การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จงนำแนวคิดทฤษฎีและหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยไปอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ ที่มาของอำนาจบริหาร การใช้อำนาจนิติบัญญัติ การใช้อำนาจบริหาร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างละเอียด

ธงคำตอบ

ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

  1. อำนาจนิติบัญญัติ

อำนาจนิติบัญญัติมี “รัฐสภา” เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา”

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ

1) สภาผู้แหนราษฎร (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดย

(1)     เป็นสมาชิกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และ

(2)     เป็นสมาชิกฯ ที่มาจากทารเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน

(1)     การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน

การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ให้คำนวณจากราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ย (หาร) ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 375 คน

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมิ ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ที่คำนวณได้นั้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ก็ให้มีสมาชิกฯ ได้ 1 คน จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ให้มีสมาชิกฯ ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ1 คน

จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯ ได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯ ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตังมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกฯ ที่พึงมี โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกฯ 1 คน (มาตรา 94)

(2)     การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้เลือกบัญชีรายใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 95)

บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 95 ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชีไม่เกินบัญชีละ 125 คน และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 96)

การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 98)

2) วุฒิสภา (ส.ว.)

วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก

–        การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน

–        การสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหารวม 73 คน

  1. อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย

(1)     นายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

(2)     รัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน ซึ่งมีตำแหนงหลากหลาย เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีงนั้นนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

การใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

  1. อำนาจนิติบัญญัติ ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง หรือกฎหมายอื่น ๆ มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ เช่น ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เป็นต้น มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น
  2. อำนาจบริหาร ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือการใช้อำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหารจะต้องเป็นไปตามแนวคิดทฤษฎีและหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เช่น

(1) หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินการให้ได้มาซึ่งอำนาจต่าง ๆ นั้นจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จะแตกต่างไปจากที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ไม่ได้

(2)     หลักความรู้ความสามารถ เช่น การกำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือคุณวุฒิของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นต้น

(3)     หลักของความสุจริต หมายความว่า การได้มาของอำนาจและการใช้อำนาจดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม

(4)     หลักประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ การใช้อำนาจต่าง ๆ นั้น จะต้องเป็นการใช้อำนาจโดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จะต้องไม่เป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มหรือบุคคลบางคนเท่านั้น

 

ข้อ 2. ประเทศไทยไต้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ตั้งแต่ปี พ.ค. 2475 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 82 ปี แต่ระบอบประชาธิปไตยของไทยยังล้มลุกคลุกคลาน จงอธิบายว่า

  1. รัฐสภาของไทยได้เปลี่ยนแปลงมาแล้วกี่รูปแบบอะไรบ้าง
  2. ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ ที่มาของอำนาจบริหารตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่าน ๆ มามีเรื่องใดที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบ้าง (ควรตอบเป็นประเด็น ๆ )

ธงคำตอบ

  1. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน รัฐสภาของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 5 รูปแบบ ดังต่อไปนี้ คือ

(1)     แบบสภาเดียวและมีสมาชิกประเภทเดียว คือสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เช่น รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2502 และ พ.ศ. 2515, รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519, รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2534 และ พ ศ. 2549

(2)     แบบสภาเดียวมีสมาชิกสองประเภท คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2475

(3)     แบบสองสภามีสมาชิกสองประเภท คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2517, พ.ศ. 2521 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534

(4)     แบบสองสภามีสมาชิกประเภทเดียว คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา) ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540

(5)     แบบสองสภามีสมาชิกสองประเภท คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง (สมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา) และสมาชิกที่มาจากการสรรหา (สมาชิกวุฒิสภา) ซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550

  1. ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ และที่มาของอำนาจบริหารตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่าน ๆ มา จะแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550) ในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

(1)     ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ (ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา)

–        สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2511ไม่มีการบังคับว่าจะต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว

– สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 15 จะมาจาก

การแต่งตั้ง ยกเว้นฉบับที่ 3 คือ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2489 และฉบับที่ 16 คือรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 สมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้ง ส่วนฉบับปัจจุบัน จะมาจากการเลือกตั้งและสรรหา

–        สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่เดิมจะไม่กำหนดวุฒิการศึกษาไว้ แต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 จะกำหนดไว้ว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(2)     ที่มาของอำนาจบริหาร (คณะรัฐมนตรี)

รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดไว้เหมือนกันคือ คณะรัฐมนตรีจะต้องประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกจำนวน (ไม่เกิน) กี่คน เพียงแต่จะแตกต่างกันก็ตรงจำนวนของรัฐมนตรีนั่นเองที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับอาจจะกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น เดิมอาจจะเป็นข้าราชการประจำได้ แต่ต่อมารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่าจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้

การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพียงแต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอาจเป็นบุคคลใดก็ได้ยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (พ.ศ.2475) ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) ฉบับที่       15 (พ.ศ. 2534) ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) และฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550 ที่จะกำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้นส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญจะไม่บังคับว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 จะกำหนดไว้เลยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี สมาชิกผู้นั้นก็จะต้องหมดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน)ไม่ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะต้องหมดสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด

และนายกรัฐมนตรีรวมทั้งรัฐมนตรีนั้น แต่เดิมมักจะไม่กำหนดวุฒิการศึกษาไว้แต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 

ข้อ 3. ร.ต.ต.เด่น เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการจับกุมนายสมจิตและนายสมทรงข้อหารับของโจร และได้นำส่งแก่ ร.ต.อ.ดี พนักงานสอบสวนซึ่งในการจับกุมและชั้นสอบสวน นายสมจิตให้การรับสารภาพว่าตนได้เป็นผู้กระทำความผิดจริง ส่วนนายสมทรงให้การปฏิเสธ ทั้งนี้ในการจับกุมและการสอบสวนของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี ไม่ได้มีการแจ้งสิทธิแก่นายสมจิตผู้ต้องหาในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด มีเพียงการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่นายสมทรงเท่านั้น หากนายสมจิตเห็นว่าการกระทำของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี เป็นการละเมิดสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ จึงมาปรึกษาท่านเพื่อยืนคำร้องเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของตนจาก ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี และประสงค์ที่จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในกรณีนี้ด้วย ดังนี้ ท่านจะแนะนำนายสมจิตในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 40 “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้

(1)     สิทธิเข้าถึงกระบวบการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

(2)     สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริงข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน …

(3)     บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

(4) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวบอย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

(5) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือที่จำเป็น และเหมาะสมจากรัฐ …”

 

มาตรา 212 “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

มาตรา 257 วรรคแรก “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยออกได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้คือ

ประเด็นที่ 1 การกระทำของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี เป็นการละเมิดสิทธิของนายสมจิตตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในการจับกุมและการสอบสวนของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี เมื่อไม่ได้มีการแจ้งสิทธิแก่นายสมจิตผู้ต้องหาในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 83 มาตรา 134 และมาตรา 134/1) ซึ่งเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างใดนั้น การกระทำของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตามที่นายสมจิตได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40 ซึ่งนายสมจิตได้รับการประกันสิทธิในทางศาลตามรัฐธรรมนูญฯ ในอันที่จะใช้สิทธิในทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

ประเด็นที่ 2 นายสมจิตสามารถยื่นคำร้องเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของตนได้หรือไม่

ตามอุทาหรณ์ แม้การกระทำของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี จะถือว่า เป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่นายสมจิตได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ ก็ตาม แต่การที่นายสมจิตจะยื่นคำร้องเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของตนนั้นไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในกรณีดังกล่าวได้ เพราะ

  1. ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตราใดซึ่งเกี่ยวด้วยกรณีนี้ที่จะให้สิทธิแก่นายสมจิตในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
  2. กรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะทำให้นายสมจิตยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เนื่องจากไม่ใช่เป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ”

ประเด็นที่ 3 นายสมจิตจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในกรณีนี้ได้หรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำของ ร.ต.ต.เด่น และ ร.ต.อ.ดี ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 257 (1) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น นายสมจิตจึงสามารถที่จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใน

กรณีนี้ได้

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายสมจิตในกรณีนี้ว่า การกระทำของ ร.ต.ต.เด่น และร.ต.อ.ดี เป็นการละเมิดตอสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของนายสมจิตตามรัฐธรรมนูญอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายสมจิตสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ แต่จะยื่นคำร้องเป็นคดีต่อศาลธรรมนูญ เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของตนดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการได้ฟ้องนายเอกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีในความผิดฐานกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตตามมาตรา 18 และมาตรา 150 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ซึ่งศาลฯ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องหลังจากนั้น 3 เดือน ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเอกเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีในความผิดฐานขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 43 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ซึ่งศาลฯได้นัดพิจารณาคดีนี้ในระหวางสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ นายเอกจึงได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีว่า ศาลฯ ได้เคยนำมาตรา 18 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตัดสินกับคดีของตน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา 39 เรื่องข้อสันนิษฐานของจำเลยในคดีอาญา จึงขอให้ศาลฯ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย และกรณีนี้ก็ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และการที่ศาลฯได้นัดพิจารณาคดีนี้ซึ่งมิใช่อยู่ระหว่างสมัยประชุมสามัญทั่วไป แต่อยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติเป็นกรณีที่ศาลฯ ไม่อาจกระทำได้

ดังนั้น ให้ท่านวินิจฉัยว่า คำร้องโต้แย้งของนายเอกทั้งสองประเด็นสามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 131 วรรคแรกและวรรคสาม “ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภารได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา”

มาตรา 211 วรรคแรก “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้

ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คำร้องโต้แย้งของนายเอกทั้ง 2 ประเด็นสามารถรับฟังได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีว่า ศาลฯ ได้เคยนำมาตรา 18 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตัดสินกับคดีของตน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 39 เรื่องข้อสันนิษฐานของจำเลยในคดีอาญา จึงขอให้ศาลฯ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย และกรณีนี้ก็ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดนั้น คำร้องโต้แย้งของนายเอกประเด็นนี้ ไม่สามารถรับฟังได้ เพราะแม้ว่าตามมาตรา 18 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ซึ่งเป็นกฎหมายในทางรูปแบบที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ตามความหมายของมาตรา 211 แห่งรัฐธรรมนูญฯก็ตาม แต่การที่นายเอกได้โต้แย้งว่า ศาลฯ ได้เคยนำมาตรา 18 และมาตรา 150 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตัดสินกับคดีของตนนั้น กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 211 เพราะเป็นการโต้แย้งว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ที่ศาลนำมาตัดสินบังคับแก่คดีนั้นเป็น “คดีอื่น” ซึ่งมิใช่คดีที่ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีกำลังพิจารณา ดังนั้นกรณีนี้ ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีจะไม่รับคำร้องโต้แย้งของนายเอกเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 2 การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีว่า การที่ศาลฯได้นัดพิจารณาคดีนี้ซึ่งมิใช่อยู่ระหว่างสมัยประชุมสามัญทั่วไป แต่อยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติซึ่งเป็นกรณีที่ศาลฯ ไม่อาจกระทำได้นั้น คำร้องโต้แย้งของนายเอกประเด็นนี้ไม่สามารถรับฟังได้ เพราะแม้ว่าตามมาตรา 131 วรรคแรก จะได้บัญญัติว่าห้ามมิให้จับกุม คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาก็ตามแต่ในมาตรา 131 วรรคสาม ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและศาลสามารถพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมได้ ถ้าได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าการที่ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีได้นัดพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินั้น เป็นคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้เพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 131 วรรคสาม

สรุป

คำร้องโต้แย้งของนายเอกทั้ง 2 ประเด็น ไม่สามารถรับฟังได้

Advertisement