การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 

Advertisement

กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1.      ให้อธิบายถึงหลักการสำคัญของรูปการปกครองในระบบรัฐสภา  ระบบประธานาธิบดี  และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  มาตามที่เข้าใจ

แนวคำตอบ

รูปการปกครองในระบบรัฐสภาเป็นรูปการปกครองที่การจัดตั้งองค์กรในการใช้อำนาจรัฐ มีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้องค์กรดังกล่าวสามารถมีปฏิสัมพันธ์และสามารถใช้มาตรการในการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติและการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหาร ดังเช่น ระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ และระบบการปกครองของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2540

–      รูปการปกครองในระบบประธานาธิบดีจะมีการกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันให้เป็นอิสระมากที่สุด เป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็ไม่มีอำนาจล้มล้างซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจในการขอเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารและทางฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น รูปการปกครองของสหรัฐอเมริกา

–      ส่วนรูปการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เป็นรูปการปกครองที่นำเอาหลักการของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีมาใช้ร่วมกัน มีการนำเอามาตรการในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารมาใช้ในส่วนของคณะรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนไม่สามารถเปิดอภิปรายตัวประธานาธิบดีเหมือนกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี จะมีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น ตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

 


ข้อ 2
.      ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ     มีความหมายอย่างไร  และมีผลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร ขอให้อธิบาย

แนวคำตอบ

1.  ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามแนวความคิดของ Rousseau นั้น หมายความว่า ราษฎรแต่ละคนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย Rousseau กล่าวว่าสมมติว่าในรัฐ ๆ หนึ่งมีประชากรอยู่หนึ่งหมื่นคน ดังนั้นประชากรแต่ละคนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่ากับหนึ่งในหนึ่งหมื่นส่วน และราษฎรแต่ละคนต่างควรได้รับประโยชน์จากความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตนไม่มีใครจะมาพรากไปจากเขาได้

ส่วนผลทางกฎหมาย คือ

1)  การเลือกตั้งถือเป็นการใช้สิทธิและการเลือกตั้งต้องเป็นอย่างทั่วถึง (Universal suffrage)

2)  ผู้ได้รับเลือกตั้งถือว่าเป็นผู้อยู่ในอาณัฐของผู้เลือกตั้ง

                2.  ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ หมายความถึงแนวคิดของ Seyés (ซีแอส) ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน แต่เมื่อราษฎรมารวมตัวกันเป็นชาติก็เท่ากับว่าได้ยกอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตนให้กับสังคม และสังคมที่ว่านี้ก็คือชาตินั่นเอง ชาตินั้นเป็นนิติบุคคลที่มีความต่อเนื่องของสังคมทุกยุค   ทุกสมัย ผลของการที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติคือ

1) การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะชาติอาจมอบหมายให้ราษฎรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลือกผู้แทนให้แก่ชาติ และการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบทั่วถึง

2)  ผู้ได้รับเลือกตั้งถือว่าเป็นตัวแทนของชาติไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนของประชากรที่เลือกเขาเท่านั้น

 

ข้อ 3.      ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพิพากษาคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร  สุนทรเวช เกี่ยวกับการจัดรายการโทรทัศน์  ชิมไปบ่นไป  และ  ยกโขยงหกโมงเช้า   ว่าผิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550  จนทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ซึ่งคำตัดสินคดีดังกล่าว  นักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้และองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการ…. สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ  ว่าท่านมีที่มาอย่างไร มีความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมเชื่อถือได้หรือไม่

ให้นักศึกษาอธิบายว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนเท่าใด  และตุลาการดังกล่าวมีที่มาอย่างไร

แนวคำตอบ  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 ท่าน คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญหนึ่งคน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกแปดคน มีที่มาดังนี้

1.  ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 3 คน

2.  ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน

3.  ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน 2 คน

4.  ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน  2 คน

 

ข้อ 4.      ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง หลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งโดยนายแดงสมาชิกพรรคธรรมไทย และนายสมใจซึ่งเป็นสมาชิกพรรคทุนเสรี ต่างเป็นบุคคลผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองด้วยกันทั้งสองคน  นายสมใจซึ่งได้ซื้อเสียงในการเลือกตั้งได้กลั่นแกล้งนายแดงโดยได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการเลือกตั้งว่า นายแดงได้ทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง  ทั้งนี้โดยนายสมใจได้นำพยานเท็จคือ นายทองและนายเงินมายืนยันในการได้รับเงินจากนายสมใจด้วย  ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการเลือกตั้ง  ต่อมาได้มีการประชุมรัฐสภาโดยมีการถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์        นายสมใจติดภารกิจราชการต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม  นายแดงได้อภิปรายและกล่าวในที่ประชุมโดยกล่าวหาว่าที่นายสมใจได้รับการเลือกตั้งนั้นเพราะนายสมใจได้ทุจริตซื้อเสียงแต่กลั่นแกล้งตนโดยไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการเลือกตั้งว่าตนซื้อเสียงในการเลือกตั้ง  เมื่อนายสมใจกลับจากต่างประเทศได้ทราบเรื่องเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้ทำให้ตนเสียหายต่อชื่อเสียง จึงประสงค์ที่จะฟ้องนายแดงเป็นคดีอาญาต่อศาล ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายสมใจสามารถใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย 

มาตรา  130  ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ที่ประชุมวุฒิสภา  หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา  สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำในทางแถลงข้อเท็จจริง  แสดงความคิดเห็น  หรือออกเสียงลงคะแนน  ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด  ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้

เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์  หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา  และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญา  หรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

วินิจฉัย

บทบัญญัติมาตรา  130  นี้  ถือเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  และสมาชิกรัฐสภา  ที่ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ  มิได้  ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นเอกสิทธิ์เด็ดขาดที่จะไม่คุ้มครองสมาชิกสภาฯ  ในมาตรา  130  วรรคสอง  โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1                 เป็นการกล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา

2                 ถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่ง

3                 ต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ  นายสมใจสามารถใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายแดงได้อภิปรายและกล่าวในที่ประชุมโดยกล่าวหาว่านายสมใจได้รับเลือกตั้งเพราะทุจริตซื้อเสียงนั้น  เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททำให้เสียหายต่อชื่อเสียง  ซึ่งได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์  แต่เมื่อนายสมใจเป็นสมาชิกแห่งรัฐสภานั้น  มิใช่บุคคลภายนอกอื่นๆ  แม้จะไม่อยู่ในที่ประชุมในขณะที่นายแดงกล่าวถ้อยคำนั้นก็ตาม  กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  130  วรรคสอง  ดังนั้นนายสมใจจึงไม่สามารถฟ้องนายแดงเป็นคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาททำให้ตนเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีได้  ตามมาตรา 130  วรรคแรกและวรรคสอง

สรุป  นายสมใจไม่สามารถฟ้องนายแดงเป็นคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาททำให้ตนเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้ได้

Advertisement