การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางอุ่นเรือนร้องขอให้นายวันชัยช่วยขับรถยนต์ของตนเพื่อพาเพื่อนต่างชาติโดยสารนั่งเที่ยวชมเมือง ระหว่างรอผู้โดยสารเที่ยวชมโบราณสถานอยู่นั้น นายวันชัยจอดรถติดเครื่องทิ้งไว้ริมถนนแล้ว เดินไปดูของที่ระลึกที่ตั้งร้านอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น แต่เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ลาด ทำให้รถเคลื่อนที่ออกไปตามถนน ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ซึ่งเป็นตำรวจอยู่บนสถานีตำรวจเห็นเหตุการณ์ และเห็นว่ารถนั้นกำลังจะชนหญิงคนหนึ่ง จึงเข้าไปช่วยดึงรถให้หยุดจึงถูกรถลากไปได้รับบาดเจ็บ
ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะต้องรับผิดในการที่ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ได้รับบาดเจ็บ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ซึ่งเป็นตำรวจเห็นว่ารถยนต์ของนางอุ่นเรือนกำลังจะชนหญิงคนหนึ่ง จึงเข้าไปช่วยดึงรถและได้ถูกรถลากไปจนได้รับบาดเจ็บนั้น กรณีถือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วไป เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ ก็ถือได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล ทั้งนี้เพราะขณะเกิดเหตุรถยนต์กำลังเดินเครื่องอยู่ นายวันชัยซึ่งเป็นผู้ควบคุมรถยนต์นั้น จึงต้องรับผิดต่อร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ตามมาตรา 437 ส่วนนางอุ่นเรือนซึ่งเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้อยู่ในรถจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลตามมาตรา 437 จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรานี้แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนางอุ่นเรือนเป็นผู้วานให้นายวันชัยเป็นผู้ขับรถแทน กรณีจึงถือว่านางอุ่นเรือนเป็นตัวการ และนายวันชัยเป็นตัวแทน ซึ่งมาตรา 427 กำหนดให้ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจแห่งตัวแทน ดังนั้น นางอุ่นเรือนจึงต้องร่วมรับผิดกับนายวันชัยต่อร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์
สรุป นางอุ่นเรือนต้องร่วมรับผิดกับนายวันชัยต่อร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์
ข้อ 2 นายมนูญอายุ 19 ปี ทำงานเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้คิดสั้นฆ่าตัวตาย. จึงวิ่งตัดหน้ารถของนายมารวยซึ่งขับมาด้วยความเร็วปกติ ทำให้รถของนายมารวยชนร่างนายมนูญได้รับบาดเจ็บสาหัส และเนื่องจากนายมารวยต้องเบรกรถอย่างกะทันหัน ทำให้นายมนัสซึ่งนั่งอยู่ในรถคันนั้นได้ตกไปจากที่นั่งอย่างแรงได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) นายมนัสจะเรียกร้องให้นายมารวยรับผิดในเหตุละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นายมนัสจะเรียกร้องต่อนายมานพซึ่งเป็นนายจ้างของนายมนูญ ให้รับผิดในคดีละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
วินิจฉัย
(ก) กรณีตามอุทาหรณ์
นายมนัสได้รับความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล คือ รถยนต์ของมารวย นายมนัสจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายมารวยในฐานะเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้น ให้รับผิดตามมาตรา 437 ทั้งนี้ แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกิดจากความประมาทของนายมารวยก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ นายมารวยก็มีสิทธิแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับผิดได้โดยการอ้างเหตุสุดวิสัย ซึ่งตามมาตรา 437 กำหนดให้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดได้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะมีคนกระโดดมาตัดหน้ารถกะทันหัน
อย่างไรก็ดี นายมนัสมีสิทธิเรียกร้องต่อนายมนูญในฐานะที่กระทำละเมิด โดยเป็นเหตุให้รถยนต์นายมารวยต้องเบรกกะทันหัน และเป็นเหตุให้นายมนัสได้รับบาดเจ็บ อันถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำแล้ว นายมนูญจึงมีความรับผิดตามมาตรา 420 ต่อนายมนัส
(ข) กรณีตามอุทาหรณ์
ตามหลักกฎหมายมาตรา 425 เมื่อลูกจ้างกระทำละเมิด นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย ดังนั้น นายจ้างของนายมนูญจึงควรต้องรับผิดกับนายมนูญต่อนายมนัสด้วย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมนูญไม่ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายมานพซึ่งเป็นนายจ้างของนายมนูญจึงไม่ต้องรับผิดด้วย
สรุป
(ก) นายมนัสมีสิทธิเรียกร้องให้นายมารวยรับผิดในเหตุละเมิดได้ แต่นายมารวยก็มีสิทธิอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ต้องรับผิดได้
(ข) นายมนัสจะเรียกร้องต่อนายมานพซึ่งเป็นนายจ้างของนายมนูญไม่ได้
ข้อ 3 จำเลยขับรถไปตามถนนด้วยความเร็วปกติธรรมดา ขณะไปถึงสี่แยกไฟแดง ปรากฏว่ามีสัญญาณไฟแดง จำเลยจึงเหยียบเบรกแต่ไม่สามารถหยุดรถได้ เพราะเบรกเสียใช้การไม่ได้ รถจึงวิ่งชนนาย ก ถึงแก่ความตาย ทายาทของนาย ก ฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางละเมิด จำเลยต่อสู้ว่าการที่จำเลยขับรถชนนาย ก ตาย เพราะเบรกเสียใช้การไม่ได้จึงเป็นเหตุสุดวิสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รถจำเลยเบรกเสียใช้การไม่ได้ในขณะขับ เป็นเหตุให้รถยนต์วิ่งชนนาย ก ถึงแก่ความตาย ดังนี้ การที่รถเบรกเสียใช้การไม่ได้ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย อันจะเป็นข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่ผู้ขับขี่อาจป้องกันได้ถ้าหากใช้ความระมัดระวังตามสมควร โดยตรวจดูสภาพของรถให้เรียบร้อยก่อนนำออกขับขี่ ดังนั้น เมื่อรถของจำเลยชนนาย ก ถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้ควบคุมจึงต้องรับผิดตามมาตรา 437 วรรคแรก เทียบฎีกาที่ 174/2528
สรุป จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 437
ข้อ 4 นายก้องตาบอดหนึ่งข้างแต่กำเนิด อีกข้างที่เหลือใช้การได้ตามปกติ โดยนายก้องมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหนึ่งคนคือเด็กหญิงส้ม ต่อมานายก้องทราบว่าตาข้างที่ใช้การได้ของตนเริ่มมองไม่ชัด เนื่องจากเป็นโรคต้อ นายก้องจึงได้ไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดรักษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากผ่าตัดหนึ่งวันดวงตาที่ผ่ามีอาการติดเชื้อรุนแรงซึ่งอาจลุกลามถึงสมองได้ สาเหตุเนื่องจากแพทย์ผู้ผ่าตัดทำการผ่าตัดโดยประมาทเลินเล่อไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการรักษาความสะอาดตามสมควร เป็นเหตุให้นายก้องเสียค่าใช้จ่าย 200,000 บาท ในการผ่าตัดควักลูกนัยน์ตาที่ติดเชื้อออก เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อไปที่สมอง ทำให้ปัจจุบันนายก้องตาบอดสนิททั้งสองข้างไม่อาจทำงานได้ปกติดังเดิม อีกทั้งนายก้องยังต้องทนทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็นไป ดังนี้
(ก) นายก้องจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย 200,000 บาท และค่าเสียหายที่นายก้องต้องทนทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็นจากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) เด็กหญิงส้มจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ เนื่องจากปัจจุบันนายก้องตาบอดสนิททั้งสองข้าง ไม่อาจทำงานหาเลี้ยงเด็กหญิงส้มได้ดังเดิม จากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 444 วรรคแรก ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
มาตรา 446 วรรคแรก ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตน ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้
วินิจฉัย
(ก) กรณีตามอุทาหรณ์
การที่แพทย์กระทำละเมิดทำการผ่าตัดโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายก้องเสียค่าใช้จ่าย 200,000 บาท ในการผ่าตัดควักลูกนัยน์ตาที่ติดเชื้อออกนั้น นายก้องสามารถฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้ โดยถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ตนต้องเสียไปตามมาตรา 444 วรรคแรก
และกรณีที่แพทย์ผ่าตัดลูกนัยน์ตาออก ทำให้ปัจจุบันนายก้องตาบอดสนิททั้งสองข้าง อีกทั้งนายก้องยังต้องทนทุกข์ทรมานและซึมเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็น กรณีเช่นนี้ นายก้องก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ โดยถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา 446
(ข) กรณีตามอุทาหรณ์
เด็กหญิงส้มบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายก้องจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ เพราะค่าขาดไร้อุปการะจะเรียกร้องได้เฉพาะกรณีการทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำละเมิดของแพทย์เป็นแต่เพียงทำให้นายก้องบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงส้มได้รับบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น ไม่ปรากฏว่านายก้องถึงแก่ความตาย กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 443
สรุป
(ก) นายก้องฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย 200,000 บาท และค่าเสียหายที่นายก้องต้องทนทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียการมองเห็นจากแพทย์ผู้ผ่าตัดได้
(ข) เด็กหญิงส้มจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้