การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  จากเหตุการณ์เครื่องบินสายการบิน  วันทูโก  ลื่นไถลออกนอกรันเวย์  และเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงทำให้นางฟ้าวิ่งหนีออกมาจากเครื่องบินเช่นเดียวกับคนอื่นๆ  ในเครื่องบินในขณะที่กำลังโกลาหลกันอยู่นั้น

นายชอบเห็นจังหวะดีที่จะแก้แค้นนางฟ้า  จึงได้ผลักนางฟ้า  แต่นางฟ้าหลบทัน  แล้วเซถลาไปชนนายเฟื่อง  ทำให้นายเฟื่องล้มลงและถูกผู้โดยสารคนอื่นๆวิ่งทับไปบนตัวจนกระทั่งไม่สามารถลุกหนีออกมาจากเครื่องบินได้  และในที่สุดได้ถึงแก่ความตายเพราะไฟลุกท่วมตัว

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ภริยาของนายเฟื่องจะเรียกร้องให้นายชอบและนางฟ้าร่วมกันรับผิดในค่าขาดการงานในครัวเรือนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของนายชอบที่ได้ผลักนางฟ้า  และทำให้เซถลาไปชนนายเฟื่องนั้น  เป็นการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อต่อนายเฟื่อง  ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของนายเฟื่องเนื่องจากล้มลงไป  และแม้ว่าความเสียหายต่อมาจะทำให้  นายเฟื่องถึงแก่ความตาย  ก็ยังถือว่าผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายชอบ  เพราะช่องแห่งภัยไม่ขาดตอนลง  นายชอบจึงต้องรับผิดต่อนายเฟื่อง  ตามมาตรา  420

กรณีที่นางฟ้าเซถลาไปชนนายเฟื่องนั้น  นางฟ้าไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อนายเฟื่อง  เพราะขาดหลักเกณฑ์ตามมาตรา  420  ที่ว่าต้องมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่น

ภริยาของนายเฟื่องเป็นผู้ได้รับความเสียหายทางอ้อมอันเกิดจากสามีของตนได้ถูกกระทำละเมิด  ภริยาของนายเฟื่องจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนจากนายชอบได้  ตามมาตรา  445

สรุป  ภริยาของนายเฟื่องสามารถเรียกให้นายชอบรับผิดในค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา  445  ได้  แต่จะเรียกจากนางฟ้าไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นางสาวซ่ากับนางสาวซิ่งมีเรื่องไม่พอใจเพราะแย่งเพื่อนชายกัน  วันเกิดเหตุนางสาวซ่าและเพื่อนๆพบกับนางสาวซิ่งในห้องเรียน  นางสาวซ่าจึงวิ่งไปตบหน้านางสาวซิ่ง  เมื่อนางสาวซิ่งล้มลง  นางสาวซ่าก็ได้เดินไปตบ  และโขกศีรษะนางสาวซิ่งกับพื้นห้องเรียน

ในเวลานั้น  เพื่อนร่วมห้องทั้งชาย หญิง  ยืนส่งเสียงเชียร์ด้วยความสนุกสนานสะใจ  รวมทั้ง  นายแสบด้วย  โดยนายแสบได้ใช้โทรศัพท์ของตนถ่ายคลิปวีดีโอไว้  และได้นำคลิปนั้นส่งต่อไปยังนางสาวเซ่อคู่รักของนายแสบ  และนางสาวเซ่อก็ได้นำคลิปนั้นส่งต่อไปยังเพื่อนๆของตนด้วย  โดยเห็นว่าเป็นแฟชั่นของการมีคลิปแปลกแต่จริง

ดังนี้  หากนางสาวซิ่งได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง  จึงได้ฆ่าตัวตาย  ทำให้นางซึมเศร้าซึ่งเป็นมารดาของนางสาวซิ่งได้รับความระทมทุกข์เป็นอย่างมาก  จนกระทั่งกลายเป็นโรคประสาทและวิกลจริตในที่สุด

ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของนางสาวซ่า  นายแสบ  และนางสาวเซ่อ  เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อนางสาวซิ่งและนางซึมเศร้าหรือไม่  อย่างไร  และหากว่านางซึมเศร้าจะเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินจากการที่นางสาวซิ่งถูกทำละเมิดด้วย  จะเรียกได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  423  ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง  แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง  หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว  ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ประกอบด้วย

1       เป็นบุคคลที่มี  การกระทำ  โดยรู้สำนึก  และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้  ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2       ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3       มีความเสียหาย

4       ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของนางสาวซ่าเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวซิ่ง  โดยจงใจทำให้นางสาวซิ่งได้รับความเสียหายต่อร่างกาย  นางสาวซ่าจึงต้องรับผิดต่อนางสาวซิ่ง  ตามมาตรา  420

ส่วนการกระทำของนายแสบและนางสาวเซ่อ  เป็นการหมิ่นประมาททางแพ่งหรือไม่  เห็นว่า

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  423  (หมิ่นประมาททางแพ่ง)  มีดังนี้

1       เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

2       ทำให้แพร่หลาย  กล่าวคือ  กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว  โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือไขข่าวนั้นได้

3       มีความเสียหายต่อชื่อเสียง  เกียรติคุณ  ทางทำมาหาได้  หรือทางเจริญต่อบุคคลอื่น

4       มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ดังนี้การกระทำของทั้งสองคนไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยการหมิ่นประมาท  เพราะไม่มีการไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง  แต่ทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดต่อสิทธิของนางสาวซิ่ง  ตามมาตรา  420

อย่างไรก็ตามการกระทำของนางสาวซ่า  นายแสบและนางสาวเซ่อ  ไม่ส่งผลเลยไปถึงการที่นางซึมเศร้าได้รับความเสียหายต่อจิตใจ  เพราะเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ผลโดยตรงและไกลกว่าเหตุ  นางสาวซ่านายแสบและนางสาวเซ่อ  จึงไม่ต้องรับผิดต่อนางซึมเศร้าแต่อย่างใด

ส่วนการที่นางซึมเศร้าจะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  446  วรรคแรก  ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้นั้น  นางซึมเศร้าไม่มีสิทธิเรียกร้อง  เพราะความเสียหายตามมาตรานี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดยังทายาท  เว้นแต่จะได้เริ่มต้นฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว  หรือได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาก่อน

สรุป

–                    นางสาวซ่า  นายแสบและนางสาวเซ่อ  กระทำละเมิดต่อนางสาวซิ่ง  ตามมาตรา  420

–                    นางสาวซ่า  นายแสบและนางสาวเซ่อ  ไม่ได้กระทำละเมิดต่อนางซึมเศร้าแต่อย่างใด  และ

–                    นางซึมเศร้าไม่สามารถเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินได้  ตามมาตรา  446  วรรคแรก

 

 

ข้อ  3  นาย  ก.  และนาง  ข.  อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดงหลังจากคลอดเด็กชายแดง  นาง  ข.  ถึงแก่ความตาย  นาย  ก.  จึงเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  ต่อมาขณะเด็กชายแดงอายุ  13  ปี  เด็กชายแดงชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านทุกคืนโดยที่นาย  ก.  ไม่เคยห้ามปรามและว่ากล่าวตักเตือน

วันเกิดเหตุเด็กชายแดงออกไปเที่ยวนอกบ้านแล้วเกิดมีปากเสียงกับนายขาว  บังเอิญนายเสือซึ่งเป็นลุงของเด็กชายแดงเดินผ่านมาพบเข้าพอดีจึงยื่นมีดให้กับเด็กชายแดง  เด็กชายแดงรับมีดมาแล้วจึงใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  เด็กชายแดง  นาย  ก.  และนายเสือจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา  432  วรรคสอง  อนึ่งบุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เด็กชายแดงใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บ  การกระทำของเด็กชายแดงจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา  420

การที่นาย  ก.  และนาง  ข.  ไม่ได้จดทะเบียน  นาย  ก.  จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายแดง  เมื่อเด็กชายแดงทำละเมิดต่อนายขาว  นาย  ก.  จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  429  เพราะการที่จะต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  429  จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม  นาย  ก.  เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา  เมื่อเด็กชายแดงทำละเมิดต่อนายขาว  นาย  ก.  จึงต้องร่วมรับผิดตามมาตรา  430  เพราะถือว่าเป็นบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลผู้เยาว์ตามความเป็นจริง

และการที่นายเสือยื่นมีดให้กับเด็กชายแดง  การกระทำของนายเสือจึงเป็นการช่วยเหลือในการทำละเมิด  นายเสือจึงต้องรับผิดตามมาตรา  432  วรรคสอง

สรุป 

(1) เด็กชายแดงต้องรับผิดตามมาตรา  420

(2) นาย  ก.  ร่วมรับผิดตามมาตรา  430

(3) นายเสือรับผิดตามมาตรา  432  วรรคสอง

 

 

ข้อ  4  นายปีเตอร์เป็นกัปตันของสายการบินหนึ่ง  สอง  สาม  วันเกิดเหตุนายปีเตอร์ขับเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปภูเก็ต  พร้อมด้วยผู้โดยสารซึ่งมีนายกรุงโดยสารไปด้วย  เมื่อไปถึงที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต  นายปีเตอร์ได้รับการแจ้งเตือนจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตว่า  ทัศนวิสัยไม่ดี  ไม่ควรนำเครื่องบินลงจอด  ขอให้นำเครื่องบินบินวนอยู่ก่อน  แต่นายปีเตอร์กลับเห็นว่าน่าจะนำเครื่องบินลงจอดได้โดยไม่ฟังคำเตือนจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต  เมื่อนายปีเตอร์นำเครื่องบินลงจอดจึงทำให้เครื่องบินลื่นไถลตกรันเวย์  (Run  Way)  เป็นเหตุให้นายกรุงได้รับบาดเจ็บสาหัส  โดยทั้งคู่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1)    เหตุการณ์ดังกล่าวนี้  มีใครหรือไม่  ต้องรับผิดในทางละเมิด  เพราะเหตุใด

2)    บริษัทไทยพายัพประกันภัย  ผู้รับประกันอุบัติเหตุของนายกรุงได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตแทนนายกรุงผู้เอาประกัน จะมีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

1)    นายปีเตอร์  กัปตันสายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม  กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง  เพราะได้รับคำเตือนจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตแล้วว่าไม่ควรนำเครื่องบินลงจอด  แต่นายปีเตอร์กัปตันได้นำเครื่องบินลงจอดเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย  ดังนี้  นายปีเตอร์กระทำละเมิดต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามมาตรา  420  (ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  437  วรรคแรก  เพราะกรณีดังกล่าวต้องไม่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเท่านั้น)

เมื่อปรากฏว่านายปีเตอร์เป็นลูกจ้างของสายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม  กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง  สายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย  ตามมาตรา  425

2)    ผู้มีสิทธิในการเรียกค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  เพื่อการรักษาพยาบาล  ตามมาตรา  444  วรรคแรกตอนต้น  นอกจากผู้ถูกกระทำละเมิด  และผู้มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูผู้ถูกกระทำละเมิดตามกฎหมายครอบครัวที่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไป  (ฎ.  1145/2512)  จะเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้แล้ว  ผู้รับประกันวินาศภัยที่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนผู้เอาประกันภัยไปก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิ  เรียกค่ารักษาพยาบาลได้  ตามมาตรา  880  (ฎ.  5089/2541)

ดังนั้น  เมื่อบริษัทไทพายัพประกันภัย  ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปแทนนายกรุงผู้เอาประกันภัยบริษัทไทพายัพฯ  ผู้รับประกันภัย  ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลได้  ตามมาตรา  444  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  880 

สรุป 

1)    นายปีเตอร์  ต้องรับผิดในทางละเมิด  ตามมาตรา  420  โดยสายการบิน  หนึ่ง  สอง  สาม  นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย  ตามมาตรา  425

2)    บริษัทไทพายัพประกันภัยผู้รับประกันภัย  เมื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนนายกรุง  ผู้เอาประกันภัยไปก็มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลได้โดยการรับช่วงสิทธิ  ตามมาตรา  444  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  880

Advertisement