การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 บริษัทดวงดี จำกัด จ้างบริษัทดวงเฮง จำกัด ให้รักษาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้าดวงดีพลาซ่าและรักษาความปลอดภัยในรถยนต์ของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในห้างด้วย บริษัทดวงเฮงจำกัด
ได้จ้างนายหละหลวมเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และบริษัทดวงเฮง จำกัด กำหนดข้อปฏิบัติต่อลูกค้าที่นำรถยนต์เข้ามาจอดในบริเวณลานจอดต้องรับบัตรผ่านเข้าและคืนบัตรเมื่อนำรถออกโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ หากบัตรสูญหายจะต้องนำบัตรประจำตัวและหลักฐานความเป็นเจ้าของรถมาแสดงจึงจะนำรถออกไปได้
นายโชคร้ายได้นำรถยนต์เข้ามาจอดในลานจอดรถและรับบัตรผ่านเข้าออกแล้วเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้าง เมื่อกลับออกมาปรากฏว่ารถยนต์หายไป
เนื่องจากนายหละหลวมไม่ได้ตรวจสอบการแลกบัตรออกโดยเคร่งครัดจนเป็นเหตุให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของนายโชคร้ายไปได้
ดังนี้ นายโชคร้ายจะเรียกให้ผู้ใดรับผิดได้บ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
วินิจฉัย
การที่นายหละหลวมไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถผ่านเข้าออกไปจากห้างด้วยความประมาทอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ จึงเป็นการทำละเมิดซึ่งเป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์นายโชคร้ายสูญหาย นายหละหลวมจึงต้องรับผิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา 420
นายหละหลวมทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย จึงเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง บริษัทดวงเฮง จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกับนายหละหลวมพนักงานรักษาความปลอดภัยในการรับผิดต่อนายโชคร้ายตามมาตรา 425
บริษัทดวงดีจำกัด จ้างบริษัทดวงเฮง จำกัด รักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากนายหละหลวมซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทดวงเฮงผู้รับจ้างทำของโดยมิใช่ความผิดของบริษัทดวงดี จำกัด บริษัทดวงดีจำกัดจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างทำของตามมาตรา 428
แต่โดยที่บริษัทดวงดี จำกัดจ้างบริษัทดวงเฮง จำกัด รักษาความปลอดภัย โดยมีนายหละหลวมเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทดวงเฮง จำกัด เมื่อนายหละหลวมทำละเมิดบริษัทดวงดี จำกัดจึงต้องร่วมกับบริษัทดวงเฮงจำกัด และนายหละหลวมรับผิดต่อนายโชคร้ายในฐานะที่เป็นตัวการตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 (ฎ. 4223/2542)
สรุป นายโชคร้ายสามารถเรียกให้นายหละหลวมรับผิดตามมาตรา 420 บริษัทดวงดี จำกัด ตามมาตรา 427 และบริษัทดวงเฮง จำกัด ตามมาตรา 425
ข้อ 2 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เดินสายไฟฟ้าเปลือยแรงสูงผ่านดาดฟ้าบ้านของนายบอย วันหนึ่งนายบอยขึ้นไปเดินเล่นบนดาดฟ้าแล้วสะดุดก้อนหินที่วางไว้เสียหลัก มือไปพาดถูกสายไฟฟ้าทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย
ดังนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะต้องรับผิดต่อการตายของนายบอยหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมาย
ธงคำตอบ
มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
วินิจฉัย
กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายโดยสภาพ ตามมาตรา 437 วรรคสอง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ครอบครองจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแต่กระแสไฟฟ้านั้น (ฎ. 478/2523)
การที่นายบอยเดินเล่นเสียหลักมือไปถูกสายไฟฟ้าทำให้ไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย ยังฟังไม่ได้ว่าเหตุเพราะความผิดของนายบอยเอง
ความตายของนายบอยเกิดจากกระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความครอบครองของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งอาจป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าได้ อันตรายที่เกิดแก่นายบอยจึงถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เพราะเหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ ดังนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องรับผิดต่อการตายของนายบอย (ฎ. 3354/2524)
ข้อ 3 นายหนึ่งจดทะเบียนรับเด็กชายอังคารเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า บิดามารดาที่แท้จริงของเด็กชายอังคารถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว นายหนึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอังคารตลอดมา ตามปกติเด็กชายอังคารชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นประจำ โดยนายหนึ่งไม่เคยห้ามปราม ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือน
วันเกิดเหตุเด็กชายอังคารออกไปเที่ยวนอกบ้านและเกิดไม่พอใจนายขาว เด็กชายอังคารใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บ
ดังนี้ นายขาวจะฟ้องผู้ใดให้รับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
วินิจฉัย
การที่บิดามารดาจะต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ตามมาตรา 429 นี้ในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าผู้เยาว์ได้กระทำละเมิดหรือไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั่วไปของการกระทำอันเป็นละเมิดมีว่า
1 เป็นบุคคลที่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหาย (ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิ)
4 ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
ดังนั้นการที่เด็กชายอังคารออกไปเที่ยวนอกบ้านและเกิดไม่พอใจนายขาว ใช้มีดแทงนายขาวจนได้รับบาดเจ็บ เป็นการกระทำโดยจงใจทำต่อนายขาวโดยผิดกฎหมาย ทำให้นายขาวเสียหายต่อร่างกาย ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายอังคาร เมื่อครบองค์ประกอบของหลักเกณฑ์การกระทำละเมิด การกระทำของเด็กชายอังคารจึงเป็นละเมิดตามมาตรา 420
เมื่อเด็กชายอังคารได้กระทำละเมิดต่อนายขาว นายหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมของเด็กชายอังคารจะต้องร่วมรับผิดกับเด็กชายอังคารด้วยหรือไม่ เห็นว่า เพราะเหตุที่บิดามารดามีหน้าที่ควบคุมเลี้ยงดูผู้เยาว์ อีกทั้งกฎหมายยังให้อำนาจบิดามารดาในการใช้อำนาจปกครอง ซึ่งทำให้ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความเชื่อฟังคำสั่งด้วย ดังนั้นบิดามารดาต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ด้วย อนึ่งคำว่า “บิดามารดา” ตามมาตรา 429 นี้หมายถึง บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งผู้รับบุตรบุญธรรมเฉพาะที่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ถือว่าเป็นบิดามารดาตามความหมายของมาตรานี้ด้วย
เมื่อนายหนึ่งเป็นบิดา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กชายอังคารผู้เยาว์ในขณะทำละเมิด แต่การที่นายหนึ่งไม่เคยห้ามปราม ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเด็กชายอังคารออกไปเที่ยวนอกบ้าน ถือได้ว่านายหนึ่งบกพร่องในการดูแลผู้เยาว์ เมื่อเด็กชายอังคารทำละเมิด นายหนึ่งซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามมาตรา 429 (ฎ. 941/2498)
สรุป
(1) นายขาวฟ้องเด็กชายแดงได้ตามมาตรา 420
(2) นายขาวฟ้องนายหนึ่งให้ร่วมรับผิดได้ตามมาตรา 429
ข้อ 4 นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนมีบุตรคือเด็กชายแดง เมื่อนาง ข. คลอดเด็กชายแดงแล้วต่อมาถึงแก่ความตาย นาย ก. ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา นาย ก. ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล ต่อมานายสิงห์ขับรถโดยประมาทชนนาย ก. ถึงแก่ความตาย ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้
1) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
2) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนมีบุตรคือ เด็กชายแดง เด็กชายแดงจึงเป็นบุตรนอกกฎหมาย เมื่อนาย ก. ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดง และนาย ก. ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล ถือได้ว่าบิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์ตามมาตรา 1627 ส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง จึงเป็นทายาทตามมาตรา 1629(1) เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียกค่าปลงศพจากนายสิงห์ได้ ตามมาตรา 443 วรรคแรก
กรณีค่าขาดไร้อุปการะนั้น เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกจากนายสิงห์ไม่ได้ เพราะเด็กชายแดงเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 443 วรรคท้าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เรียกได้
สรุป
(1) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพได้
(2) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้