การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการของรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภา  ระบบประธานาธิบดี  และระบบกึ่งประธานาธิบดี  มาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

รูปการปกครองในระบบรัฐสภาเป็นรูปการปกครองที่การจัดตั้งองค์กรในการใช้อำนาจรัฐ มีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้องค์กรดังกล่าวสามารถมีปฏิสัมพันธ์และสามารถใช้มาตรการในการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติและการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหาร

ตัวอย่างการปกครองในระบบรัฐสภาที่เห็นได้ชัดเจน  คือ ระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ และระบบการปกครองของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2540

–       รูปการปกครองในระบบประธานาธิบดีจะมีการกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันให้เป็นอิสระมากที่สุด เป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็ไม่มีอำนาจล้มล้างซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจในการขอเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารและทางฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น รูปการปกครองของสหรัฐอเมริกา

–       ส่วนรูปการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เป็นรูปการปกครองที่นำเอาหลักการของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีมาใช้ร่วมกัน มีการนำเอามาตรการในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารมาใช้ในส่วนของคณะรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนไม่สามารถเปิดอภิปรายตัวประธานาธิบดีเหมือนกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี จะมีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น ตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

 

ข้อ  2  ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  มีความหมายอย่างไรตามแนวคิดของรุสโซ  และก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร  การที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติรัฐประหารถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักหรือทฤษฎีดังกล่าวหรือไม่อย่างไร  ขอให้อธิบาย

ธงคำตอบ

รุสโซได้ชี้แนวทางเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไว้ในวรรณกรรมเรื่อง  สัญญาประชาคม  ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน  สมมุติว่าในรัฐหนึ่งมีประชาชน  10,000 คน อำนาจอธิปไตยก็มีอยู่ในตัวประชาชนทั้ง  10,000  คนนั้น  ราษฎรแต่ละคนมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ใน 10,000  ส่วน  อันประกอบเป็นชาติหรือรัฐ  ตามความคิดของรุสโซประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์จากความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตน  และไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งหมดได้

ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติรัฐประหาร  จึงเป็นการที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอำนาจอธิปไตยจากประชาชนและเข้าใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน  โดยการใช้กำลังบังคับมิได้มาจากความยินยอมของประชาชน  จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักหรือทฤษฎีดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

ส่วนผลในทางกฎหมายของทฤษฎีที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนคือ

1       ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครองทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออก  ซึ่งส่วนแห่งอำนาจอธิปไตยของตนอันนำมาซึ่งหลักที่เรารู้จักกันดีคือ  การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง  (Universal  Suffage)  เพราะถือว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน มิใช่เป็นหน้าที่จึงไม่อาจจำกัดสิทธิได้ดังที่รุสโซกล่าวว่า  สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรมาพรากไปจากประชาชนได้

2       การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนนั้นเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง  (Mandat  Imfiratif)

 

ข้อ  3  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก.       จงอธิบายโดยสังเขปพอให้เข้าใจได้ว่า

–                    รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเกิดมาจากสาเหตุใดหรือปัญหาใด

–                    เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่สำคัญบัญญัติเรื่องใดบ้าง

–                    จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร

ข.      จงเปรียบเทียบความแตกต่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2540  กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ  2550

ธงคำตอบ

ก.      รัฐธรรมนูญเกิดจากปัญหาการใช้อำนาจทางการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ที่อำนาจอยู่ที่ผู้นำเพียงผู้เดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง  และการใช้อำนาจในการปกครองไม่สามารถควบคุมตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้  ทำให้ประชาชนถูกรบกวนสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจทางปกครองอย่างไม่เป็นธรรม

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครองเป็นสามอำนาจ  คือ  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ

จากหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง  ทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยอันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ  โดยมีหลักว่า

1       ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  เสมอภาคกัน

2       ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง  จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  ทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง

3       เมื่อได้อำนาจในการปกครองประเทศแล้ว  ต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน

4       การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้

ส่วนเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ได้แก่

1       อำนาจในการปกครองประเทศมีกี่อำนาจ

2       ที่มาของแต่ละอำนาจเป็นอย่างไร  มีขั้นตอนอย่างไร

3       วิธีใช้อำนาจดังกล่าวใช้อย่างไร

4       การควบคุมอำนาจในแต่ละอำนาจทำอย่างไร

5       สิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นมูลฐานมีอย่างไรบ้าง

ข.      ข้อแตกต่างของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พ.ศ.2540  กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ  2550  คือ

–                    สสร. 2540  มาจากตัวแทนของประชาชนแต่ละจังหวัด  ๆ  ละ  1  คน  และนักวิชาการอีก  23  คน

–                    สสร.  2550  มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  (คมช.)  คัดเลือกมาไม่เกิน  2,000  คน และเลือกกันเองให้เหลือ  200  คน  สุดท้าย  คมช.  จะเลือก  200  คน  ให้เหลือ  100 คน  เป็น  สสร.

 

ข้อ  4  เทศบาลเมืองราชบุรี  ตรวจพบว่า  มีโรงงานในเขตเทศบาลปล่อยน้ำเสียอย่างผิดกฎหมายลงแม่น้ำในเขตเทศบาลหลายโรงงานด้วยกัน  จึงได้ดำเนินการออกใบอนุญาตกำหนดให้  บริษัทเคมีสยาม  จำกัดและบริษัทฟอกหนัง  จำกัด  ปล่อยน้ำเสียได้เป็นเวลา  6  เดือน  หลังจากนั้นแล้วจะต้องหยุดการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำอย่างเด็ดขาด  และได้ดำเนินการบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป  ต่อมาระหว่างการพิจารณาของเทศบาลฯ  เพื่อออกใบอนุญาตในกรณีเดียวกันนี้ให้แก่บริษัทน้ำตาลไทย  จำกัด  ทางเทศบาลฯ  ได้ตรวจพบว่าการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทเคมีสยามฯ  และบริษัทฟอกหนังฯดังกล่าวนั้นขัดต่อ  พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เทศบาลฯจึงไม่ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทน้ำตาลไทยฯ  และได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทน้ำตาลไทยฯ  ยุติการทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำภายใน  1  เดือน  บริษัทน้ำตาลไทยฯ  เห็นว่าการกระทำของเทศบาลฯ  เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.2549  มาตรา  3  เพราะตนควรได้รับใบอนุญาต  เป็นระยะเวลา  6  เดือน  เช่น เดียวกับบริษัทอื่นๆ เหมือนกัน  ดังนั้นบริษัทน้ำตาลไทยฯ จึงได้ยื่นเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ของรัฐสภา  เพื่อให้ผู้ตรวจการฯ เสนอเรื่องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป  ดังนั้นหากท่านเป็นผู้ตรวจการฯ  ท่านจะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา  พ.ศ.  2542  มาตรา  16  ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี

(ก)  การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ  พนักงาน  หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ  หรือราชการส่วนท้องถิ่น

มาตรา  17  ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  กฎ  ข้อบังคับ  หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา  16(1)  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองแล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

รัฐธรรมนูญ  (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ. 2549

มาตรา  3  ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญนี้  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิเสรีภาพ  และความเสมอภาค  บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครอง….  ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา  35  บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ  หรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ….

วินิจฉัย

การออกใบอนุญาตฯ  ของเทศบาลฯ แก่บริษัทเคมีสยามฯ  และบริษัทฟอกหนังฯ  เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การปฏิบัติของเทศบาลฯ  ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกใบอนุญาตฯ  ไม่อาจนำมาเป็นบรรทัดฐานสำหรับการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทน้ำตาลไทยฯได้

บริษัทน้ำตาลไทยฯ  ไม่อาจอ้างหลักความเสมอภาคตามมาตรา  3  รัฐธรรมนูญฯ  (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ. 2549  เพราะไม่มีความเสมอภาคในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  บริษัท  น้ำตาลไทยฯ  จึงมาสามารถเรียกร้องให้เทศบาลฯ ปฏิบัติต่อตนเสมือนกรณีของบริษัทเคมีสยามฯ  และบริษัทฟอกหนังฯ

สรุป  ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ  จะไม่ดำเนินการส่งเรื่องไปยังตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ในกรณีนี้

Advertisement