การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนโยบายของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขอให้ท่านอธิบายถึงวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาว่ามีวิธีการเลือกตั้งอย่างไร และการปกครองในระบอบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามีสาระสำคัญอย่างไร ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบหนึ่งที่ยึดหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐของมองเตสกิเออร์เช่นกัน แต่เป็นการแบ่งแยกอำนาจในลักษณะค่อนข้างเด็ดขาด คือ ต่างฝ่ายต่างมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ทำให้ต่างเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นต่อกัน ในระบบนี้รัฐธรรมนูญจะไม่มีการกำหนดมาตรการแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการที่จะล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่นในระบบรัฐสภา
การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามีสาระสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
- มีการเลือกตั้งประมุขของรัฐโดยประชาชน และเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว ประธานาธิบดีก็มีอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีตามที่เห็นสมควรให้บริหารประเทศได้
- ฝ่ายบริหาร ทั้งประธานาธิบดีและรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา กล่าวคือ สภาจะอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และรัฐมนตรี ให้พ้นตำแหน่งก่อนหมดวาระไม่ได้
- ประธานาธิบดี ไม่มีอำนาจยุบสภา
การจัดการปกครองระบบนี้ทำให้เห็นได้ว่า ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงสามารถที่จะอยู่ครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งสถาบันประมุขแห่งรัฐหรือประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
สถาบันประมุขแห่งรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม กล่าวคือ ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรคริพับลิกัน และพรรคเดโมแครตที่มีโอกาสสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อมาทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ โดยมีขั้นตอนดังนี้คือ
ขั้นตอนที่ 1
พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคดังกล่าว จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 50 มลรัฐ เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกว่าเป็นการประชุมระดับ Convention เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย
ขั้นตอนที่ 2
กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นั้น แต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน รวมแล้วได้ 32 คน ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ 32 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซองพรรคใดก็จะลงคะแนนให้แกํบุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น และจะต้องเลือกทั้ง 32 คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะสรุปได้ว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่
สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาซิก (438 + 100) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป
ดังนั้นจะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก 50 มลรัฐของแต่ละพรรค ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง 270 เสียง คือเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (กึ่งหนึ่ง – 269) ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
ขั้นตอนที่ 3
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน 538 คนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรคก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป ก็หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
และรองประธานาธิบดี
แต่ถ้าหากเกิดกรณีไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคใดได้คะแนนเสียงดังกล่าว รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีเช่นนี้ให้วุฒิสภาทำหน้าที่เลือกตั้งรองประธานาธิบดี และให้สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลือกตั้งประธานาธิบดีจากผู้สมัครดังกล่าว
ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
รัฐธรรมนูญมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับตัวข้าพเจ้าดังนี้ คือ
“รัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตย และการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิบไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศ
ซึ่งอำนาจดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่
- อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน (รวมทั้งข้าพเจ้า) ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
ในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชน (รวมทั้งข้าพเจ้า) นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้
- อำนาจบริหาร หมายถึง อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
ในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อำนาจในทางปกครองเพื่อการออกกฎ ออกคำสั่ง รวมทั้งการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอำนาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้
- อำนาจตุลาการ หมายถึง อำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจนี้คือ ศาล ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนรวมทั้งข้าพเจ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วยและนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังมีความสำคัญต่อข้าพเจ้าและประชาชนคนอื่น ๆ อีกตรงที่ว่าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น จะกำหนดเกี่ยวกับขอบเขตตลอดถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของชนชาวไทย เช่น สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในการศึกษาหรือในการประกอบอาชีพ เป็นต้น รวมทั้งยังกำหนดให้ทราบว่าข้าพเจ้าและประชาชนคนไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยอย่างไรบ้าง
ข้อ 3. ให้อธิบายถึงโครงร่างของรัฐธรรมนูญฯ ภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่าอย่างน้อยต้องประกอบด้วยโครงสร้างหรือองค์ประกอบสำคัญใดบ้าง อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน
ธงคำตอบ
โครงร่างของรัฐธรรมนูญฯ ภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น มักมีโครงร่างของรัฐธรรมนูญฯ ที่ใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศใดก็ตามประกอบไปด้วย ส่วนนำที่เป็นคำปรารภหรือคำนำของรัฐธรรมนูญฯ และส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหรือเนื้อความของตัวรัฐธรรมนูญฯ ดังต่อไปนี้
- คำปรารภ (Preamble) จากการพิจารณาคำปรารภในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับต่าง ๆ กล่าวได้ว่าคำปรารภนั้น หมายความถึง คำนำ อารัมภบท และบทนำ (Preface, Introduction, Foreword) ในเรื่องราว
ของรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนั้น ดังเช่น คำปรารภที่มุ่งแสดงเหตุผลที่มาและจำเป็นแห่งการมีรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนั้น หรือวางหลักเจตนารมณ์พื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญฯ หรือพรรณนาถึงเกียรติคุณของผู้จัดทำ ทั้งนี้ คำปรารภเป็นคนละส่วนกับส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหรือเนื้อความของตัวรัฐธรรมนูญฯ แต่อาจอาศัยคำปรารภในรัฐธรรมนูญฯ เป็นเครื่องมือช่วยในการตีความมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญฯ หรืออาจนำมาใช้ในการค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่าง คำปรารภจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
- เนื้อความของรัฐธรรมนูญ (Content) จากการพิจารณาเนื้อความของรัฐธรรมนูญฯซึ่งเป็นสาระสำคัญที่อยู่ถัดจากคำปรารภจะโดยกำหนดเนื้อหาสาระเรียงลำดับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯดังต่อไปนี้
1) การกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ (Organizational Section) ในทางทฤษฎีถือว่ากฎเกณฑ์การปกครองประเทศ เป็นสารัตถสำคัญในรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดโครงสร้างการบริหารประเทศ รวมทั้งกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้ กฎเกณฑ์การปกครองประเทศนั้นมิได้มีเฉพาะในรัฐธรรมนูญฯ ของรัฐที่ปกครองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ ในรัฐที่การปกครองภายใต้การปกครองระบอบอื่นใด ดังเช่น การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์หรือการปกครองระบอบเผด็จการต่างล้วนมีกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศทั้งสิ้น
2) การกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (Bill of Rights) ในทางทฤษฎีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถือว่าเป็นสารัตถสำคัญของรัฐที่ปกครองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยกำหนดขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวย่อมผันแปรไปตามระบอบการปกครองในแต่ละรัฐ แต่บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่วนใหญ่จะปรากฏแต่เฉพาะในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนรัฐธรรมนูญฯ ของรัฐที่ปกครองภายใต้การปกครองระบอบอื่นใด ดังเช่น การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ หรือการปกครองระบอบเผด็จการ ส่วนใหญ่ต่างมิได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญฯแต่อย่างใด
3) การกำหนดกฎเกณฑ์อื่นในรัฐธรรมนูญ (Technical Provisions) เป็นการกำหนด กฎเกณฑ์เพื่อให้ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหรือเนื้อความของตัวรัฐธรรมนูญฯ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม (Procedures for amendment/Amendatory Provisions)
การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นกฎหมายสูงสุด (Supremacy) การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่ของพลเมือง (Civic Duties) การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแนวนโยบายแห่งรัฐ (State Policy) รวมทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล (Interim Provisions) เป็นต้น
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้มีการกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะต้องผ่านการทำประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศก่อนก็ตาม แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะต้องทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเหมือนอย่างที่เคยมีการทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฯพ.ศ. 2550 ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) กำหนดให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(รัฐธรรมนูญฉบับถาวร)
เหตุผลที่สมควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมาจัดทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ก็เพื่อจะช่วยสร้างความชอบธรรมและให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของประชาชน จะช่วยลดความขัดแย้งและจะทำให้มีความรู้สึกว่าประชาชนก็มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยนั่นเอง
ข้อ 4. ศาลฎีกาได้มีมติที่ประชุมใหญ่ให้ส่งคำร้องโต้แย้งของนายแดงจำเลยในคดีศาลอาญาซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทฯ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเนื่องจากนายแดงได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ มาตรา 9
การสันนิษฐานว่าถ้าผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคลก็ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น และเป็นกฎหมายที่ศาลอาญาจะนำมาตัดสินกับคดีของตนเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการคุ้มครอง กรณีจึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และเรื่องนี้ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าตามรัฐธรรมนูญ ฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องฯ นี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และคำร้องโต้แย้งของนายแดงในกรณีนี้สามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบโดยชัดแจ้ง
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
มาตรา 28 วรรคสอง “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”
มาตรา 40 “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวบการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(7) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ…”
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลฎีกาได้มีมติที่ประชุมใหญ่ ให้ส่งคำร้องโต้แย้งของนายแดงจำเลยในคดีศาลอาญาซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทฯ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากนายแดงได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศาลอาญาจะนำมาตัดสินกับคดีของตน เป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการคุ้มครอง กรณีจึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องฯ นี่ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่ และคำร้องโต้แย้งของนายแดงในกรณีนี้สามารถรับฟังได้หรือไม่นั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องฯ ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ประกอบรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 ให้ศาลส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลที่จะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งดังกล่าว หมายถึง ศาลที่กำลังพิจารณาคดีดังกล่าวเท่านั้นซึ่งกรณีตามอุทาหรณ์ย่อมหมายถึงศาลอาญามิใช่ศาลฎีกา ดังนั้น การที่ศาลฎีกามีมติให้ส่งคำร้องโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องฯ นี่ไว้พิจารณาวินิจฉัย
ประเด็นที่ 2 คำร้องโต้แย้งของนายแดงในกรณีนี้สามารถรับฟังได้หรือไม่
การที่นายแดงได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศาลอาญาจะนำมาตัดสินกับคดีของตนนั้น เป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการคุ้มครอง กรณีจึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แต่นายแดงก็มิได้ระบุว่าตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น เป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตราใด จึงต้องด้วยมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 กล่าวคือนายแดงไม่ได้ระบุมาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 40 (7) ประกอบมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไว้ด้วย ดังนั้น คำร้องโต้แย้งของนายแดงในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ และเป็นคำร้องโต้แย้งที่รับฟังไม่ไต้
สรุป
ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องฯดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และคำร้องโต้แย้งของนายแดงในกรณีนี้รับฟังไม่ได้