การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2542 (ส่วนภูมิภาค)
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 ยอดชายเป็นบิดาของเด็กชายเล็กอายุ 2 เดือน และเป็นนายจ้างของนางแจ๋ว วันหนึ่งยอดชายต้องไปต่างจังหวัด จึงได้สั่งให้นางแจ๋วเลี้ยงดูแลเด็กชายเล็ก ในคืนนั้นเองนางแจ๋วซึ่งอาบน้ำให้อาหารให้แก่เด็กชายเล็กเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำเด็กชายเล็กไปใส่ไว้ในเปลที่เด็กหญิงกลางนอนอยู่
เด็กหญิงกลางมีอายุ 2 เดือน เป็นบุตรสาวของนางแจ๋ว และในเวลานั้นยังไม่ได้นอนหลับ ก็ได้แกว่งมือเท้าเล่นไปมา ทำให้นิ้วเลยไปทิ่มตาเด็กชายเล็ก เป็นผลให้เด็กชายเล็กกลายเป็นคนตาบอด
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า แจ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดต่อเด็กชายเล็กในความเสียหายที่เด็กชายเล็กต้องตาบอดหรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 420, 429
วินิจฉัย
แจ๋วมีความรับผิดเพื่อละเมิดต่อเด็กชายเล็ก ตามมาตรา 420 อันเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของแจ๋วเอง โดยถือว่าเป็นการที่แจ๋วงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย
ความรับผิดของแจ๋วมิใช่ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของผู้อื่นตามมาตรา 429 เพราะเหตุว่า ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 429 นั้น เป็นความรับผิดในกรณีที่มีบุคคลซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำละเมิด และกฎหมายกำหนดให้บิดามารดาร่วมรับผิดกับเขาด้วย เมื่อเด็กหญิงกลางเป็นผู้เยาว์ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 2 เดือน ย่อมไม่รู้สำนึกในการกระทำของตนเองในเวลาที่ก่อความเสียหาย ดังนั้นจึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเด็กหญิงกลางมีการกระทำ เมื่อยังไม่มีการกระทำจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420
ข้อ 2. ติ๋มเป็นเจ้าของสุนัขตัวหนึ่ง ได้สั่งให้แต๋วลูกจ้างของตน พาสุนัขตัวนี้ไปเดินเล่นในที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แต๋วได้ใช้เชือกล่ามที่คอของสุนัขแล้วพาเดินไป ระหว่างเดินไปนั้นเอง แอ๋วได้พาอ๋องหลานชายอายุ 4 ขวบมาเดินเล่นที่สวนนี้เช่นกัน อ๋องเห็นสุนัขจึงแกล้งใช้ก้อนอิฐปาไปที่หัวสุนัข สุนัขตกใจจึงกระโดดหนีเชือกหลุดจากมือของแต๋ว และสุนัขกระโจนไปถูกหาบขนมจีนของดาวเสียหาย
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ดาวจะเรียกให้ติ๋ม และแอ๋วรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย มาตรา 420, 430 และ 433
วินิจฉัย
ดาวเรียกให้ติ๋มรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ที่ติ๋มเป็นเจ้าของตามมาตรา 433 ไม่ได้ เพราะเหตุว่า มาตรา 433 เป็นกฎหมายที่กำหนดความรับผิดกับผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาสัตว์ไว้เฉพาะในกรณีที่เป็นความเสียหายอันเกิดจากสัตว์เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงตามปัญหาเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคน (อ๋อง) มิใช่เกิดจากสุนัข ดังนั้น จึงต้องเอาผิดกับอ๋องผู้เป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายที่แท้จริง เมื่อการกระทำของอ๋องเป็นการกระทำผิดละเมิดตามมาตรา 420 แอ๋วซึ่งเป็นผู้รับดูแลผู้เยาว์อยู่ในเวลานั้น จึงต้องมีความรับผิดร่วมกับอ๋องผู้เป็นหลานชายด้วย ตามมาตรา 430
ข้อ 3. นายสีกับนางสาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนเกิดบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง ในขณะที่เด็กชายแดงเกิดใหม่ ๆ นั้นนายสียอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล และอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา วันเกิดเหตุจำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนายสี่สลบไป ระหว่างสลบนั้นปรากฏว่านาฬิกา, แว่นตา มูลค่า 5,000 บาท สูญหายไป นายสีรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนต่อมาถึงแก่ความตาย
ข้อเท็จจริงได้ความว่านางสาซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายแดงถึงแก่ความตายหลังจากที่คลอดเด็กชายแดงออกมาแล้ว ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้
(1) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีนาฬิกาและแว่นตาของนายสีสูญหายไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(3) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า “อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”
มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
กรณีตามปัญหา การที่นาฬิกาแว่นตาสูญหายไปในระหว่างที่นายสีสลบไปนั้นถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดและเป็นความเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุ เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกจากจำเลยได้ ตามมาตรา 438 วรรค 2 โดยถือว่าเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้น (เทียบฎีกาที่ 1576/2506)
การที่นายสียอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล และอุปการะเลี้ยงดูตลอดมานั้น ถือได้ว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นทายาทของนายสี เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ (เทียบฎีกาที่ 14/2517)
การที่นายสีและนางสาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กชายแดงจึงเป็นบุตรนอกกฎหมาย ถึงแม้นายสีจะยอมให้ใช้นามสกุลและอุปการะเลี้ยงดูตลอดมาเป็นเพียงรับรองโดยพฤติการณ์เท่านั้น สถานะของเด็กชายแดงยังเป็นบุตรนอกกฎหมายอยู่ ดังนั้นเด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้ (เทียบฎีกา 508/2519)
สรุป (1) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีนาฬิกาแว่นตาสูญหายได้
(2) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้
(3) เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้
ข้อ 4 นายขาวและนายหนึ่งเป็นเพื่อนกัน วันเกิดเหตุนายขาวขับรถไปที่บ้านของนายหนึ่ง นายขาวจอดรถไว้ในโรงรถซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านของนายหนึ่ง ขณะนั้นลิงของนายแดงได้ลอบเข้าไปกัดเบาะรถยนต์ของนายขาวได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 1,000 บาท ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้
(1) นายขาวจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 452 บัญญัติว่า “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้นและยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้”
กรณีตามปัญหา นายขาวจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ เพราะนายขาวไม่ใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์
นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ เพราะลิงของนายแดงไม่ได้ทำความเสียหายต่อทรัพย์ของนายหนึ่งแต่ประการใด ดังนั้นจึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่นายหนึ่ง
สรุป (1) นายขาวจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
(2) นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้