การสอบไล่ภาคซ่อม 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1. เฟื่องเป็นนายจ้างของเด็กชายจ๊อบซึ่งมีอายุ 12 ขวบ และบิดามารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว นายเฟื่องจึงให้อาศัยอยู่ในบ้าน และส่งเสียให้เรียนหนังสือด้วย วันหนึ่งเด็กชายจ๊อบแกล้งปล่อยหนูหลายตัวเข้าไปในห้องของแซม ทำให้แซมตกใจมาก จึงคว้าไม้กอล์ฟของอัญชลีตีไปที่หนูทำให้ไม้กอล์ฟแตกหักเสียหาย และไม้กอล์ฟกระเด็นไปถูกอัญชลีศีรษะแตก
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า
(ก) เฟื่องต้องรับผิดต่อแซมหรือไม่ อย่างไร และ
(ข) อัญชลีเรียกให้เด็กชายจ๊อบรับผิดในความเสียหายของไม้กอล์ฟ และในค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ อย่างไร
แนวคำตอบ หลักกฎหมาย (ต้องใส่ตัวบทเต็ม ไม่ใช่อ้างเฉพาะเลขมาตรา)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 425, 430, 449
วินิจฉัย
(ก) แซมเป็นผู้เสียหายอันเกิดจากการกระทำของคนคือเด็กชายจ๊อบซึ่งมีการกระทำของเด็กชายจ๊อบเข้าหลักเกณฑ์ของความรับผิดฐานละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้น เฟื่องซึ่งเป็นนายจ้างหรือผู้ดูแลเด็กชายจ๊อบซึ่งถือว่าเป็นบุคคลผู้ไร้ความสามารถ จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามมาตรา 430 (แต่ไม่อาจฟ้องเฟื่อง ตามมาตรา 425 เพราะไม่ได้เป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง)
(ข) เมื่อแซมได้รับภัยอันเกิดจากการที่มีคนอื่น (เด็กชายจ๊อบ) ทำละเมิด คือมีการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เมื่อแซมได้กระทำการป้องกันไป และผลของการป้องกันนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของอัญชลี แซมจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่ออัญชลีซึ่งเป็นเจ้าของไม้กอล์ฟและศีรษะแตก เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการป้องกันสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งแซมสามารถอ้างนิรโทษกรรมได้ตามมาตรา 449 แต่อัญชลีสามารถเรียกร้องให้เด็กชายจ๊อบรับผิดต่อตนได้ โดยอาศัยมาตรา 449 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียหายเรียกเอาจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันได้ นอกจากนั้น อัญชลียังมีสิทธิเรียกร้องให้นายเฟื่องร่วมรับผิดกับเด็กชายจ๊อบในฐานะเป็นผู้รับดูแลตามมาตรา 430 ได้ด้วย
ข้อ 2. หมอดูกิดได้ดูดวงของลิเดียร์ซึ่งเป็นสาวโสดและเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง โดยที่ลิเดียร์ไม่ได้อนุญาตหรือร้องขอให้ดู หมอดูกิดได้พยากรณ์ว่าลิเดียร์มีท้อง “คอนเฟิร์ม” (ซึ่งเป็นสโลแกนของหมอดู และซึ่งแปลว่ายืนยัน) โดยคำพยากรณ์ได้กล่าวจนเป็นที่ทราบกันในคนหมู่มาก ทำให้ลิเดียร์ได้รับความอับอาย เมื่อเดินไปที่แห่งใด ก็จะมีผู้คนมองที่ท้องของเธอตลอด วันเกิดเหตุ นางสาวนาเดียร์เห็นลิเดียร์ จึงได้พูดออกมาดัง ๆ ใส่หน้าลิเดียร์ว่า “ฉันว่าหมอดูแม่น ๆ ท้องแล้วรีดออกชัวร์” ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า หมอดูกิดและนางสาวนาเดียร์ จะต้องรับผิดในเหตุละเมิดต่อลิเดียร์หรือไม่ อย่างไร
แนวคำตอบ หลักกฎหมาย (ต้องใส่ตัวบทเต็ม ไม่ใช่อ้างเฉพาะเลขมาตรา)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 423
วินิจฉัย
อธิบายหลักเกณฑ์ตามมาตรา 423 เป็นการกระทำที่เป็นละเมิดโดยการหมิ่นประมาททางแพ่ง
1.ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย
2.ข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง
3.มีความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญ
4.ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
หมอดูกิดจะต้องรับผิดในเหตุละเมิดต่อลิเดียร์ตามมาตรา 423 เพราะครบหลักเกณฑ์ของความรับผิด กล่าวคือ ได้มีการกระทำด้วยการกล่หรือไขข่าวข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง และทำให้แพร่หลายคือล่วงรู้ถึงบุคคลที่สาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของลิเดียร์
นางสาวนาเดียร์ไม่ต้องรับผิดการเหตุละเมิดด้วยการหมิ่นประมาทตามมาตรา 423 เพราะไม่มีข้อเท็จจริงว่าแพร่หลายหรือบุคคลที่สามล่วงรู้ข้อความนั้น อย่างไรก็ดี การกระทำของนางสาวนาเดียร์เป็นการพูดใส่หน้าลิเดียร์ อันเป็นการละเมิดสิทธิของลิเดียร์ตามมาตรา 420
อธิบายหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 เป็นการกระทำที่เป็นละเมิด
1.บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2.กระทำผิดกฎหมายต่อผู้อื่น
3.มีความเสียหาย
ข้อ 3. สุนัขของนายหนึ่งวิ่งเข้ามาจะกัดนายสอง นายแดงจึงคว้าเอาวิทยุของนายขาวขว้างไปที่สุนัข สุนัขพอเห็นวิทยุจึงไม่สนใจจะกัดนายสองกลับคาบเอาวิทยุวิ่งหลบหนีไป ข้อเท็จจริงได้ความว่าวิทยุที่นายแดงขว้างไปนั้นได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้และราคาวิทยุ 200 บาท ดังนี้ นายแดงจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายขาวหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 450 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดฟ้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น”
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงคว้าเอาวิทยุของนายขาวขว้างไปที่สุนัขเป็นเหตุให้วิทยุได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการทำให้ทรัพย์บุบสลาย เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน การกระทำของนายแดงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสอง ดังนั้น นายแดงต้องคืนวิทยุให้แก่นายขาว ถ้าคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาทรัพย์
สรุป นายแดงต้องคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่นายขาว
ข้อ 4. นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน เมื่อนางสาวไฮ มีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างทางนายบันเทิงได้แวะเยี่ยมลูกสาวที่อยุธยา ปรากฏว่าด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะไปไม่ทันทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ อายุ 21 ปีถึงแก่ความตาย ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
1) นายบันเทิงและนายบรรเลง จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพนางสาวไฮได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวคำตอบ หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 420, 425, 443 วรรคแรก
วินิจฉัย
1) ตามอุทาหรณ์ การที่นายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้าง ให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างนายบันเทิงได้แวะเยี่ยมลูกสาวที่อยุธยา ปรากฏว่าด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะไปไม่ทัน ทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ อายุ 21 ปีถึงแก่ความตาย นายบันเทิงกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางสาวไฮได้รับความเสียหายแก่ชีวิต นายบันเทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อนายบันเทิงลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง เพราะเป็นการทำละเมิดในระหว่างการปฏิบัติงานตามที่นายจ้างได้สั่งหรือมอบหมายแม้นายบันเทิงลูกจ้างจะแวะทำธุระส่วนตัว แต่ไม่ปรากฏว่าได้ละทิ้งงานหรือหน้าที่ นายบรรเลงนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในทางละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ด้วย
2) นายเอกชัย และนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพนางสาวไฮได้หรือไม่ เห็นว่าบุคคลผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการศพตามกฎหมายมรดกซึ่งก็คือ ทายาทของผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย การที่เอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน ถือว่าเป็นกรณีที่นายเอกชัยบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้การรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งไม่ได้ทำให้นายเอกชัยกลายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ ดังนั้นนายเอกชัยจึงไม่ใช่ทายาทของนางสาวไฮ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(2) นายเอกชัยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้ต้องรับผิดในทางละเมิดในครั้งนี้ได้ ส่วนกรณีนายมนต์สิทธิ์ผู้รับบุตรบุญธรรม เมื่อนางสาวไฮ มีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/29 การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับบุตรบุญธรรมในการรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม ดังนั้น นายมนต์สิทธิ์จึงไม่ใช่ทายาทของนางสาวไฮ ย่อมไม่มีสิทธิ เรียกร้องค่าปลงศพได้เช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก
สรุป
1) นายบันเทิงจะต้องรับผิดในทางละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ส่วนนายบรรเลงนายจ้างจะต้องรับผิดในทางละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพนางสาวไฮได้ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของนางสาวไฮ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก