การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอ  อายุ  16  ปี  ซื้อหนูนามาเลี้ยงดูเล่นหนึ่งตัว  และนำไปใส่ไว้ในกรง  แต่ไม่ได้คล้องกุญแจที่ประตูกรง  เด็กชายบี  อายุ  14  ปี  เห็นดังนั้นจึงแกล้งปล่อยหนูออกมาจากกรง  หนูจึงวิ่งหนีไปหลบอยู่ในตู้เสื้อผ้าของนายซี  ต่อมานายซีเปิดตู้จึงเห็นหนูและตกใจจนเป็นลมสิ้นสติศีรษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้บ้าง  หากว่านายเอเป็นเด็กกำพร้าที่ซุกซนและอยู่ในความดูแลของยายเพียงคนเดียว  และเด็กชายบีเป็นบุตรของนางดี

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายซีเห็นหนูและตกใจเป็นลมสิ้นสติศีรษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น  ถือเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดจากสัตว์  คือ  หนูของนายเอ  ซึ่งตามมาตรา  433  กำหนดให้มีผู้รับผิดคือ  เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของสัตว์  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายเอเป็นเจ้าของหนูและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเลี้ยงดูตามชนิด  วิสัย  และพฤติการณ์ของสัตว์นั้นที่ต้องระวังด้วยการคล้องกุญแจที่ประตูกรงไว้ด้วย  เพราะหนูย่อมดันตัวเองออกมานอกกรงได้ง่าย  ดังนั้น  เมื่อหนูหลุดออกมาจากกรง  และทำให้นายซีเสียหาย  นายเอจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากหนูของตนเองต่อนายซีตามมาตรา  433  วรรคแรก 

และเมื่อปรากฏว่า  นายเอซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  อยู่ในความดูแลของยายเพียงคนเดียวของตน  นายซีจึงสามารถเรียกร้องให้ยายของนายเอร่วมรับผิดกับนายเอในการละเมิดที่เกิดขึ้นจากสัตว์ของนายเอได้  เพราะถือเป็นผู้รับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ  ตามมาตรา  430

แต่อย่างไรก็ดี  ทั้งนายเอและยายมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เด็กชายบีซึ่งเป็นผู้เร้าหรือยั่วสัตว์โดยละเมิด  โดยการแกล้งปล่อยหนูออกมาจากกรง เป็นเหตุให้หนูไปก่อความเสียหายขึ้นต่อนายซีได้ตามมาตรา  433  วรรคสอง

นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่า  เด็กชายบีเป็นบุตรของนางดี  ดังนั้นนายเอและยายจึงสามารถเรียกร้องให้นางดี  มารดาของเด็กชายบีซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ  (ผู้เยาว์)  รับผิดร่วมกับเด็กชายบีได้อีกด้วย  ตามมาตรา  439

สรุป  นายซีสามารถเรียกร้องให้นายเอและยายร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนได้  และนายเอและยายก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เด็กชายบีและนางดีได้

 

 

ข้อ  2  นางอมราขอให้นางอ้วนช่วยไปซื้อกาแฟร้อนให้ตนดื่ม  ระหว่างที่เดินกลับจากซื้อกาแฟ  นางอ้วนไม่พอใจนางผอมที่เดินผ่านมาพอดี  จึงสาดกาแฟที่ร้อนจัดมากใส่นางผอม  ทำให้นางผอมหน้าเสียโฉม  รักษาไม่หาย  เพราะความร้อนมากของกาแฟ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัย

(ก)  นางผอมจะเรียกให้ใครรับผิดในความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  นางผอมจะเรียกค่าเสียโฉม  ทำให้ไม่สามารถไปประกวดนางงามประจำคณะได้หรือไม่  อย่างไร

(ค)  หากนางผอมต้องขาดการงานเป็นเวลาหลายเดือน  นางผอมจะเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(ก)  นางผอมจะเรียกให้ใครรับผิดในความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร  เห็นว่า  การที่นางอ้วนสาดน้ำกาแฟที่ร้อนจัดมากใส่นางผอม  จนทำให้นางผอมหน้าเสียโฉมนั้น  การกระทำของนางอ้วนถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายต่อร่างกาย  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนางอ้วน  จึงถือว่านางอ้วนได้กระทำละเมิดต่อนางผอมตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางผอม  ดังนั้น  นางผอมจึงเรียกให้นางอ้วนรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม  นางผอมจะเรียกให้นางอมรารับผิดร่วมกับนางอ้วนไม่ได้  เพราะถึงแม้นางอ้วนจะมีฐานะเป็นตัวแทนของนางอมราในการไปซื้อกาแฟ  แต่การที่นางอ้วนสาดน้ำกาแฟใส่นางผอมนั้น  เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากขอบอำนาจตัวแทน  ดังนั้น  เมื่อไม่ได้เป็นเรื่องการทำละเมิดในขอบอำนาจตัวแทน  นางอมราตัวการจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนางอ้วนตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425

(ข)  ตามบทบัญญัติมาตรา  446  วรรคแรก  ได้กำหนดไว้ว่า  บุคคลผู้ถูกกระทำละเมิดจนต้องได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินอีกก็ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นางผอมได้รับความเสียหายถึงกับหน้าเสียโฉม  จนไม่สามารถไปประกวดนางงามประจำคณะได้  อันถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน  ดังนั้น  นางผอมจึงสามารถเรียกค่าเสียโฉมทำให้ไม่สามารถไปประกวดนางงามที่คณะได้ตามมาตรา  446 วรรคแรก

(ค)  ตามบทบัญญัติมาตรา  445  นั้น  เป็นกรณีที่กฎหมายให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นนายจ้าง  ในการที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กระทำละเมิดต่อลูกจ้างของตน  จนเป็นเหตุให้ตนต้องขาดแรงงานเพราะการกระทำละเมิดนั้น  ดังนั้นตามข้อเท็จจริง  แม้นางผอมจะต้องขาดการงานเป็นเวลาหลายเดือน  นางผอมก็ไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  จากนางอ้วนได้  เพราะผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ในกรณีนี้  ก็คือนายจ้างของนางผอม

สรุป

(ก)  นางผอมเรียกให้นางอ้วนรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้  แต่จะเรียกให้นางอมราร่วมรับผิดในความเสียหายดังกล่าวไม่ได้

(ข)  นางผอมสามารถเรียกค่าเสียโฉม  ทำให้ไม่สามารถไปประกวดนางงามประจำคณะได้

(ค)  นางผอมจะเรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา  445  ไม่ได้

 

 

ข้อ  3 

(ก)  นายบุญถึงผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญมาและนางบุญมี  มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสุโขทัย  นายบุญมาและนางบุญมีได้ส่งนายบุญถึงมาเรียนหนังสือที่จังหวัดนครสวรรค์  โดยฝากให้พักอาศัยอยู่กับนายบุญมากตาของนายบุญถึง  นายบุญถึงชอบเล่นปืนลูกกรดของนายบุญมาก  และนำปืนไปยิงนกเล่นอยู่เป็นประจำ  โดยนายบุญมากมิได้ว่ากล่าวห้ามปราม  วันหนึ่งนายบุญถึงเอาปืนลูกกรดดังกล่าวไปยิงนกเล่นในทุ่งนา  กระสุนปืนพลาดเลยไปถูกวัวของนายบุญหนัก  ซึ่งกำลังกินหญ้าอยู่กลางทุ่งนาถึงแก่ความตาย

ดังนี้  นายบุญหนักจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ใดได้บ้าง  อย่างไร

(ข)  นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง  เมื่อนาง  ข  คลอดเด็กชายแดงแล้ว  ต่อมาถึงแก่ความตาย  นาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย  ก  แต่นาย  ก  ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงเลย  วันเกิดเหตุจำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย

ดังนี้  เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ข้อ  (ก)

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายบุญถึงเอาปืนลูกกรดไปยิงนกเล่นในทุ่งนา  แต่กระสุนพลาดไปถูกวัวของนายบุญหนักถึงแก่ความตายนั้น  การกระทำของนายบุญถึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายบุญถึง  จึงถือว่านายบุญถึงได้กระทำละเมิดต่อนายบุญหนักตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายบุญหนัก  แม้นายบุญถึงจะเป็นผู้เยาว์อันถือเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม  ตามมาตรา  429 

และเมื่อปรากฏว่า  ในขณะที่นายบุญถึงทำละเมิดนั้น  นายบุญถึงอยู่ในความดูแลของนายบุญมาก  คุณตาของตน  นายบุญมากจึงถือเป็นผู้รับดูแลตามมาตรา  430  และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายบุญมากได้รู้ว่า  นายบุญถึงหลานของตนชอบเล่นปืน  และเอาปืนไปยิงนกเล่นเป็นประจำ  แต่กลับมิได้ว่ากล่าวห้ามปราม  นายบุญมากจึงเป็นผู้ที่ขาดความระมัดระวังในการดูแลหลานซึ่งเป็นผู้เยาว์และผู้ไร้ความสามารถ  จึงต้องรับผิดร่วมกับนายบุญถึง  ตามมาตรา  430

ส่วนกรณีของนายบุญมาและนางบุญมี  บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญถึงนั้น  แม้จะมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอบรมดูแลว่ากล่าวสั่งสอนบุตรผู้เยาว์ก็ตาม  แต่ขณะเกิดเหตุนั้น  นายบุญถึงซึ่งเป็นบุตรได้อยู่ในความดูแลของนายบุญมากซึ่งเป็นคุณตา  นายบุญมาและนางบุญมีมิได้ปกครองดูแลอยู่  ดังนั้น  จะถือว่านายบุญมาและนางบุญมีขาดความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นมิได้ นายบุญมาและนางบุญมีจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายบุญถึงในผลแห่งละเมิดนั้น  ตามมาตรา  429 

สรุป 

นายบุญหนักสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากนายบุญถึงและนายบุญมากได้  แต่จะเรียกร้องจากนายบุญมาและนางบุญมีไม่ได้

ข้อ  (ข)

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  443  วรรคแรก  ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย  ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น  บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย  (ป.พ.พ.  มาตรา  1629 (1))  กล่าวคือ  จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา  หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  และนาง  ข  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรคนหนึ่งคือ  เด็กชายแดงนั้น  กรณีนี้ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย  ก  แต่เมื่อนาย  ก  ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของตน  ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว  จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย  ก  ผู้ตาย  (ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1629(1))    ดังนั้น  เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย  ก  ถึงแก่ความตาย เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา  443  วรรคแรก

สรุป  เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้ 

 

 

ข้อ  4  นายหนึ่งเจ้าของฟาร์มม้าแข่งสายพันธุ์ดีแห่งหนึ่งได้รับนายเม้ย  อายุ  16  ปี  เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง  มีหน้าที่ทำความสะอาดคอกม้า  โดยนายหนึ่งได้ให้นายเม้ยกินอยู่พักกับตน  อีกทั้งผู้ปกครองของนายเม้ยยังได้ฝากฝังนายเม้ยไว้ในความดูแลของนายหนึ่ง  ต่อมาวันหนึ่งในตอนค่ำหลังเวลาเลิกงานแล้ว  นายเม้ยได้แอบนำม้าในคอกออกไปทดลองขี่บริเวณทุ่งแถวฟาร์ม  เมื่อนายเม้ยได้ขึ้นขี่ม้าแล้ว  นายเม้ยยังได้พยายามกระทุ้งสีข้างม้าให้วิ่งเร็วๆ  ด้วยความคึกคะนองทั้งที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์ในการขี่ม้าเลย  ปรากฏว่าขณะที่นายเม้ยซึ่งกำลังควบม้าด้วยความเร็วสูงอยู่นั้น  นายเม้ยไม่สังเกตเห็นนางสาวริน  จึงควบม้าพุ่งเข้าชนนางสาวรินโดยแรงเป็นเหตุให้นางสาวรินตกลงไปในบึงน้ำ  นางสาวรินได้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ  นายเก่งซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทองตัวแทนเขตที่เห็นเหตุการณ์แต่มิได้ลงไปช่วยเหลือนางสาวรินแต่อย่างใด  นางสาวรินจมน้ำถึงแก่ความตาย  ดังนี้  จงวินิจฉัยว่านายเม้ย  นายหนึ่ง  นายเก่ง  ต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง  บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด  หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหายต่อชีวิต  ร่างกาย  อนามัย  เสรีภาพ  ทรัพย์สิน  หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเม้ย  นายหนึ่ง  และนายเก่ง  จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1       กรณีของนายเม้ย

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายเม้ยควบม้าด้วยความเร็วสูงทั้งที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์ในการขี่ม้ามาก่อน  จนเป็นเหตุให้ม้าพุ่งเข้าชนนางสาวรินตกลงไปในบึงน้ำ  และจมน้ำถึงแก่ความตายนั้น  การกระทำของนายเม้ยถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ทำให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต  และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเม้ย  จึงถือว่านายเม้ยได้กระทำละเมิดต่อนางสาวริน  ตามมาตรา  420  จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวริน  และกรณีนี้ไม่ใช่ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์  เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา  433  จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง  ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

2       กรณีของนายหนึ่ง

ตามข้อเท็จจริง  แม้ว่านายหนึ่งจะเป็นนายจ้างของนายเม้ย  แต่ตอนที่นายเม้ยแอบนำม้าออกไปขี่นั้น  เป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว  จึงถือเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง  นายหนึ่งผู้เป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมกับนายเม้ยตามมาตรา  425 

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายหนึ่งได้ให้นายเม้ยกินอยู่พักอาศัยกับตน  อีกทั้งผู้ปกครองของนายเม้ยยังได้ฝากฝังนายเม้ยไว้ให้อยู่ในความดูแลของนายหนึ่งนั้น  ย่อมทำให้นายหนึ่งมีฐานะเป็นนายจ้าง  ผู้รับดูแลนายเม้ยลูกจ้างผู้เยาว์  (ผู้ไร้ความสามารถ)  ดังนั้น  นายหนึ่งจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเม้ยซึ่งได้กระทำละเมิดในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา  430  หากพิสูจน์ได้ว่านายหนึ่งมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

3       กรณีของนายเก่ง

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายเก่งซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทองตัวแทนเขตเห็นนางสาวรินกำลังจะจมน้ำแต่งดเว้นมิได้เข้าช่วยเหลือ  ซึ่งนายเก่งสามารถช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายนั้น  กรณีนี้เมื่อปรากฏว่านายเก่งไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องช่วยเหลือนางสาวรินแต่อย่างใด  ดังนั้น  การที่นายเก่งงดเว้นไม่เข้าช่วยเหลือนางสาวริน  จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวรินตามมาตรา  420  นายเก่งจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด  (แต่อาจมีความผิดลหุโทษ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  374)

สรุป  นายเม้ย  และนายหนึ่งต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนางสาวริน  ส่วนนายเก่งไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนางสาวริน

Advertisement