การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายประกิตมีภริยาแล้ว  แต่ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวเปมิกา  ทำให้นางสาวไปรยาเพื่อนของภริยานายประกิต  เกิดความรู้สึกเจ็บร้อนแทนเพื่อน  วันหนึ่งนางสาวไปรยาซึ่งเป็นพยาบาลได้ฉีดยาใส่นายประกิต  ทำให้นายประกิตกลายเป็นคนวิกลจริตไม่รู้สึกตัวและไม่รู้จักตัวเอง  แต่ได้วิ่งเข้าทำร้ายนายใหญ่จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและกำลังจะแทงซ้ำ  นายใหญ่จึงพังประตูบ้านของนายน้อยเพื่อหลบหนีจากนายประกิต

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายใหญ่จะเรียกให้นายประกิตรับผิดฐานละเมิดต่อตนได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  นายน้อยจะเรียกให้นายใหญ่รับผิดฐานละเมิดทำให้ประตูบ้านของตนพังเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  450  ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะ  โดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย

ถ้าบุคคลทำบุบสลาย  หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน  ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น

(ก)  นายใหญ่จะเรียกให้นายประกิต  รับผิดฐานละเมิดไม่ได้  เพราะขาดหลักเกณฑ์ตามมาตรา  420  ในเรื่องของการกระทำเพราะคำว่า  การกระทำ  ตามกฎหมายนั้น  ต้องเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย  (กระทำ)  หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย  (งดเว้นกระทำ)  โดยรู้สำนึกในการกระทำ  เมื่อนายประกิตไม่รู้สึกตัวและไม่รู้จักตัวเอง  จึงไม่ใช่การรู้สำนึก  กฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำ  นายประกิตจึงยังไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิด

(ข)  นายน้อยเรียกให้นายใหญ่รับผิดฐานละเมิดทำให้ประตูบ้านของตนพังเสียหายได้  ตามมาตรา  420  แต่นายใหญ่ก็สามารถยกเรื่องนิรโทษกรรมตามมาตรา  450  วรรคสอง  ขึ้นมาต่อสู้นายน้อยได้  โดยอ้างว่าการทำให้ประตูบ้านของนายน้อยพังเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภัยฉุกเฉินที่มีมาแต่เอกชน  ซึ่งจะทำให้นายใหญ่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  เพียงแต่ให้ใช้คืนทรัพย์คือประตู  ถ้าคืนประตูไม่ได้ก็ใช้ราคาแทนการคืนทรัพย์ (ข้อเท็จจริงไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายใหญ่ได้รับภัยที่มีคนทำละเมิด  เพราะนายประกิตไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดจึงไม่ใช่กรณีอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา  449)

สรุป 

(ก)  นายใหญ่จะเรียกให้นายประกิตรับผิดฐานละเมิดไม่ได้ตามมาตรา  420

(ข)  นายน้อยเรียกให้นายใหญ่รับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา  420  แต่นายใหญ่อ้างนิรโทษกรรมได้ตามมาตรา  450  วรรคสอง 

 

 

ข้อ  2  นายแก้วสั่งให้นายทองหลานชายของตนขับรถจักรยานยนต์ไปส่งลูกค้า  ระหว่างทางกลับร้านค้าของนายแก้ว  นายทองเห็นว่าเลยเวลางานนานแล้วจึงขับรถด้วยความเร็วสูงและเสียหลักพุ่งเข้าชนนายเงิน  นายเงินจึงหลบและเสียหลักไปชนนายเยี่ยม  ทำให้นายเยี่ยมหกล้มขาหัก  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  นายเยี่ยมจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้บ้าง

(ข)  เด็กชายตุ๊กเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเยี่ยม  และเคยได้รับเงินอุปการะเลี้ยงดูจากนายเยี่ยมทุกเดือน  จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากใครได้บ้างหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

(ก)  นายทองมีความผิดฐานกระทำละเมิดต่อนายเยี่ยม  เพราะเหตุว่าเข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ซึ่งมีหลักสำคัญว่าผู้ที่กระทำละเมิดนั้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  (ได้กระทำโดยเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้)  ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย  มีความเสียหาย  และผลที่เกิดขึ้นต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำ

การที่นายเงินหลบจากการถูกนายทองขับรถชน  และทำให้เกิดผลตามมาคือ  นายเยี่ยมหกล้มขาหักนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการก่อเหตุแรกของนายทอง  (ขับรถด้วยความเร็วสูง)  จึงถือว่าผลหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับการกระทำของนายทองที่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อและโดยผิดกฎหมาย (เน้นการวินิจฉัยโดยใช้หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรม  ถ้าอ้างมาให้หักคะแนน)

เมื่อนายทองได้กระทำละเมิดต่อนายเยี่ยม  นายแก้วซึ่งเป็นตัวการของนายทองในการทำงานให้แก่ตนในขอบอำนาจตัวแทน  ย่อมต้องร่วมรับผิดกับนายทองในฐานะตัวการด้วยตามมาตรา  427  นายเยี่ยมจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายทองและนายแก้วร่วมกันรับผิดได้  แต่นายเยี่ยมเรียกร้องให้นายเงินรับผิดไม่ได้  เพราะนายเงินไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  แต่อย่างใด  (ขาดหลักเกณฑ์  คือ  ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ)

(ข)  การเรียกค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดไร้อุปการะ  ตามมาตรา  443  ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เรียกร้องได้นั้นต้องเป็นกรณีที่มีเหตุละเมิดและเกิดความเสียหายให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเท่านั้น  กรณีเพียงแต่เสียหายร่างกาย  ถึงแม้ว่าจะถึงขั้นทุพพลภาพ  ก็ใช้สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา  443  ไม่ได้  ข้อเท็จจริงตามโจทย์  นายเยี่ยมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายเพียงแค่ขาหัก  จึงไม่มีใครจะสามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามความเป็นจริง  ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้อง  เพราะเด็กชายตุ๊กก็เป็นเพียงบุตรนอกกฎหมาย  ซึ่งกฎหมายครอบครัวมิได้กำหนดหน้าที่ให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่อย่างใด  ดังนั้นถึงแม้ว่านายเยี่ยมจะถึงแก่ความตาย  เด็กชายตุ๊กก็เรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้อยู่ดี

สรุป

(ก)  นายเยี่ยมสามารถเรียกให้นายทองรับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา  420  และเรียกให้นายแก้วตัวการของนายทองรับผิดได้ตามมาตรา  427  แต่จะเรียกให้นายเงินรับผิดฐานละเมิดไม่ได้

(ข)  ด.ช.ตุ๊ก  เรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

 

 

ข้อ  3  นายเด่นอายุ  18  ปี  เป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาระหว่างนายดังและนางสาวดวงโดยนายเด่นใช้นามสกุลนายดัง  และนายดนัยพี่ชายของนายเด่นจดทะเบียนรับนายเด่นไปเป็นบุตรบุญธรรม  วันเกิดเหตุพันตำรวจเอกอรุณออกตรวจพื้นที่เห็นนายมืดกับพวกขับรถยนต์แข่งกันในถนนหลวง  แต่ไม่เข้าจับกุมเพราะคิดว่าพวกนี้เป็นคนไม่มีอนาคตตายได้ก็ดี  ปรากฏว่าระหว่างการขับแข่งขันกันด้วยความเร็วทำให้ไปชนรถจักรยานที่นายดังขี่มาเป็นเหตุให้นายดังล้มลงนอนสลบไป  นายมืดหันกลับมาดูเห็นนายดังนอนสลบอยู่แต่ไม่จอดรถลงมาช่วยและขับแข่งต่อไป  ในที่สุดนายดังทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา

(1) พันตำรวจเอกอรุณ  และนายมืดกับพวก  จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายเด่นจะเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  157  บัญญัติว่า  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต  ต้องระวางโทษ…

มาตรา  374  บัญญัติว่า  ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต  ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น  แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็นต้องระวางโทษ…

พระราชบัญญัติจราจรทางบก  พ.ศ.2522

มาตรา  78  วรรคแรก  บัญญัติว่า  ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม  ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร  และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง  ทันที  กับต้องแจ้งชื่อตัว  ชื่อสกุล  และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

(1) การที่นายมืดกับพวกขับรถยนต์แข่งกันบนถนนหลวง  ทำให้ไปชนรถจักรยานที่นายดังขี่มา  เป็นเหตุให้นายดังล้มลงนอนสลบไป  นายมืดหันกลับมาดูเห็นนายดังนอนสลบอยู่แต่ไม่จอดรถลงมาช่วยและขับแข่งต่อไป  ในที่สุดนายดังทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตาย  เห็นว่า  การที่บุคคลใดจะมีความรับผิดในทางละเมิดจะต้องมี  การกระทำ  ซึ่งการกระทำมีทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายและการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  ในส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  การงดเว้น  ผู้กระทำต้องมีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นนั้นด้วย

กรณีนายมืดกับพวกแข่งรถบนถนนหลวงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง  เป็นเหตุให้นายดังถึงแก่ความตายได้รับความเสียหายถึงชีวิต  จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อนายดัง  นายมืดต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายดัง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  420

ส่วนกรณีพันตำรวจเอกอรุณ  เห็นนายมืดกับพวกกระทำความผิดแต่ไม่เข้าจับกุม  เป็นเพียงการ  ละเว้น  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเท่านั้น  หาใช่เป็นการงดเว้นหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงในการป้องกันผลที่จะเกิดขึ้นอันจะถือเป็นการกระทำไม่  อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจเอกอรุณ  ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับผลของการกระทำ  คือ  ความตายของนายดังแต่อย่างใด  ดังนั้นแม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของนายมืดกับพวก  พันตำรวจเอกอรุณก็หามีความรับผิดในทางละเมิดไม่  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  420

(2) นายเด่นอายุ  18  ปี  เป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาระหว่างนายดังและนางสาวดวง  โดยนายเด่นใช้นามสกุลนายดัง แต่เนื่องจากทั้งนายดังและนางสาวดวงมีฐานะยากจนจึงได้ยินยอมให้นายดนัยพี่ชายนายดังจดทะเบียนรับนายเด่น  ไปเป็นบุตรบุญธรรม  เห็นว่า  นายเด่นเป็นบุตรนอกกฎหมาย  (บิดาและมารดามิได้จดทะเบียนสมรส)  ของนายดัง  ผู้ถูกกระทำละเมิดถึงตาย  แต่นายดังได้ให้การรับรองโดยพฤตินัยคือให้ใช้นามสกุล  นายเด่นจึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นทายาทของนายดัง  จึงเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดการศพของนายดังผู้ตาย  นายเด่นจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้กระทำละเมิดได้  ตามมาตรา  443  วรรคแรก  แม้ว่านายเด่นจะได้เป็นบุตรบุญธรรมของนายดนัยแล้วก็ตาม  เพราะตามมาตรา  1598/28  วรรคแรก  มีหลักกฎหมายว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม…  ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ดังนั้นนายเด่นจึงมีฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายดังในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาได้อยู่

สรุป

(1) นายมืด  ต้องรับผิดในทางละเมิด  ส่วนพันตำรวจเอกอรุณ  ไม่มีความรับผิดในทางละเมิดตามมาตรา  420

(2) นายเด่นเป็นทายาทของนายดัง  มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพได้ ตามมาตรา  443  วรรคแรก

 

 

ข้อ  4  นายเอกใช้ปืนยิงไปที่นายโท  กระสุนนัดแรกไม่ถูกนายโท  ขณะที่นายเอกกำลังจะยิงนัดที่สอง  นายโทใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะนายเอก  ปรากฏว่าศีรษะนายเอกแตก  ไม้เท้าหักกระเด็นไปถูกตาของนายตรีบอดไปข้างหนึ่ง  ดังนี้

(1) นายโทต้องรับผิดต่อนายเอกหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายโทต้องรับผิดต่อนายตรีหรือไม่  เพราะเหตุใด

(3) นายเอกต้องรับผิดต่อนายตรีหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  449  บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี  กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้

วินิจฉัย

การที่นายเอกใช้ปืนยิงไปที่นายโท  กระสุนนัดแรกไม่ถูกนายโท  จึงเป็นการกระทำโดยจงใจ  ซึ่งทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นละเมิด  ขณะที่นายเอกกำลังจะยิงนัดที่สอง  นายโทใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะนายเอกแตก  ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  การกระทำของนายโทจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายโทจึงได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  449  นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายเอก

การที่ไม้หักกระเด็นไปถูกตาของนายตรีบอดไปข้างหนึ่ง  นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายตรี  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้จะพลาดไปก็เป็นผลจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงได้รับนิรโทษกรรม  ตามมาตรา  449  วรรคแรก  ส่วนนายตรีผู้ได้รับความเสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเอกผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา  449 วรรคสอง

สรุป

(1) นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายเอก

(2) นายโทไม่ต้องรับผิดต่อนายตรี

(3) นายเอกต้องรับผิดต่อนายตรี

Advertisement