การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 ประกอบด้วย
1 เป็นบุคคลที่มี “การกระทำ” โดยรู้สำนึก และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4 ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
ดังนั้นในเบื้องต้น จึงต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมีการกระทำหรือไม่ หากบุคคลไม่มีการกระทำ ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับการกระทำนั้น หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อคนตาบอดหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยเห็นคนตาบอดกำลังจะข้ามถนน จำเลยจึงเข้าไปจูงมือคนตาบอด หลังจากจูงมาได้ครึ่งทาง จำเลยปล่อยคนตาบอดไว้แล้วจำเลยข้ามไปคนเดียว การงดเว้นในกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำ เพราะเป็นการงดเว้นในกรณีที่มีหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ เมื่อจำเลยจูงมือคนตาบอดข้ามถนนไปได้ครึ่งทาง จำเลยย่อมมีหน้าที่ช่วยคนตาบอดให้ข้ามถนนโดยตลอดรอดฝั่ง เมื่อจำเลยงดเว้นจึงถือว่าเป็นการกระทำ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ถนนบริเวณจุดเกิดเหตุมีรถวิ่งผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยปล่อยคนตาบอดไว้ จำเลยย่อมรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่คนตาบอด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยจงใจ ขณะเดียวกันเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนตาบอด และความเสียหายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการกระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดตามมาตรา 420
สรุป จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อคนตาบอด
ข้อ 2 นายแดงเป็นนายจ้าง นาย ก เป็นลูกจ้าง นายแดงใช้ให้นาย ก ขับรถจากกรุงเทพฯ ไปส่งของที่จังหวัดนครราชสีมา นาย ก ปฏิบัติตามคำสั่งโดยขับรถไปส่งของที่จังหวัดนครราชสีมาเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ขณะที่ขับมาถึงจังหวัดสระบุรี นายหนึ่งว่าจ้างให้นาย ก ขับรถไปขนมันสำปะหลังโดยจะให้ค่าตอบแทน 5,000 บาท ระหว่างที่นาย ก ขับรถไปขนมันสำปะหลัง นาย ก ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนนายขาวได้รับบาดเจ็บ
ดังนี้นายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนนายขาวได้รับบาดเจ็บ เป็นการกระทำที่ครบหลักเกณฑ์ของการกระทำละเมิด กล่าวคือ มีการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย และการกระทำของนาย ก ก็มีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำ นาย ก จึงต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 420
สำหรับนายแดง ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของนาย ก ลูกจ้างหรือไม่ เห็นว่า การที่นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามมาตรา 425 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
1 ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น
2 ลูกจ้างกระทำละเมิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง
3 ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง
ประเด็นจึงมีว่า การที่นาย ก ขับรถไปขนมันสำปะหลังตามที่นายหนึ่งว่าจ้างแล้วไปชนนายขาวได้รับบาดเจ็บ เป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างที่นายแดงซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ กรณีนี้เป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ก ขับรถไปส่งของที่จังหวัดนครราชสีมาเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ขณะที่ขับมาถึงสระบุรี นายหนึ่งว่าจ้างให้นาย ก ขับรถไปขนมันสำปะหลังแล้วจึงเกิดเหตุขึ้น จึงถือว่าขณะเกิดเหตุละเมิด ยังอยู่ในระหว่างที่นาย ก ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายแดงผู้เป็นนายจ้างอยู่ คือ กลับจากไปส่งของแล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ การที่นาย ก ฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างแต่ยังปฏิบัติงานของนายจ้างอยู่ นายจ้างจะอ้างเป็นเหตุไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ นายแดงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่นาย ก กระทำไปในทางการที่จ้างในฐานะนายจ้าง เทียบฎีกาที่ 2789/2515
ส่วนนายหนึ่งผู้ว่าจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนาย ก ตามมาตรา 428
สรุป นายขาวสามารถเรียกให้นาย ก รับผิดตามมาตรา 420 และเรียกให้นายแดงร่วมรับผิดกับนาย ก ตามมาตรา 425 แต่จะเรียกให้นายหนึ่งรับผิดตามมาตรา 428 ไม่ได้
ข้อ 3 นาย ก และนาง ข อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง เมื่อนาง ข คลอดเด็กชายแดงแล้ว ต่อมาถึงแก่ความตาย นาย ก ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา นาย ก ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย ก นาย ก ส่งเสียเด็กชายแดงให้เรียนหนังสือ วันเกิดเหตุนายโหดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย ดังนี้
(1) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโหดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย การกระทำของนายโหดเป็นละเมิด ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทำของนายโหดสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือ ความตายของนาย ก นายโหดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ก และนาง ข อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันคือเด็กชายแดง ซึ่งนาย ก ได้อุปการะเลี้ยงดูตลอดมา โดยยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลและส่งเสียให้เรียนหนังสือ กรณีนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ตามมาตรา 1627 ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง และเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1629(1)
(1) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากนายโหดได้หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรคแรก เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1627 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากนายโหดผู้กระทำละเมิด ทำให้นาย ก ถึงแก่ความตายได้ เทียบฎีกาที่ 1202/2549 และฎีกาที่ 3208/2538
(2) เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหดได้หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้ายนั้น กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายต้องรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึง บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ตามมาตรา 1627 จะเป็นทายาทโดยธรรมก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ ตามมาตรา 1629(1) แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ กรณีนี้เด็กชายแดงย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ตามมาตรา 443 วรรคท้ายจากนายโหดผู้กระทำละเมิด เทียบฎีกาที่ 1409/2548
สรุป
1 เด็กชายแดงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากนายโหดได้
2 เด็กชายแดงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายโหด
ข้อ 4 นายเอกกับนายโทเป็นศัตรูกัน วันเกิดเหตุขณะที่นายเอกขับรถยนต์ไปตามถนนเห็นนายโทเดินมา นายเอกขับรถยนต์เพื่อที่จะชนนายโท นายโทเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน นายโทจึงใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ของนายเอกแตก 2 เส้น คิดเป็นเงิน 5,000 บาท ดังนี้ นายโทจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 449 บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
มาตรา 450 วรรคสาม ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกชัยขับรถเพื่อที่จะชนนายโท นายโทเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน นายโทจึงใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ของนายเอกแตก 2 เส้น การกระทำของนายโทเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายโทจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและนายโทได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ นายโทจึงสามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมเพื่อไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ยางรถยนต์แตก 2 เส้น คิดเป็นเงิน 5,000 บาทได้ ตามมาตรา 449 วรรคแรก
กรณีนี้มิใช่กรณีที่นายโทจะอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสาม เพราะรถยนต์มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งภยันตราย การที่รถยนต์ขับเคลื่อนไปได้ก็เพราะการควบคุมของนายเอก จึงถือว่านายเอกได้เป็นผู้กระทำละเมิดเองโดยใช้ทรัพย์เป็นเครื่องมือ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 450 วรรคแรก
สรุป นายโทไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 449