การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2542
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1. แอ๊วเป็นลูกจ้างแมวทำหน้าที่ขับรถรับส่งสินค้าในร้านค้าของแมว วันหนึ่งแมวสั่งให้แอ๊วไปลักรถยนต์ของติ๋ม เพื่อไปขายต่อให้กับแอ๊ดตามที่ตกลงกันแต่ตำรวจจับแอ๊วได้ขณะที่แอ๊วได้เข็นรถยนต์ของติ๋มทิ้งลงเหวเพื่อ ทำลายหลักฐานเนื่องจากกลัวความผิดหลังจากที่ได้ลักรถยนต์มาแล้ว ต่อมาติ๋มได้ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหม ทดแทนฐานละเมิดให้แมว แอ๊ว และแอ๊ดร่วมกันรับผิด หากปรากฏว่า
1. แอ๊วปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าตนได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง แอ๊วจึงไม่ต้องรับผิด เพราะได้รับนิรโทษกรรม
2. แมวปฏิเสธว่าแอ๊วกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง แมวจึงไม่ต้องรับผิด
3. แอ๊ดปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิด เพราะตนยังมิได้แตะต้องหรือเข้าเกี่ยวข้องกับรถยนต์ของติ๋มแต่อย่างใด
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อแก้ตัวของบุคคลทั้งสามดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ หลักกฎหมาย ป.พ..พ.มาตรา 420, 425, 432 และ 449
วินิจฉัย การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นการกระทำละเมิดร่วมกัน โดยการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่ได้ร่วมใจร่วมกายในการทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลร่วมกันมาตั้งแต่ต้น ตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 432 วรรคแรก และวรรคสอง ดังนั้น บุคคลทั้งสามจึงต้องรับผิดร่วมกันต่อผู้เสียหาย คือติ๋ม ตามมาตรา 432 วรรคแรก
1. ข้อแก้ตัวของแอ๊วฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่าการกระทำของแอ๊วไม่อาจอ้างนิรโทษกรรม ตามมาตรา 449 ที่ว่าเป็นการกระทำตามคำสังอันชอบด้วยกฎหมาย เพราะแมวไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งได้ตาม ความหมายในมาตรา 449
2. ข้อแก้ตัวของแมวฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่าความรับผิดของแมวมิใช่เป็นความรับผิดฐานละเมิดในฐานะ ที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้กระทำละเมิดตามมาตรา 425 แต่หากเป็นความรับผิดในฐานะผู้ร่วมกระทำละเมิด ตามมาตรา 432 จึงไม่มีกรณีที่จะอ้างเหตุผลในมาตรา 425 เพี่อยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวแต่อย่างใด
3. ข้อแก้ตัวของแอ๊ดฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุว่า แอ๊ดเป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดอีกผู้หนึ่งในเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะแอ๊ดได้ตกลงกับแมวรับซื้อรถยนต์ที่ลักมาแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมกันกระทำละเมิด ตามมาตรา 432 วรรคสอง และต้องรับผิดร่วมกันกับผู้ร่วมกระทำละเมิดอื่น ๆ ด้วย ตามมาตรา 432
ข้อ 2. นายจอห์นนี่เป็นนักศึกษาหัวรุนแรงต้องการให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยมาก ๆ จึงได้เข้าไปใน รัฐสภา พร้อมกับใช้ปืนขู่นายห้างทองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง เพื่อจับไว้เป็นตัวประกัน นายห้างทองเห็นว่านายจอห์นนี่เป็นคนดีและมีเลือดประชาธิปไตยเข้มข้นเช่นเดียวกับตน จึงได้ยินยอมให้ นายจอห์นนี่จับไว้เป็นตัวประกัน
ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไว้เป็นประกันนายจอห์นนี่เกิดอาการเครียด อย่างมากจนเพ้อไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถควบคุมสติไว้ได้ จึงได้ทำลูกระเบิดหล่นลงพื้น เกิดการระเบิด อย่างรุนแรง ทำให้นายห้างทองถึงแก่ความตายทันที
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายจอห์นนี่กระทำละเมิด ต่อนายห้างทองในการทำให้เสียหาย
1) แก่เสรีภาพ และ
2) แก่ชีวิต หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ หลักฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 420 และหลักสุภาษิตกฎหมายเรื่อง “ความยินยอม”
วินิจฉัย อ้างหลักเกณฑ์การกระทำละเมิด ตามมาตรา 420
การกระทำของนายจอห์นนี่ไม่เป็นการทำละเมิดต่อเสรีภาพของนายห้างทอง เพราะเป็นการกระทำ ที่ได้รับความยินยอมจากนายห้างทอง และเป็นความยินยอมที่ใช้อ้างเพื่อไม่ต้องมีความผิดเพื่อละเมิดได้ ตามหลักสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยินยอมทำให้ไม่เป็นละเมิด” (Volenti non fit injuria) และ การกระทำของนายจอห์นนี่ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อชีวิตของนายห้างทองด้วยเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น จากเหตุที่นายจอห์นนี่มิได้มี “การกระทำ” เนื่องจากนายจอห์นนี่ไม่รู้สำนึกในการกระทำในขณะนั้น คำว่า “การกระทำ” ที่กฎหมายถือว่าเป็นการกระทำนั้น หมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำเมื่อนายจอห์นนี่ ไม่รู้สำนึกในขณะนั้น จึงขาดหลักเกณฑ์ที่ว่าผู้ก่อความเสียหายต้องมีการกระทำ จึงถือว่าไม่มีการทำละเมิด
(หากนักศึกษาตอบมาตรา 437 เรื่อง ความรับผิดของผู้ครองทรัพย์อันตรายโดยไม่ตอบ เรื่อง “การกระทำ” ตามมาตรา 420 ถือว่าไม่ได้คะแนน เพราะข้อสอบถามว่า “มีการกระทำละเมิด” หรือไม่ ไม่ได้ถามว่า “มีความ รับผิด” หรือไม่
ข้อ 3. นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนโดยมีนายสองเป็นคนซ้อนท้าย พอถึงที่เกิดเหตุนายสิงห์ขับรถด้วย ความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของนายหนึ่ง ปรากฏว่านายหนึ่งสลบไปในระหว่างที่นายหนึ่ง สลบไปนั้น นาฬิกาแว่นตาของนายหนึ่งมูลค่า 5000 บาทสูญหายไป ต่อมานายหนึ่งถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายไป 10,000 บาท จึงหายเป็นปกติ ส่วนนายสองซึ่งเป็นคนซ้อนท้ายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสองอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยากับนางสีโดยไม่ได้จดทะเบียน มีบุตรคนหนึ่งคือ เด็กชายแดง ในขณะที่เด็กชายแดงเกิดใหม่ ๆ นั้น นายสองยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล พร้อมทั้ง อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้
(1) นายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีแว่นตานาฬิกาสูญหายไป ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(3) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าปลงศพจากนายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(4) เด็กชายแดงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า
“อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือ ใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา 443 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่า ใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคล คนนั้น ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 444 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เสียแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในอนาคตด้วย”
(1) กรณีตามปัญหา นายหนึ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีแว่นตานาฬิกาสูญหายได้ โดยถือว่าเป็นค่า เสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายใด ๆ ที่ก่อให้เกิดขึ้น ตามมาตรา 438 วรรคสอง เพราะเป็น ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิด และเป็นความเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุ (เทียบฎีกา 1576/2506)
(2) กรณีตามปัญหา นายหนึ่งฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายสิงห์ได้ ตามมาตรา 444 โดยถือว่า ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 10,000 บาท ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป
(3) กรณีตามปัญหา เด็กชายแดงเป็นบุตรที่เกิดจากนายสอง และนางสี โดยไม่ได้จดทะเบียน จึงถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่การที่นายสองยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลและอุปการะ เลี้ยงดู เด็กชายแดงตลอดมา จึงถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627 ส่งผลให้ถือว่าเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ดังนั้น เด็กชายแดงจึงฟ้องเรียก ค่าปลงศพจากนายสิงห์ได้ ตามมาตรา 443 วรรคแรก (เทียบฎีกาที่ 14/2517)
(4) กรณีตามปัญหา เด็กชายแดงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายสิงห์ไม่ได้ เนื่องจากเด็กชายแดง เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบฎีกาที่ 508/2519)
ข้อ 4. นายเอกกับนายโทเป็นเพื่อนกัน วันเกิดเหตุนายเอกขับรถไปที่บ้านของนายโท โดยจอดรถไว้ที่โรงรถ ขณะนั้นลิงของ นายแดงลอบเข้าไปในรถของนายเอกแล้วกัดเบาะรถยนต์ของนายเอกได้รับความเสียหาย ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้
(1) นายแดงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายเอกจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(3) นายโทจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น…………“
มาตรา 452 บัญญัติว่า “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหาย ในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็น โดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสีย ก็ชอบที่จะทำได้”
(1) กรณีตามปัญหา การที่ลิงของนายแดงลอบเข้าไปในรถของนายเอกแล้วกัดเบาะรถยนต์ ได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้นนายแดงซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์ ต้องรับผิดต่อนายเอก ตามมาตรา 4433
(2) กรณีตามปัญหา นายเอกจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดง ไม่ได้ เพราะนายเอกไม่ใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์
(3) กรณีตามปัญหา นายโทจะจับลิงของนายแดงยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงไม่ได้ เพราะลิงของนายแดงไม่ได้ทำความเสียหายต่อนายโทแต่ประการใด จึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้ แก่นายโท