การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงโครงสร้างของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบการปกครองและการจัดตั้งสถาบันการปกครองหลักของประเทศดังกล่าวมาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นแม่แบบของการปกครองในระบบประธานาธิบดี โดยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างแบบรัฐรวมในลักษณะของการรวมตัวแบบเหนียวแน่น ที่เรียกว่า “สหพันธรัฐ” หรือเรียกสั้นๆว่า “สหรัฐ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยใช้เกณฑ์แห่งความเสมอภาคระหว่างรัฐใหญ่กับรัฐเล็กที่เป็นสมาชิก รัฐสมาชิกดังกล่าวยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจบางประการให้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจ ยอมให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญใหม่” หรือ “รัฐธรรมนูญกลาง”
ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบบประธานาธิบดี มี 2 ประการ คือ
1 ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
2 มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กล่าวคือ เป็นอิสระจากกัน ไม่มีมาตรการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร และในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร สังเกตว่าในข้อนี้จะแตกต่างจากการปกครองในระบบรัฐสภาอย่างชัดเจน
การจัดตั้งสถาบันการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
ก. สถาบันนิติบัญญัติ (สภาคองเกรส)
รัฐสภาอเมริกัน เรียกว่า “สภาคองเกรส” (Zcongress) ประกอบด้วย 2 สภา คือ
1 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แบบเสียงข้างมากรอบเดียว มีวาระในการดำลงตำแหน่ง 2 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 435 คน รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของศูนย์กลางแห่งอำนาจหรือที่เรียกว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิเศษของวอชิงตัน ดี.ซี.” อีก 3 คน ฉะนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด 438 คน
คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติอเมริกันมาแล้วอย่างน้อย 7 ปี
2 สภาสูงหรือวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 2 คนต่อ 1 มลรัฐ รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่สมาชิก 1 ใน 3 ของทั้งหมดจะต้องจับถูกสลากออกไปสมัครเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ 2 ปี ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา คือ ต้องมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปและได้สัญชาติอเมริกันมาแล้ว 9 ปีขึ้นไป
สมาชิกของสภาคองเกรสได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกของสภาทั่วๆไปในรัฐสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษี ค่าใช้จ่ายของเลขานุการ เงื่อนไขในการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรสยังดีกว่าสมาชิกของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลข่าวสาร
อำนาจหน้าที่ของสภาเกรส
1 อำนาจในการตรากฎหมายและการตรากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างมีอำนาจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะต้องริเริ่มโดยสภาผู้แทนราษฎร
2 อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งจากสภาคองเกรส หรือจากสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่างๆ
3 อำนาจในการเลือกตั้งแทน เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน กรณีนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีส่วนวุฒิสภาก็จะใช้สิทธิเลือกรองประธานาธิบดี
4 อำนาจอื่นๆของสภาคองเกรส เช่น ดูแลการบริหารของหน่วยงานบริการสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา
อำนาจหน้าที่เฉพาะของสภาสูงหรือวุฒิสภาของอเมริกา
1 ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหพันธรัฐ
2 ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยต้องได้รับการให้สัตยาบันจากสภาสูงด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3
ข. สถาบันบริหารของสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐมนตรีทั้งปวง โดยประธานาธิบดีจะเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้
การเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับเลือกมาพร้อมกันในรูปแบบของ “Ticket” เดียวกันโดยได้รับเลือกจากประชาชน มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคดังกล่าว จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 50 มลรัฐ เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกกันว่าเป็นการประชุมระดับ Convention เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย
ขั้นตอนที่ 2
กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างเช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน ดังนั้นรวมแล้วได้ 32 คน ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตซึ่งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ 32 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใด ก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น และจะต้องเลือกทั้ง 32 คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะได้สรุปว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่
สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (435 + 3 + 100 ) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป
ดังนั้นจะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก 50 มลรัฐของแต่ละพรรค ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง 270 เสียง คือ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (กึ่งหนึ่ง = 269) ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี
ขั้นตอนที่ 3
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน 538 คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป ก็หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
โดยที่ประชุมของสภาคองเกรส จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และหลังจากนั้นก็จะมีพิธีการอย่างเป็นทางการในการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร
วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ก็คือ 4 ปี ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกิดว่างลงหรือไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยสิ้นเชิง รองประธานาธิบดีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่ และมีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับประธานาธิบดี
ค. สถาบันตุลาการ (ศาลยุติธรรมสูงสุด)
ศาลสูงสุดของอเมริกา ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงโดยหน้าที่หลักๆของศาลสูงสุดของอเมริกา ได้แก่
1 ควบคุมดูแลมิให้กฎหมายอื่นใดมาขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญกลาง
2 พิจารณาพิพากษาในกรณีมีการกล่าวหาทูต กงสุล รัฐมนตรี หรือรัฐสมาชิก
ข้อ 2 ท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอย่างไร และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ขอให้ท่านอธิบายมาพอสังเขป
ธงคำตอบ
รัฐธรรมนูญโดยทั่วไปแล้ว หมายถึง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่ากฎหมายอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตามหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีการยอมรับเสมอไป โดยจำเป็นที่จะต้องแยกถึงความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญที่มิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร และที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร
สำหรับรัฐธรรมนูญที่มิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น รัฐธรรมนูญมีศักดิ์เท่ากับกฎหมายธรรมดา การเป็นรัฐธรรมนูญก็เพียงเพราะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากกฎหมายธรรมดาเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม ในประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร จะถือว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่าบทบัญญัติในกฎหมายอื่นๆ และถือเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งกฎหมายธรรมดาจำต้องเคารพบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยจะไปขัดหรือแย้งหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้ กฎหมายหรือแม้แต่กฎซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมีผลเป็นโมฆะ และไม่มีผลในทางกฎหมายแต่อย่างใด
ประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นๆจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ (ตามมาตรา 6) องค์กรที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจแยกวิธีการในการควบคุมได้เป็น 2 กรณี คือ
1 กรณีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้
เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หรือถือว่าให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อนถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย (มาตรา 262)
(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคาวามเห็นดังกล่าว ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(2) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(3) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
อนึ่ง ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
2 กรณีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญภายหลังที่มีการประกาศใช้
มาตรา 264 “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว”
มาตรา 198 ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆเช่น ตามมาตรา 219 ที่บัญญัติให้ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใดตามมาตรา 218 วรรคสาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ การออกพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรี มิได้ออกมาเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะนั่นเอง โดยให้ประชาชนแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ข้อ 3 จงอธิบายกระบวนตราพระราชกำหนด
ธงคำตอบ
พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา และพระราชกำหนดดังกล่าวนี้มีศักดิ์ฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเลยทีเดียว
พระราชกำหนดมี 2 ประเภท
1 พระราชกำหนดทั่วไป เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุฉุกเฉิน จำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงออกพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ (มาตรา 218)
2 พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา เป็นการออกพระราชกำหนดในระหว่างสมัยประชุมสภา ซึ่งถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างพระราชกำหนดทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับได้ (มาตรา 220)
กระบวนการในการตราพระราชกำหนด
– ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกำหนด คือ รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น
– ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชกำหนด คือ คณะรัฐมนตรี
– ผู้มีอำนาจตราพระราชกำหนด คือ พระมหากษัตริย์
– เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว พระราชกำหนดก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
อนึ่ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระราชกำหนดเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องมีการเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐสภาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง โดยแยกพิจารณาตามประเภทของพระราชกำหนดได้ดังนี้
พระราชกำหนดทั่วไป คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่ชักช้า
พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา คณะรัฐมนตรีจะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผลของการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด
1 กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
2 กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
3 กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนด แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
4 กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด หรือวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
ข้อ 4 คณะรัฐมนตรีได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 107(3) แก้ไขเป็น “ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า” ต่อมาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดน่านไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน เห็นว่าเป็นการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 30 เรื่องความเสมอภาคของบุคคลในกฎหมาย จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังได้ร่วมกันเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 107(3) จากเดิมแก้ไขเป็น “ให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย” เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยทั้งนี้ได้จัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฯ เสนอมาด้วย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ในกรณีดังกล่าวนี้ การเสนอญัตติของคณะรัฐมนตรีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประชาชนจำนวนดังกล่าวนี้สามารถจะยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งสามารถร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 313 “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอหรือร่วมเสนอญัตติดังกล่าวด้เมื่อพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสังกัดมีมติให้เสนอได้
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้”
มาตรา 170 “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้”
การเสนอญัตติของคณะรัฐมนตรีชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ ตามมาตรา 313 และกรณีดังกล่าวนี้ก็ไม่เป็นญัตติขอแกไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นข้อห้ามตามมาตรา 313 วรรค 2 ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน จะยื่นเรื่องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ หรือกฎหมายอื่นใดที่ให้สิทธิหรืออำนาจแก่ประชาชนจำนวนดังกล่าวในการที่จะยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีนี้ได้
นอกจากนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 313 ก็ไม่ได้ให้สิทธิแก่บุคคลใดในการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ดังนั้นในการร่วมกันเข้าชื่อของประชาชนจำนวนดังกล่าวเพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้ และกรณีก็ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 170 เพื่อร้องขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) และหมวด 5 (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ)แต่อย่างใด