การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจตามแนวคิดของมองเตสกิเออร์  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการปกครองทั้ง  3  ระบบ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  2  รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีหมายถึงอะไร  และมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร  ขอให้ท่านอธิบายมาโดยสังเขป

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีนั้น  หมายถึง  การจัดระเบียบและการดำเนินการขององค์กรทางการเมืองเกิดจากทางปฏิบัติ  จารีตประเพณีมีการใช้ต่อเนื่องกันมาในรัฐและมีสภาพบังคับทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญในระบบนี้มีสภาพบังคับที่อ่อนลงกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร  และโดยสภาพยังมีลักษณะที่ไม่ตายตัวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นวิวัฒนาการได้ตลอด  ตัวอย่างที่เป็นคลาสสิกของรัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้  ได้แก่  รัฐธรรมนูญของอังกฤษ

ข้อดีของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี  มีดังนี้

1       รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมป้องกันการปฏิวัติ  หรือรัฐประหารได้  เพราะความไม่แข็งกระด้างตายตัวของรัฐธรรมนูญ  จึงไม่จำต้องละเมิดหรือฝ่าฝืนโดยใช้กำลังบังคับหรือกระทำร้าย

2       รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมีลักษณะยืดหยุ่น  อาจสามารถพลิกแพลงอนุโลมตามสถานการณ์ได้

3       เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการ  และเปลี่ยนแปลงไปโดยราษฎรไม่รู้สึกตัว  จึงไม่มีกรณีที่จะไม่มีบทบัญญัติมาใช้บังคับ  (คือไม่มีกรณีช่องว่างแห่งรัฐธรรมนูญ)   เหมือนอย่างกรณีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

ข้อเสียของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

1       มีข้อความไม่แน่นอน  ทำให้เกิดปัญหาโต้แย้งกันได้เสมอว่ารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติอย่างไร

2       เปิดโอกาสให้ทดลองวิธีใหม่ๆ  ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้โดยวิวัฒนาการได้  เพราะวิวัฒนาการนั้นต้องอาศัยของเดิม

 

ข้อ  3  จงอธิบายเหตุผลและขั้นตอนการตราพระราชกำหนด

ธงคำตอบ

พระราชกำหนด  เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา  และพระราชกำหนดดังกล่าวนี้มีศักดิ์ฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเลยทีเดียว

พระราชกำหนดมี  2  ประเภท

1       พระราชกำหนดทั่วไป  เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุฉุกเฉิน  จำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้  จึงออกพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ  (มาตรา  218)

2       พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา  เป็นการออกพระราชกำหนดในระหว่างสมัยประชุมสภา  ซึ่งถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ  นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างพระราชกำหนดทูลเกล้าฯ  ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับได้  (มาตรา  220)

กระบวนการในการตราพระราชกำหนด

–                    ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกำหนด  คือ  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น

–                    ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชกำหนด  คือ  คณะรัฐมนตรี

–                    ผู้มีอำนาจตราพระราชกำหนด  คือ  พระมหากษัตริย์

–                    เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  พระราชกำหนดก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

อนึ่ง  รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระราชกำหนดเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  คณะรัฐมนตรีจะต้องมีการเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐสภาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง  โดยแยกพิจารณาตามประเภทของพระราชกำหนดได้ดังนี้

พระราชกำหนดทั่วไป  คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป  เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่ชักช้า

พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา  คณะรัฐมนตรีจะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน  3  วัน  นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผลของการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด

1       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

2       กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ  พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

3       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนด  แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ  และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

4       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด  หรือวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

 

ข้อ  4  เอกได้ฟ้องแดง  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลจังหวัดลพบุรี  ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  แดงได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลจังหวัดลพบุรีว่า  พระราชบัญญัติที่ศาลจะนำมาใช้บังคับแก่คดีของตนนั้น  กระบวนการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  แดงจึงขอให้ศาลจังหวัดลพบุรีส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  ดังนั้นให้ท่านวินิจฉัยว่าตามที่รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  หากท่านเป็นศาลจังหวัดลพบุรีซึ่งกำลังพิจารณาคดีนี้  ท่านจะดำเนินการและมีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา  264  ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  264  รัฐธรรมนูญนั้น  กรณีพิพาทตามบัญญัติมาตรานี้คือ  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นการที่นายแดงโต้แย้งว่า  กระบวนการตราของพระราชบัญญัติ  ที่จะนำมาบังคับใช้กับคดีของตนขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  กรณีจึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย  ที่ศาลจะนำมาบังคับใช้กับคดีของตน  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจังหวัดลพบุรีซึ่งกำลังพิจารณาคดีนี้  ก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายแดง  เพื่อดำเนินการส่งคำร้องโต้แย้งในกรณีดังกล่าวนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามที่นายแดงร้องขอ

Advertisement