การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 จำเลยไปเที่ยวชายทะเล ขณะเดินเล่นริมหาดเห็นนายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำ นายขาวตะโกนให้จำเลยช่วย จำเลยไม่ยอมช่วยทั้งๆที่จำเลยว่ายน้ำเป็น ปรากฏว่านายขาวจมน้ำถึงแก่ความตาย จำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 ประกอบด้วย
1 เป็นบุคคลที่มี “การกระทำ” โดยรู้สำนึก และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4 ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
ดังนั้นในเบื้องต้น จึงต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมีการกระทำหรือไม่ หากบุคคลไม่มีการกระทำ ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับการกระทำนั้น หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เห็นว่า การที่นายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย และจำเลยสามารถช่วยได้แต่ไม่ยอมช่วย ปรากฏว่านายขาวจมน้ำตาย เช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อนายขาวโดยงดเว้น ทั้งนี้เนื่องจากการงดเว้นของจำเลยไม่ถือเป็นการกระทำ เพราะจำเลยจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก แต่การที่จำเลยต้องช่วยนายขาวหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย หน้าที่ตามระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงาน หน้าที่ตามสัญญา หรือหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว เป็นเพียงหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผล คือ ความตายของนายขาว เมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำ จึงไม่เป็นละเมิด ตามความในมาตรา 420 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด
สรุป จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด
ข้อ 2 นาย ก มีบุตรชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคือเด็กชายแดง อายุ 13 ปี นาย ก ส่งเด็กชายแดงไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งโดยมีครูสมศรีเป็นครูประจำชั้น ขณะที่เด็กชายแดงเรียนหนังสืออยู่ในห้อง เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่น ครูสมศรีเห็นเหตุการณ์จึงได้ริบพลุจากเด็กชายแดง จากนั้นครูสมศรีได้มีการห้ามปราม ตักเตือน ว่ากล่าว สั่งสอน
ต่อมาขณะที่ครูสมศรีเผลอ เด็กชายแดงนำพลุอันใหม่มาจุดเล่นอีก เด็กชายแดงจุดพลุด้วยความประมาทเลินเล่อไปถูกตาเด็กชายขาวได้รับบาดเจ็บ ข้อเท็จจริงได้ความว่าการที่เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่นที่โรงเรียน นาย ก ทราบดี แต่ นาย ก ไม่ได้ห้ามปราม ไม่ได้ตักเตือน ไม่ได้ว่ากล่าวสั่งสอน
ดังนี้เด็กชายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เด็กชายแดงจุดพลุด้วยความประมาทเลินเล่อไปถูกตาเด็กชายขาวได้รับบาดเจ็บ ถือได้ว่าเด็กชายแดงทำละเมิดต่อเด็กชายขาว เพราะเหตุว่าเข้าหลักเกณฑ์การกระทำอันเป็นการละเมิด ตามมาตรา 420 กล่าวคือ
1 มีการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อเด็กชายขาวโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหายต่อร่างกายของเด็กชายขาว
4 ความเสียหายที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายแดง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า เด็กชายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้บ้าง เห็นว่า เมื่อเด็กชายแดงเป็นผู้ทำละเมิดต่อตน เด็กชายขาวจึงสามารถฟ้องเด็กชายแดงได้ ตามมาตรา 420 แม้เด็กชายแดงจะเป็นผู้เยาว์ ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด
ในประเด็นความรับผิดของครูสมศรีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่น ครูสมศรีเห็นเหตุการณ์จึงได้ริบพลุจากเด็กชายแดง ทั้งครูสมศรียังได้มีการห้ามปราม ตักเตือน ว่ากล่าว สั่งสอน พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าครูสมศรีได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วในการดูแลผู้เยาว์ตามหน้าที่ซึ่งทำอยู่นั้น ดังนั้นการที่เด็กชายแดงนำพลุอันใหม่มาจุดเล่นอีกในขณะที่ครูสมศรีเผลอ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายดังกล่าวขึ้น ครูสมศรีจึงไม่ต้องรับผิดกับเด็กชายแดง ตามมาตรา 430
ส่วนประเด็นความรับผิดของนาย ก บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อได้ความว่าการที่เด็กชายแดงนำพลุมาจุดเล่นที่โรงเรียน นาย ก ทราบดี แต่นาย ก ปล่อยปละละเลยไม่ได้ห้ามปราม ไม่ได้ตักเตือน ไม่ได้ว่ากล่าวสั่งสอน ถือได้ว่านาย ก ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ในการดูแล ดังนั้นนาย ก ผู้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายจึงต้องร่วมรับผิดกับเด็กชายแดงผู้เยาว์ตามมาตรา 429 เทียบฎีกาที่ 356/2511
สรุป
1 เด็กชายขาวฟ้องเด็กชายแดงได้ตามมาตรา 420
2 เด็กชายขาวฟ้องครูสมศรีให้ร่วมรับผิดตามมาตรา 430 ไม่ได้
3 เด็กชายขาวฟ้องนาย ก ให้ร่วมรับผิดได้ ตามมาตรา 429
ข้อ 3 นายหนึ่งกับนายสองเป็นเพื่อนกัน วันเกิดเหตุนายหนึ่งขับรถไปที่บ้านของนายสองเพื่อแวะเยี่ยมนายสอง โดยนายหนึ่งจอดรถไว้ที่โรงรถบ้านของนายสอง ขณะเกิดเหตุลิงของนายแดงลอบเข้าไปในรถของนายหนึ่ง จากนั้นได้กัดเบาะรถยนต์ของนายหนึ่งได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 2,000 บาท ดังนี้
(1) นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 452 วรรคแรก ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ที่จะสามารถจับหรือยึดสัตว์ หรือฆ่าสัตว์ ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ได้ตามมาตรา 452 ประกอบด้วย
1 ผู้มีอำนาจกระทำต้องเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ (ไม่รวมสังหาริมทรัพย์) ที่ได้รับความเสียหาย
2 ความเสียหายจะต้องเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น
3 สัตว์เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ (ความเสียหายต่อบุคคล หรือต่อทรัพย์ก็ได้)
1 กรณีตามอุทาหรณ์
การที่ลิงของนายแดงกัดเบาะรถยนต์ของนายหนึ่งได้รับความเสียหาย นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ เพราะแม้ความเสียหายจะเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น ซึ่งเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อนายหนึ่งเป็นเพียงผู้ครองสังหาริมทรัพย์ (รถยนต์) มิใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 452 วรรคแรก
2 นายสองก็จะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงไม่ได้เช่นกัน เพราะแม้นายสองจะเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ แต่นายสองก็ไม่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากลิงของนายแดงแต่อย่างใด ผู้ที่จะจับหรือยึดสัตว์ตามมาตรา 452 วรรคแรก หมายความเฉพาะผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น
สรุป
1 นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
2 นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
ข้อ 4 นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลง นายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯไปที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้วระหว่างเดินทางกลับนายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปส่งรถที่กรุงเทพฯไม่ทัน เป็นเหตุทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 21 ปีสลบไป นายบันเทิงคิดว่านางสาวไฮถึงแก่ความตายไปแล้ว นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนจึงได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้ เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
(1) นายบันเทิงและนายบรรเลง จะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
1 กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายบันเทิงและนายบรรเลงจะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่ เห็นว่า การที่นายบันเทิงขับรถด้วยความเร็วไปชนนางสาวไฮสลบไปเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย นายบันเทิงจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 420
ในระหว่างที่นางสาวไฮสลบไป นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตน ได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้ เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุแทรกแซงที่เกิดจากการกระทำของผู้กระทำละเมิดในตอนแรก ซึ่งเป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนสามารถคาดหมายได้จึงไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำในตอนแรกออกจากผลของการกระทำก็คือความตายของนางสาวไฮนั้น นายบันเทิงจึงต้องรับผิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ ตามมาตรา 420
ส่วนนายบรรเลงนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับนายบันเทิงลูกจ้างเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายบันเทิงขับรถไปในทางการที่จ้างไปชนนางสาวไฮสลบไป เช่นนี้ นายบรรเลงต้องร่วมรับผิดกับนายบันเทิง ตามมาตรา 425 ซึ่งเป็นการร่วมรับผิดกับลูกจ้างในความเสียหายแก่ร่างกายเท่านั้น ส่วนความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮนั้น นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย เพราะการตายเป็นคนละเรื่องคนละตอนกับเหตุที่ลูกจ้างขับรถชนนางสาวไฮ และเห็นได้ว่าการนำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้นั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายบันเทิงลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ คือเพื่อปกปิดและเพื่อให้ตนพ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำขึ้น หาเกี่ยวกับการที่นายบรรเลงได้จ้างให้นายบันเทิงกระทำไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง นายบรรเลงนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของนางสาวไฮ ตามมาตรา 425 เทียบฎีกาที่ 2060/2524
2 นายเอกชัยและนายมนสิทธิ์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว ดังนั้นการที่นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ นางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตนเป็นแต่เพียงการรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ ไม่ใช่เป็นการรับรองบุตรโดยนิตินัยตามมาตรา 1547 นายเอกชัยจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ นางสาวไฮ (ผู้ตาย) จึงไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูนายเอกชัย ดังนั้นนายเอกชัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากนายบันเทิงผู้กระทำละเมิด เทียบฎีกาที่ 7458/2543
ส่วนกรณีนายมนสิทธิ์ เมื่อนายสาวไฮมีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนสิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 1598/28 วรรคท้าย บัญญัติให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย กล่าวคือ บุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ตามมาตรา 1563 ประกอบมาตรา 1598/28 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อนางสาวไฮถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย นายมนสิทธิ์ย่อมขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย นายมนสิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 443 วรรคท้าย เทียบฎีกาที่ 713/2517
สรุป
1 นายบันเทิงต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ ตามมาตรา 420 แต่นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ เพราะเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง ตามมาตรา 425
2 นายเอกชัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ แต่นายมนสิทธิ์มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้ ตามมาตรา 443 วรรคท้าย