การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  มุกเช่ารถยนต์มาจากป้องเพื่อใช้ในงานบวชลูกชาย  ป้องวานให้ป่านน้องชายช่วยขับรถเช่าคันนี้ไปส่งมอบให้มุกที่บ้าน  ระหว่างทางป่านขับรถโดยประมาทชนสร้อยฟ้าได้รับบาดเจ็บสาหัส  ดังนี้สร้อยฟ้าจะฟ้องให้มุก  ป้อง  และป่าน  ร่วมกันรับผิดได้หรือไม่  และมารดาของสร้อยฟ้าจะเรียกร้องค่ารถและค่าที่พักระหว่างมาดูแลบุตร  รวมทั้งค่าขาดรายได้ของตนในระหว่างไปดูแลบุตรได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ป่านได้ขับรถโดยประมาทชนสร้อยฟ้าได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น  การกระทำของป่านถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของป่าน  ดังนั้นจึงถือว่าป่านได้กระทำละเมิดต่อสร้อยฟ้าตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่สร้อยฟ้า

การที่ป้องได้วานให้ป่านเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งมอบให้มุก  ถือว่าป่านได้กระทำในฐานะตัวแทนของป้องที่เป็นตัวการ  และเมื่อป่านได้กระทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ป้องซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดกับป่านด้วยตามมาตรา  427  ซึ่งให้นำบทบัญญัติในมาตรา  425  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนมุกซึ่งมิได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับป่านซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิด  จึงไม่ต้องรับผิดต่อสร้อยฟ้า

สำหรับมารดาของสร้อยฟ้า  สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารถ  และค่าที่พักระหว่างมาดูแลบุตรได้  เพราะเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ต้องเสียไปตามมาตรา  444  วรรคแรก  แต่จะเรียกค่าขาดรายได้ของมารดาในระหว่างไปดูแลบุตรซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้  เทียบฎีกาที่ 3345/38

สรุป

1       สร้อยฟ้าสามารถฟ้องให้ป้องและป่านร่วมกับรับผิดได้  แต่จะฟ้องมุกไม่ได้ 

2       มารดาของสร้อยฟ้าสามารถเรียกร้องค่ารถและค่าที่พักระหว่างมาดูแลบุตรได้  แต่จะเรียกค่าขาดรายได้ของตนไม่ได้

 

 

ข้อ  2   เด็กชายจตุพร  อายุ  14  ปี  มีนิสัยเกเร  ชอบพกระเบิดขวดไปโรงเรียนเป็นประจำ  นายวีระซึ่งเป็นบิดาก็ทราบเรื่องได้ว่ากล่าวตักเตือนหลายครั้งมิให้พกไปโรงเรียน  แต่เด็กชายจตุพรไม่เชื่อฟัง  ยังคงพกพาระเบิดขวดอยู่เสมอ  วันเกิดเหตุ  เด็กชายจตุพรเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงและทะเลาะกับเด็กชายณัฐวุฒิเพื่อแย่งที่นั่งกัน  ทำให้เด็กชายจตุพนโกรธ  หยิบระเบิดขวดขึ้นมาขว้างใส่คู่อริ  สะเก็ดระเบิดถูกนายซวยถึงแก่ความตายทันที

ดังนี้  บุตรชายอายุ  10  ปี  ของนายซวยจะฟ้องให้นายวีระและเด็กชายจตุพรรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอะไรได้บ้าง   

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายจตุพรซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้หยิบระเบิดขวดขว้างใส่อริ  ทำให้สะเก็ดระเบิดถูกนายซวยถึงแก่ความตายทันทีนั้น  การกระทำของเด็กชายจตุพรเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  (คือให้ถือว่าเป็นการจงใจกระทำต่อนายซวย)  เป็นเหตุให้นายซวยถึงแก่ความตาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายจตุพร  ดังนั้นจึงถือว่าเด็กชายจตุพรได้กระทำละเมิดต่อนายซวยตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน  และแม้ว่าเด็กชายจตุพรจะเป็นผู้เยาว์  ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดตามมาตรา  429

และเมื่อเด็กชายจตุพรต้องรับผิด  นายวีระผู้เป็นบิดาก็ต้องรับผิดร่วมกับเด็กชายจตุพรด้วย  ตามมาตรา  429  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลผู้เยาว์แล้ว  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายวีระกระทำเพียงได้ว่ากล่าวตักเตือนมิให้เด็กชายจตุพรพกระเบิดไปโรงเรียนเท่านั้น  ยังถือไม่ได้ว่านายวีระได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กผู้เยาว์  นายวีระจึงต้องร่วมกับเด็กชายจตุพรรับผิดต่อบุตรของนายซวยในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่านายซวยได้ถึงแก่ความตายทันที  ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  คือค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น  รวมทั้งค่าที่บุตรชายของนายซวยต้องขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443 วรรคสาม

สรุป  บุตรของนายซวยสามารถฟ้องให้นายวีระและเด็กชายจตุพรรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  คือ  ค่าปลงศพ  ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น  และค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายได้

 

 

ข้อ  3  นายชายและนายอ๊อดเป็นลูกจ้างของนายเคี๊ยง  นายชายมีหน้าที่ขนสินค้าเพื่อส่งให้ลูกค้า  นายอ๊อดมีหน้าที่ขับรถขนสินค้า  ตามปกตินายชายก็จะนั่งรถไปด้วยกับรถขนสินค้าที่นายอ๊อดขับ  วันเกิดเหตุนายอ๊อดขับรถไปส่งสินค้าที่ร้านของนางสาวก้อย  และได้จอดรถไว้ที่หน้าร้านเพื่อเข้าห้องน้ำ  ระหว่างนั้น  นายชายได้ขึ้นไปติดเครื่องยนต์เพื่อเลื่อนรถออกจากตำแหน่ง  แต่นายชายไม่มีความชำนาญในการขับรถ  จึงทำให้รถแล่นไปชนนางสาวก้อยได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นางสาวก้อยจะเรียกร้องให้นายเคี๊ยงร่วมกันรับผิดกับนายชายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนางสาวก้อยจะเรียกร้องค่าทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลผ่าตัด  จากการขาดเรียนและจากการสอบตกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง  หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตน  ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายชายได้ขึ้นไปติดเครื่องยนต์เพื่อเลื่อนรถออกจากตำแหน่ง  โดยที่ไม่มีความชำนาญในการขับรถ  จึงทำให้รถแล่นไปชนนางสาวก้อย ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น  การกระทำของนายชายถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของนางสาวก้อย  จึงต้องรับผิดฐานละเมิดตามมาตรา  420

และแม้นายชายซึ่งเป็นลูกจ้างของนายเคี๊ยงมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถ  แต่การที่นายชายได้ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างการทำงานให้แก่นายจ้าง  โดยผู้มีหน้าที่ขับรถมิได้ควบคุมดูแลทำให้รถแล่นไปชนนางสาวก้อย  เห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างยังคงมีอยู่  จึงถือว่าการกระทำของนายชายเป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง  นายเคี๊ยงจึงต้องร่วมรับผิดกับนายชายตามมาตรา  425 

สำหรับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ร่างกายนั้น  นอกจากนางสาวก้อยจะเรียกร้องได้ตามมาตรา  443  วรรคแรกแล้ว  นางสาวก้อยยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นค่าทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลผ่าตัด  จากการขาดเรียนและจากการสอบตกได้ตามมาตรา  446  ซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิอาจตีราคาเป็นเงินได้

สรุป  นางสาวก้อยสามารถเรียกร้องให้นายเคี๊ยงร่วมรับผิดกับนายชายได้  และสามารถเรียกร้องค่าทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลผ่าตัด  จากการขาดเรียนและจากการสอบตก  ซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้  

 

 

ข้อ  4  นายแดงลงสมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.  โดยใช้ใบสุทธิปลอมในการแสดงคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  และนายแดงได้รับการเลือกตั้ง  แต่ต่อมา  กกต.  ตรวจพบ  ผลสุดท้ายจึงต้องคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง  ทำให้  กกต.  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง  และหากว่านายแดงได้พาพรรคพวกจำนวน  10  คน  บุกเข้าไปยัง  กกต.  แต่ถูกนายขาวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ  กกต.  ปิดประตูไม่ให้เข้าไป  นายแดงและพรรคพวกจึงพังประตูรั้วเข้าไป  และจะทำร้ายนายขาว  นายขาวจึงวิ่งหนีกลุ่มชนนั้นเข้าไปในร้านค้าของนายเขียวที่อยู่ติดกัน  แต่ประตูปิดอยู่  นายขาวจึงพังประตูเข้าไป  ทำให้ประตูแตกเสียหาย  และนายขาวหลุดพ้นจากอันตรายจากกลุ่มคนนั้นได้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายแดงจะต้องรับผิดฐานละเมิดต่อ  กกต.  ในค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียจากการจัดเลือกตั้งใหม่หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายขาวต้องรับผิดต่อนายเขียวเจ้าของร้านค้าที่ประตูแตกเสียหายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

  ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

(ก)  ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์

การที่นายแดงได้ใช้ใบสุทธิปลอมสมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.  และได้รับเลือกตั้ง  เมื่อต่อมา  กกต.  ตรวจพบและได้มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็น  ส.ส.ของนายแดงสิ้นสุดลง  และทำให้  กกต.  ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น  การกระทำของนายแดงเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  และทำให้  กกต.  ต้องเสียหาย  คือ  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง  จึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา  420  และเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของนายแดงและไม่ไกลกว่าเหตุ  ดังนั้นนายแดงจึงต้องรับผิดต่อ  กกต  ในค่าใช้จ่ายที่  กกต  ต้องเสียไปจากการจัดเลือกตั้งใหม่  เทียบฎีกาที่  4174/2529

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายแดงและพรรคพวกจะทำร้ายนายขาว  ทำให้นายขาวต้องหนีและได้พังประตูร้านค้าของนายเขียวจนทำให้ประตูร้านค้าแตกเสียหายนั้น  การกระทำของนายขาวเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายที่มีคนมาทำละเมิดต่อตน  จึงถือว่าเป็นการกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  คือไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อนายเขียวเจ้าของร้านค้าที่ประตูแตกเสียหาย

สรุป

(ก)  นายแดงจะต้องรับผิดฐานละเมิดต่อ  กกต.  ในค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปจากการจัดเลือกตั้งใหม่

(ข)  นายขาวไม่ต้องรับผิดต่อนายเขียวเจ้าของร้านค้า

Advertisement