินการพิจารณาคดีในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 131 วรรคสาม ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา
มาตรา 277 วรรคสาม บทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 131 มิให้นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ประเด็นคือ
1 ศาลอาญาจะดำเนินการพิจารณาคดีที่นายเอกถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นได้หรือไม่ และ
2 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะดำเนินคดีที่นายเอกถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ได้หรือไม่
ประเด็นที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 131 วรรคสาม ศาลอาญาจะพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ประเด็นที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 277 วรรคสาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้
ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 131 นั้น มิให้นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง