การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 เอกชัยและเอกวิทย์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินซึ่งตกเป็นทางภาระจำยอมให้ทั้งสองคนใช้เป็นทางรถและใช้ในกิจการสาธารณูปโภคได้ โดยได้จดบันทึกภาระจำยอมไว้ที่พนักงานที่ดินแล้ว เพียงแต่เอกชัยไม่ได้ลงชื่อไว้ในบันทึกเท่านั้น ต่อมาอีกสองปี เอกภาพได้สมัครเป็นลูกจ้างของเอกชัย ทำหน้าที่ดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรและสิ่งต่างๆภายในบริเวณโรงงาน
วันหนึ่ง เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพทำการปักเสาคอนกรีต 4 ต้น ในทางซึ่งเอกภาพไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมนั้น รวมทั้งยังสั่งให้ทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออก ห้ามปักเสาไฟฟ้าและท่อระบายน้ำด้วย เมื่อเอกภาพกระทำตามคำสั่งของนายจ้าง จึงทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้ จะต้องขับอ้อมไปอีกทางหนึ่งซึ่งต้องเสียเวลาอีก 20 นาที
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าเอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 ประกอบด้วย
1 เป็นบุคคลที่มี “การกระทำ” โดยรู้สำนึก และได้กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือโดยการงดเว้นก็ได้ ซึ่งได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2 ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4 ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ
กรณีตามอุทาหรณ์ เอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกชัยและเอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของเอกภาพ การที่เอกภาพได้ทำการปักเสาคอนกรีต 4 ต้น รวมทั้งทำคานบนเสาและติดป้ายห้ามรถเข้าออกในทางภาระจำยอม จนทำให้เอกวิทย์ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภาระจำยอมนั้นได้ แม้การกระทำของเอกภาพจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่เมื่อเอกภาพได้กระทำตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอม จะถือว่าเอกภาพได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายไม่ได้ การกระทำของเอกภาพจึงไม่เป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้นเอกวิทย์จะฟ้องร้องให้เอกภาพรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดไม่ได้
กรณีของเอกชัย เมื่อการกระทำของเอกภาพซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อเอกวิทย์ ดังนั้นเอกชัยซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดกับเอกภาพ เพราะตามมาตรา 425 นั้นนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกันกับลูกจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทำละเมิดต่อบุคคลอื่น และได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เอกชัยได้สั่งให้เอกภาพกระทำการดังกล่าวทั้งที่ทราบว่าเป็นทางภาระจำยอมและจะทำให้เอกวิทย์ได้รับความเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมนั้น ดังนั้นจึงถือว่าเอกชัยได้ทำละเมิดต่อเอกวิทย์ตามมาตรา 420 ด้วยตนเองโดยใช้เอกภาพเป็นเครื่องมือในการทำละเมิด เอกวิทย์จึงสามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420
สรุป เอกวิทย์สามารถฟ้องร้องให้เอกชัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะฟ้องร้องเอกภาพไม่ได
ข้อ 2 นายกุ้งเขียนจดหมายส่งไปถึงนายปลาซึ่งอยู่ต่างจังหวัด ในจดหมายมีข้อความว่า “นายหมึกเป็นคนไม่ดี เคยค้ายาเสพติดและเคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว” เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งที่บ้านของนายปลา
ปรากฏว่านายปลาไม่อยู่บ้าน มีเพียงนายหอยซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาพักอยู่กับนายปลาที่เป็นเพื่อนกัน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงยื่นจดหมายให้กับนายหอย นายหอยรับจดหมายมาแล้ว ต่อมาได้แกะจดหมายออกอ่าน จึงทราบข้อความในจดหมายทุกประการ ข้อเท็จจริงได้ความว่านายหมึกเป็นคนดี ไม่เคยค้ายาเสพติดและไม่เคยติดคุกแต่ประการใด และกำลังจะลงสมัคร ส.ส.
ดังนี้นายกุ้งต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 423 วรรคแรก ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 423 วรรคแรก (หมิ่นประมาททางแพ่ง) มีดังนี้
1 เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง
2 ทำให้แพร่หลาย กล่าวคือ กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้
3 มีความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของบุคคลอื่น
4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
สำหรับ “บุคคลที่สาม” ที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น หมายความถึง บุคคลที่ได้ยินหรือได้ฟังหรือได้เห็น หรือได้อ่านข้อความที่มีการกล่าวหรือไขข่าว โดยบุคคลนั้นมิใช่ผู้ที่ถูกใส่ความ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำละเมิด หรือสามีภริยาซึ่งกันและกัน หรือผู้แอบดู แอบฟัง หรือแอบรู้เห็นโดยละเมิดซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของผู้อื่น โดยที่ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้ตั้งใจจะให้ผู้ใดมาล่วงรู้หรือต้องการให้รู้กันเฉพาะกลุ่มของตน
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายกุ้งจะต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวหรือไม่ เห็นว่า การที่นายกุ้งเขียนจดหมายส่งไปถึงนายปลาซึ่งอยู่ต่างจังหวัดโดยมีข้อความว่า “นายหมึกเป็นคนไม่ดี เคยค้ายาเสพติดและเคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว” ซึ่งเป็นข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเพราะข้อเท็จจริงได้ความว่านายหมึกเป็นคนดี ไม่เคยค้ายาเสพติดและไม่เคยติดคุกแต่อย่างใด ถือว่าการกระทำของนายกุ้งเข้าลักษณะการไขข่าวแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี การไขข่าวของนายกุ้งไม่ได้แพร่หลาย เพราะไม่ได้กระทำต่อบุคคลที่สาม เนื่องจากการที่นายกุ้งส่งจดหมายไปให้นายปลาแต่นายปลาไม่อยู่บ้าน นายหอยซึ่งเป็นเพื่อนของนายปลาได้รับจดหมายไว้แทนและได้แกะจดหมายออกอ่าน ถือว่านายหอยเป็นผู้แอบดู แอบรู้เห็นโดยละเมิดมิใช่บุคคลที่นายกุ้งจงใจจะไขข่าวให้ทราบ กรณีนี้จึงไม่ถือว่านายหอยเป็นบุคคลที่สาม และเมื่อการไขข่าวของนายกุ้งไม่ได้แพร่หลาย ดังนั้นการกระทำของนายกุ้งจึงไม่เป็นการทำละเมิดโดยการไขข่าวแพร่หลายอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่งตามมาตรา 423 นายกุ้งจึงไม่ต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าว
สรุป นายกุ้งไม่ต้องรับผิดทางละเมิดโดยการกล่าวหรือไขข่าวตามมาตรา 423
ข้อ 3 นางสุดสวยเลี้ยงลูกแมวอยู่ในห้องพักของตนที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง วันหนึ่งนางสุดสวยเตะลูกแมว แล้วลูกแมววิ่งไปชนกระถางต้นไม้ของตนที่วางอยู่บนระเบียงห้องพัก ทำให้กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างที่นั่งเล่นอยู่ข้างล่าง และนายอึ่งอ่างศีรษะแตก
ดังนี้หากนายอึ่งอ่างมาปรึกษาท่านว่าไม่เห็นว่าใครทำกระถางต้นไม้หล่นใส่ตนแต่เห็นลูกแมวร้อง และเห็นว่าเป็นกระถางต้นไม้ที่อยู่ในความครอบครองของนางสุดสวยเท่านั้น ท่านจะแนะนำให้นายอึ่งอ่างเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดกับผู้ใดได้บ้างหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น …
มาตรา 436 บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสุดสวยเตะลูกแมวแล้วลูกแมววิ่งไปชนกระถางต้นไม้ของตนที่วางอยู่บนระเบียงห้องพัก ทำให้กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างที่นั่งเล่นอยู่ข้างล่างและนายอึ่งอ่างศีรษะแตกนั้น จะถือว่าเกิดจากการกระทำของนางสุดสวยไม่ได้ เพราะนางสุดสวยไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้นายอึ่งอ่างได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย อีกทั้งความเสียหายที่นายอึ่งอ่างได้รับก็ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำแต่อย่างใด ดังนั้นนายอึ่งอ่างจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดจากนางสุดสวยตามมาตรา 420 ไม่ได้
และการที่กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างนั้น นายอึ่งอ่างก็ไม่เห็นว่าใครทำกระถางต้นไม้หล่นมาใส่ตนแต่เห็นเพียงลูกแมวร้องเท่านั้น ดังนั้นกรณีดังกล่าวจะถือว่าความเสียหายที่นายอึ่งอ่างได้รับเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ทำให้นางสุดสวยเจ้าของสัตว์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอึ่งอ่างตามมาตรา 433 ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม การที่กระถางต้นไม้ที่นางสุดสวยวางอยู่บนระเบียงห้องพัก ได้หล่นมาใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่าง จนทำให้นายอึ่งอ่างศีรษะแตกนั้น ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 436 ที่ว่าความเสียหาย (ที่นายอึ่งอ่าวศีรษะแตก) ได้เกิดขึ้นเพราะของตกหล่นจากโรงเรือน ดังนั้นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนนั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กล่าวคือนางสุดสวยจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่กระถางต้นไม้ของตนได้หล่นใส่ศีรษะของนายอึ่งอ่างทำให้นายอึ่งอ่างศีรษะแตกนั่นเอง
สรุป หากนายอึ่งอ่างมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นายอึ่งอ่างเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดกับนางสุดสวยตามมาตรา 436 ตามเหตุผลที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 4 นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตน เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้รับคำสั่งจากนายบรรเลงนายจ้างให้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างทางนายบันเทิงได้แวะเยี่ยมลูกสาวที่อยุธยา ปรากฏว่าด้วยความเร่งรีบ เกรงว่าจะไปไม่ทันทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮ ขณะนั้นอายุ 21 ปีถึงแก่ความตาย ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
1) นายบันเทิงและนายบรรเลง จะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
2) นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 นายบันเทิงและนายบรรเลงจะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮหรือไม่
กรณีนายบันเทิง การที่นายบันเทิงขับรถด้วยความเร่งรีบทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนางสาวไฮทำให้นางสาวไฮถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของนายบันเทิงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อที่ทำต่อนางสาวไฮโดยผิดกฎหมายทำให้นางสาวไฮเสียหายแก่ชีวิตและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำดังกล่าว จึงถือว่านายบันเทิงได้ทำละเมิดต่อนางสาวไฮตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น
กรณีนายบรรเลง เมื่อการกระทำของนายบันเทิงซึ่งเป็นลูกจ้างของนายบรรเลงนั้นเป็นการทำละเมิดและได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ดังนั้นนายบรรเลงซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดคือการที่นางสาวไฮถึงแก่ความตายด้วยตามมาตรา 425
ประเด็นที่ 2 นายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่
กรณีนายเอกชัย การทำละเมิดเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตายนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว ดังนั้นการที่นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ นางสาวไฮ โดยนายเอกชัยได้ให้นางสาวไฮใช้นามสกุลของตนเป็นแต่เพียงการรับรองบุตรนอกกฎหมายโดยพฤติการณ์ ไม่ใช่เป็นการรับรองบุตรโดยนิตินัยตามมาตรา 1547 นายเอกชัยจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวไฮ นางสาวไฮ(ผู้ตาย) จึงไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูนายเอกชัย ดังนั้นนายเอกชัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากนายบันเทิงผู้กระทำละเมิดและนายบรรเลงนายจ้างของนายบันเทิง (ฎ. 7458/2543)
กรณีนายมนต์สิทธิ์ เมื่อนางสาวไฮมีอายุได้ 15 ปี 1 เดือน นายมนต์สิทธิ์ได้จดทะเบียนรับนางสาวไฮไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 1598/28 วรรคท้าย บัญญัติให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย กล่าวคือ บุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1563 ประกอบมาตรา 1598/28 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อนางสาวไฮถูกกระทำละเมิดถึงแก่ความตาย นายมนต์สิทธิ์ย่อมขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย นายมนต์สิทธิ์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 443 วรรคท้าย (ฎ. 713/2517)
สรุป
1 นายบันเทิงและนายบรรเลง จะต้องรับผิดในทางละเมิดเพื่อความเสียหายแก่ชีวิตของนางสาวไฮ ตามมาตรา 420 และมาตรา 425
2 นายเอกชัยไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แต่นายมนต์สิทธิ์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา 443 วรรคท้าย