การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งถูกฟ้องขับไล่ออกจากเขตที่ดินของสอง  จึงได้ว่าจ้างให้สามไปลอบวางเพลิงเผาบ้านของสอง  ทำให้สองถูกไฟลวกหน้าเสียโฉม  สี่ซึ่งเป็นลูกจ้างของสองรู้สึกโกรธแทนนายจ้าง  คืนวันหนึ่งสี่เห็นว่าหนึ่งขับรถอยู่  จึงได้ท้าให้ขับรถแข่งด้วย  ขณะที่ทั้งสองแข่งกันอยู่นั้น  หนึ่งได้พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของสามที่กำลังขับอยู่บนถนนและไม่ได้เปิดไฟหน้ารถและท้ายรถไว้    ทำให้เกิดเพลิงไหม้รถยนต์ของหนึ่งและของสามเสียหาย  และทำให้สามบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นไม่สามารถทำงานต่อไปได้อีกตลอดชีวิต

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)  สองจะเรียกร้องให้สามและหนึ่งร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ตนต้องเสียบุคลิกภาพใบหน้าเสียโฉมอันเป็นความทุกข์ทรมานได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  หนึ่งจะเรียกร้องให้สองร่วมรับผิดกับสี่ในความเสียหายอันเกิดกับรถยนต์ของตนได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

มาตรา  428  ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำนวนพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้ให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

มาตรา  446  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้  สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้  และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง  หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดสัญญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้

วินิจฉัย

(ก)  สองได้รับความเสียหายอันเกิดจากหนึ่งว่าจ้างสามให้วางเพลิงเผาบ้าน  สองจึงเรียกร้องให้สามและหนึ่งร่วมรับผิดได้ในฐานะเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิด  ตามมาตรา  432  ข้อเท็จจริงไม่ใช่กรณีตามมาตรา  428  (อ้างว่าผิดมาตรานี้ให้หักคะแนน)  เพราะเป็นเรื่องที่หนึ่งและสามร่วมใจร่วมกาย  มีเจตนาหรือความมุ่งหมายร่วมกันในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น  และเมื่อสองได้รับความเสียหายถึงกับหน้าเสียโฉม  ก็ย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ตนต้องเสียบุคลิกภาพใบหน้าเสียโฉม  อันเป็นความทุกข์ทรมานซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา  446

(ข)  หนึ่งจะเรียกร้องให้สองร่วมรับผิดกับสี่ในความเสียหายอันเกิดกับรถยนต์ของตนไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่หนึ่งสมัครใจรับความเสียหายด้วยการท้าแข่งรถ  จึงถือว่าเป็นความยินยอมตามหลัก  Volente  Non  Fit  Injuria  (ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย  หรือไม่ทำให้เป็นละเมิด)  และเมื่อหนึ่งไม่อาจฟ้องร้องสี่ได้  หนึ่งก็ไม่อาจฟ้องร้องสองซึ่งเป็นนายจ้างของสี่ลูกจ้างให้ร่วมกันรับผิดตามมาตรา  425 ได้สรุป 

(ก)  สองสามารถเรียกให้หนึ่งและสามรับผิดในการที่หน้าเสียโฉมได้ในฐานะผู้ร่วมกันทำละเมิด  ตามมาตรา  446  ประกอบ  432

(ข)  หนึ่งเรียกร้องให้สองร่วมรับผิดกับสี่ไม่ได้  เพราะเป็นความยินยอมรับความเสียหายเอง

 

 

ข้อ  2  จากข้อเท็จจริงตามข้อ  1

(ก)  สี่และหนึ่งต้องร่วมรับผิดต่อสามหรือไม่  อย่างไร

(ข)  หากว่า  สาม  มีบุตรหนึ่งคน  คือ  เด็กชายห้าซึ่งเกิดจากภริยาที่อยู่กินกันมานานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  และถึงแก่ความตายไปแล้ว  สามจึงเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายห้าแต่ผู้เดียว  โดยให้ใช้นามสกุล  ตลอดจนส่งเสียเลี้ยงดูให้เล่าเรียนและให้เงินใช้ทุกวันๆ  ละ  100  บาท  ให้ท่านวินิจฉัยว่าเด็กชายห้าจะสามารถเรียกร้อง  ค่าขาดไร้อุปการะ  และ  ค่าขาดการงานในครัวเรือน  จากใครได้บ้างหรือไม่  อย่างไรธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  432  ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด  ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำนวนพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น  คนไหนเป็นผู้ก่อให้ให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง  บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เว้นแต่โดยพฤติการณ์  ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

มาตรา  438  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง  ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  442  ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  223  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  445  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย  หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย  หรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย

วินิจฉัย

(ก)  สามได้รับความเสียหายอันเกิดขึ้นต่อรถของตน  โดยเป็นความเสียหายอันเกิดจากสี่และหนึ่งแข่งรถกัน  จึงเรียกร้องให้ทั้งสองคนรับผิดต่อตนได้ตามมาตรา  420  แต่ไม่อาจเรียกให้รับผิดในฐานกระทำละเมิดร่วมกันตามมาตรา  432  ได้  เพราะทั้งสี่และหนึ่งไม่ได้ร่วมกันทำละเมิด  อย่างไรก็ดี  เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันไม่อาจแบ่งแยกกันได้  ก็ต้องให้ทั้งสองคนรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยรับผิดในความเสียหายด้วยการใช้คืนทรัพย์  หรือใช้ราคาทรัพย์แทนตามมาตรา  438  วรรคสอง  แต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสามนั้น  เป็นความเสียหายที่สามผู้เสียหายมีส่วนผิดอยู่ด้วย  เพราะไม่ได้เปิดไฟหน้ารถและหลังรถไว้  การกำหนดค่าสินไหมทดแทนก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  442  ประกอบมาตรา  223  กล่าวคือ  ให้คำนึงถึงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรด้วย

(ข)  เด็กชายห้า  ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดไร้อุปการะได้  เพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  443  ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น  จึงจะเกิดสิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายทางอ้อมได้  และเด็กชายห้าก็ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดการงานในครัวเรือนได้  เพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  445  ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายมีหน้าที่อยู่แต่เดิมในการทำการงานในครัวเรือนหรือในอุตสาหกรรมให้แก่ผู้อื่น  จึงเกิดสิทธิเรียกร้องแก่ผู้ขาดการงานนั้นได้  แต่ข้อเท็จจริงตามโจทย์  สามไม่มีหน้าที่ทำการงานให้แก่เด็กชายห้า  และกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าบุตรมีอำนาจให้บิดามารดาทำงานตามฐานานุรูป  แต่กฎหมายบัญญัติให้เฉพาะสามีภริยา  ผู้ใช้อำนาจปกครองต่อผู้เยาว์  ที่มีอำนาจที่จะให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานตามฐานานุรูปแห่งตน  ดังนั้นเด็กชายห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้

สรุป

(ก)  สี่และหนึ่งต้องรับผิดต่อสามตามมาตรา  420

(ข)  เด็กชายห้าไม่อาจเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าขาดแรงงานได้

 

 

ข้อ  3  นายแดงลอบเข้าไปในบ้านของนายเอกและขโมยโทรทัศน์ของนายเอกไป  นายเอกนำเรื่องไปเล่าให้นายโทซึ่งเป็นเพื่อนฟังและขอให้นายโทช่วยหาเบาะแสของคนร้าย  ส่วนนายแดงนำโทรทัศน์ที่ขโมยมาไปเก็บไว้ที่บ้าน  หลังจากนั้นเจ็ดวันนายแดงยกโทรทัศน์ขึ้นรถกระบะเพื่อจะนำไปขายยังต่างจังหวัดระหว่างทางนายแดงแวะรับประทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

ปรากฏว่านายโทซึ่งบังเอิญก็รับประทานอาหารในร้านนั้นเห็นโทรทัศน์วางอยู่ท้ายรถกระบะของนายแดงและจำได้ชัดเจนว่าเป็นโทรทัศน์ของนายเอก  ขณะนั้นนายแดงกำลังจะขับรถหนี

นายโทจะขอให้ตำรวจช่วยก็ไม่ได้เพราะไม่มีตำรวจอยู่เลย  นายโทตัดสินใจใช้ปืนยิงยางรถยนต์ของนายแดงแตกหนึ่งเส้นเพื่อไม่ให้นายแดงขับรถหนี

ดังนี้นายโทจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  451  บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน  ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาล  หรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้  และถ้ามิได้ทำในทันที  ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดังสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมาก  หรือถึงแก่สาบสูญไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

วินิจฉัย

การที่นายโทใช้ปืนยิงยางรถยนต์ของนายแดงแตกหึ่งเส้นเพื่อให้นายแดงขับรถหนีถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังป้องกันสิทธิของผู้อื่นคือนายเอก  การกระทำของนายโทจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  451  เพราะการที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา  451  จะต้องเป็นการใช้กำลังป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น  เมื่อนายโทไม่ได้รับนิรโทษกรรม  การกระทำของนายโทจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา  420  ดังนั้น นายโทต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง

สรุป  นายโทต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง

 

 

ข้อ  4  นายสมควรอายุ  21  ปี  เป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง  วันเกิดเหตุนายสมรักษ์หัวหน้างานได้สั่งให้นายสมควรไปส่งของให้ลูกค้า  ปรากฏว่าระหว่างทางรถจักรยานยนต์ที่นายสมควรขับมาเครื่องยนต์เสีย  นายสมควรจึงจอดอยู่ข้างฟุตบาทถนนศรีนครินทร์  ซึ่ง  ณ  จุดดังกล่าวได้มีน้ำท่วมขัง  นายจิ๋วได้ขับรถมาอย่างเร็วไปดูให้ดี  เป็นเหตุให้ขับรถชนนายสมควรสลบไม่ได้สติ  นำตัวส่งโรงพยาบาลสมิติเวช  แพทย์ที่ทำการรักษาลงความเห็นว่า  นายสมควรจะต้องเป็นเจ้าชายนิทราไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไปเช่นนี้

(1) นายจิ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายสมบัติบิดานายสมควรจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และถ้านายสมบัติจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน  3  ล้านบาท  ซึ่งเป็นอัตราค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนอื่นถึง  2  เท่า  เช่นนี้นายสมบัติจะเรียกค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ  อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลบุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

มาตรา  443  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพ  รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล  รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้  ท่านว่า  บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  444  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน  ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

(1) การที่นายจิ๋วขับรถมาบริเวณที่มีน้ำขังโดยไม่ดูให้ดีว่านายสมควรกำลังจอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่ริมฟุตบาท  เป็นเหตุให้รถยนต์นายจิ๋วขับชนนายสมควรล้มสลบไป  เป็นกรณีที่นายจิ๋วกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย  จึงเป็นการกระทำละเมิด  ดังนั้นนายจิ๋วจึงต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  420 

อักทั้งกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นความผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  437  วรรคแรก  ที่เป็นความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล  เพราะเมื่อความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อแล้วตามมาตรา  420  จึงมิอาจเป็นละเมิดตามมาตรา  437  ได้อีก

ดังนั้นนายจิ๋วต้องรับผิดเพื่อละเมิดฐานกระทำโดยประมาทตามมาตรา  420  มิใช่กรณีตามมาตรา  437  วรรคแรก

(2) ส่วนกรณีที่นายสมบัติบิดาของนายสมควรจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเพราะเหตุละเมิดในการนี้มิอาจเรียกได้  เพราะถึงแม้ว่านายสมควรจะสลบหมดสติไปจนกลายเป็นเจ้าชายนิทรา  แต่นายสมควรก็ยังไม่ถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายสมบัติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมควรก็มิอาจจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายจิ๋วผู้กระทำละเมิดได้  ตามมาตรา  443  วรรคท้ายกรณีการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวชเป็นเงิน  3  ล้านบาทนั้น  เห็นว่าแม้นายสมควรผู้ถูกกระทำละเมิดจะมีอายุ  21  ปีแล้วก็ตาม  แต่นายสมบัติบิดาชอบด้วยกฎหมายก็ยังต้องมีหน้าที่ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูตามมาตรา  1564  วรรคสอง  เพราะนายสมควรบุตรทุพพลภาพและไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้  เนื่องจากนายสมควรเป็นเจ้าชายนิทรา  สมองพิการไม่ทำงาน  ดังนั้น  เมื่อนายสมบัติมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู  และได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไป  ก็มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากนายจิ๋วผู้กระทำละเมิดได้  ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป  ตามมาตรา  444  วรรคแรก

ส่วนประเด็นที่ว่าค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวช  มีอัตราแพงกว่าโรงพยาบาลเอกชนอื่นถึง  21  เท่า  ก็ไม่จำต้องพิจารณาเนื่องจากกฎหมายมิได้พิจารณาถึงฐานะของผู้ถูกกระทำละเมิด  ดังนั้นนายสมบัติก็มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจากนายจิ๋วได้เต็มจำนวน  3  ล้านบาท

สรุป

(1) นายจิ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา  420

(2) นายสมบัติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมควร  มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายจิ๋วผู้กระทำละเมิดได้  ตามมาตรา  444  วรรคแรก  (ประกอบมาตรา  1564  วรรคสอง)ส่วนค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู  นายสมบัติไม่อาจเรียกร้องได้  เพราะนายสมบัติผู้ถูกกระทำละเมิดยังไม่ถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  443  วรรคท้าย

Advertisement