การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ตู่เป็นเพื่อนกับอู๋ซึ่งพักอาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน วันหนึ่งตู่ควงนางสาวอ้อยมาแนะนำแก่อู๋ว่า “นางสาวอ้อยกับฉันเป็นแฟนกัน” อู๋ไม่พอใจเพราะแอบชอบนางสาวอ้อยอยู่ก่อน อู๋จึงไปกระซิบต่อนางต้อยซึ่งเป็นมารดาของนางสาวอ้อยโดยใส่ความว่า “ตู่เป็นเกย์” พร้อมกับอ้างว่านางต้อยเป็นมารดาต้องมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องเช่นนี้ ตนจึงได้นำความมาบอก ต่อมานางต้อยซึ่งเชื่อข้อความดังกล่าว จึงได้เล่าต่อให้นางสาวอ้อยว่าตู่เป็นเกย์
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ตู่จะเรียกร้องให้อู๋และนางต้อยรับผิดในความเสียหายต่อชื่อเสียงได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 423 วรรคแรก (หมิ่นประมาททางแพ่ง) มีดังนี้
1 เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง
2 ทำให้แพร่หลาย กล่าวคือ กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้
3 มีความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของบุคคลอื่น
4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อู๋ได้กล่าวข้อความต่อนางต้อยโดยใส่ความว่า “ตู่เป็นเกย์” ถือได้ว่าเป็นการกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจะทำให้บุคคลอื่นคือตู่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ หรือแก่ทางทำมาหาได้ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของอู๋ ดังนั้นอู๋จึงต้องรับผิดต่อตู่ในผลแห่งการทำละเมิดนั้น ตามมาตรา 423 วรรคแรก
ส่วนกรณีที่นางต้อยได้นำข้อความที่ไม่จริงดังกล่าวนั้นไปเล่าต่อให้นางสาวอ้อยฟัง ดังนี้ แม้นางต้อยมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง ก็ถือว่านางต้อยได้ทำละเมิดต่อตู่ตามมาตรา 423 วรรคแรกเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม นางต้อยสามารถอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 423 วรรคสองได้ เพราะเป็นกรณีที่นางต้อยส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง และนางต้อยมีทางได้เสียโดยชอบในข่าวสารนี้ เพราะนางต้อยเป็นมารดาของนางสาวอ้อย ย่อมเป็นห่วงบุตรสาวของตนในเรื่องคู่ครองของบุตร ดังนั้น นางต้อยจึงไม่ต้องรับผิดต่อตู่
สรุป ตู่สามารถเรียกร้องให้อู๋รับผิดในความเสียหายต่อชื่อเสียงได้ แต่จะเรียกให้นางต้อยรับผิดไม่ได้
ข้อ 2 นายกบอายุ 19 ปี พักอาศัยอยู่กับนายเขียดบิดาซึ่งหย่ากับมารดาของนายกบแล้ว นายกบเป็นลูกจ้างของนายโท วันเกิดเหตุนายกบขี่จักรยานยนต์ของนายโทไปส่งอาหารกล่องให้แก่ลูกค้าของนายโท และด้วยความประมาทจึงไปชนเด็กชายอึ่งถึงแก่ความตาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางแจ่มมารดาของเด็กชายอึ่งจะเรียกร้องให้ใครรับผิดได้บ้าง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายกบอายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ได้ขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กชายอึ่งถึงแก่ความตายด้วยความประมาท การกระทำของนายกบถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายกบ จึงถือว่านายกบได้กระทำละเมิดต่อเด็กชายอึ่งตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ่มซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายอึ่ง และแม้ว่านายกบจะเป็นผู้เยาว์อันถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม ก็จะต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้น ตามมาตรา 429
และเมื่อปรากฏว่า ในขณะที่นายกบทำละเมิดนั้น นายกบได้ขี่รถจักรยานยนต์ของนายโท ซึ่งเป็นนายจ้างไปส่งอาหารกล่องให้แก่ลูกค้าของนายโท จึงถือว่านายกบได้ทำละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ดังนั้นนายโทซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับนายกบลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งนายกบได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย ตามมาตรา 425
ส่วนนายเขียดซึ่งเป็นบิดาของนายกบและเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะหย่ากับมารดาของนายกบแล้วก็ตาม ก็จะต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายกบได้กระทำด้วย ตามมาตรา 429 แต่อย่างไรก็ดี นายเขียดอาจพิสูจน์แก้ตัวได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว เพราะแม้ว่านายกบจะเป็นผู้เยาว์แต่ก็มีอายุ 19 ปีแล้ว ย่อมสามารถทำอะไรได้โดยลำพังไม่จำต้องมีผู้ดูแลอยู่ตลอดเวลา การที่นายกบไปทำงานจึงถือว่าอยู่นอกความสามารถที่นายเขียดจะดูแลได้ตลอดเวลา
สรุป นางแจ่มมารดาของเด็กชายอึ่งสามารถเรียกร้องให้นายกบ และนายโทซึ่งเป็นนายจ้างของนายกบ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมจากนายเขียดบิดาของนายกบไม่ได้ ถ้านายเขียดพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว
ข้อ 3 นายหล่อไม่ชอบนายเหลี่ยม จึงยุให้ลิงของนายเหล่ไปไล่กัดนายเหลี่ยม นายเหลี่ยมได้รับบาดเจ็บจึงวิ่งหนีกลับเข้าบ้าน แต่เนื่องจากยังโกรธนายหล่ออยู่ นายเหลี่ยมจึงได้ไปยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายเหล่ ลิงของนายเหล่ได้รับบาดเจ็บ จึงร้องโหยหวนและวิ่งหนีไปบนหลังคารถยนต์ของยายแหยมที่จอดอยู่หน้าบ้าน ยายแหยมตกใจเสียงลิงร้อง และเห็นลิงมาอยู่ที่หลังคาจึงช็อกและขาดใจตายทันที ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครจะต้องรับผิดในความตายของยายแหยมและลิงของนายเหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 ประกอบด้วย
1 เป็นบุคคลที่มี “การกระทำ” โดยรู้สำนึก และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4 ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเหลี่ยมยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายเหล่จนได้รับบาดเจ็บนั้น การกระทำของนายเหลี่ยมถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน โดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเหลี่ยม จึงถือว่านายเหลี่ยมได้กระทำละเมิดต่อนายเหล่ตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเหล่
และการที่ลิงของนายเหล่ได้วิ่งหนีไปบนหลังคารถยนต์ของยายแหยม และส่งเสียงร้องจนทำให้ยายแหยมตกใจช็อคถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นผลมาจากการกระทำของนายเหลี่ยมที่ยุสุนัขให้กัดลิงในตอนแรก เมื่อผลที่เกิดขึ้นกับยายแหยมสัมพันธ์กับการกระทำของนายเหลี่ยม ดังนั้น จึงถือว่านายเหลี่ยมกระทำละเมิดต่อยายแหยมและต้องรับผิดในความตายของยายแหยมด้วย ตามมาตรา 420 ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ใช่ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา 433 จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง มิใช่มนุษย์ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ
ส่วนการที่นายหล่อยุให้ลิงของนายเหล่ไปไล่กัดนายเหลี่ยมจนได้รับบาดเจ็บนั้น แม้จะถือว่านายหล่อกระทำละเมิดต่อนายเหลี่ยมและต้องรับผิดต่อนายเหลี่ยม ตามมาตรา 420 แต่เนื่องจากภัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว นายเหลี่ยมจึงได้ยุให้สุนัขกัดลิงของนายเหล่เพราะความโกรธ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยายแหยมและลิงของนายเหล่จึงไม่เกี่ยวกับความรับผิดของนายหล่อที่มีต่อนายเหลี่ยม
สรุป นายเหลี่ยมจะต้องรับผิดในความตายของยายแหยมและลิงของนายเหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ
ข้อ 4 นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนสิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯไปที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้วระหว่างเดินทางกลับนายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปส่งรถที่กรุงเทพฯไม่ทัน เป็นเหตุทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 21 ปี สลบไป นายบันเทิงคิดว่านางสาวไฮถึงแก่ความตายไปแล้ว นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนจึงได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮไว้กับต้นไม้เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
(1) นายบันเทิงและนายบรรเลง จะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
(1) กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายบันเทิงและนายบรรเลงจะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่ เห็นว่า การที่นายบันเทิงขับรถด้วยความเร็วไปชนนางสาวไฮสลบไปเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย นายบันเทิงจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 420
ในระหว่างที่นางสาวไฮสลบไป นายบันเทิงต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนได้นำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้เป็นเหตุให้นางสาวไฮถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุแทรกแซงที่เกิดจากการกระทำของผู้กระทำละเมิดในตอนแรก ซึ่งเป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนสามารถคาดหมายได้ จึงไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำในตอนแรกออกจากผลของการกระทำก็คือความตายของนางสาวไฮนั้น นายบันเทิงจึงต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮตามมาตรา 420
ส่วนนายบรรเลงนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับนายบันเทิงลูกจ้างเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายบันเทิงขับรถไปในทางการที่จ้างไปชนนางสาวไฮสลบไป เช่นนี้ นายบรรเลงต้องร่วมรับผิดกับนายบันเทิงตามมาตรา 425 ซึ่งเป็นการร่วมรับผิดกับลูกจ้างในความเสียหายแก่ร่างกายเท่านั้น ส่วนความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮนั้น นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย เพราะการตายเป็นคนละเรื่องคนละตอนกับเหตุที่ลูกจ้างขับรถชนนางสาวไฮ และเห็นได้ว่าการนำผ้าขาวม้าผูกคอนางสาวไฮติดไว้กับต้นไม้นั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายบันเทิงลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ คือเพื่อปกปิดและเพื่อให้ตนพ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำขึ้น หาเกี่ยวกับการที่นายบรรเลงได้จ้างให้นายบันเทิงกระทำไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้าง นายบรรเลงนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของนางสาวไฮตามมาตรา 425 (ฎ. 2060/2524)
(2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย กำหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว ดังนั้นการที่นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ นางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตนเป็นแค่เพียงการรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ ไม่ใช่เป็นการรับรองบุตรโดยนิตินัยตามมาตรา 1547 นายเอกชัยจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ นางสาวไฮ (ผู้ตาย) จึงไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูนายเอกชัย ดังนั้นนายเอกชัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากนายบันเทิงผู้กระทำละเมิด (ฎ. 7458/2543)
ส่วนกรณีนายมนต์สิทธิ์เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 1598/28 วรรคท้าย บัญญัติให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย กล่าวคือ บุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1563 ประกอบมาตรา 1598/28 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อนางสาวไฮถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย นายมนต์สิทธิ์ย่อมขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย นายมนต์สิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 443 วรรคท้าย (ฎ. 713/2517)
สรุป
(1) นายบันเทิงต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮตามมาตรา 420 แต่นายบรรเลงนายจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ เพราะเป็นการกระทำละเมิดนอกทางการที่จ้างตามมาตรา 425
(2) นายเอกชัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ แต่นายมนต์สิทธิ์มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา 443 วรรคท้าย