การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 เอกชัยเขียนอีเมล์ส่งไปให้สมศรีซึ่งเป็นลูกจ้างของตน โดยเล่าว่าเฉิดโฉมเป็นคนทำลายชื่อเสียงของวิไลด้วยการนำภาพหลุดของวิไลไปอัพโหลดไว้บนอินเทอร์เน็ต และได้ยุยงให้สมศรีไปแก้แค้นเฉิดโฉม ดังนี้ หากว่าเฉิดโฉมได้ทำตามที่เอกชัยกล่าวไว้จริง และทำให้สมศรีโกรธแทนวิไล โดยได้นำสุนัขของวิไลไปเหยียบย่ำสวนดอกไม้ของเฉิดโฉม ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัย สมศรี และวิไล ร่วมรับผิดจากการที่สุนัขเหยียบย่ำสวนดอกไม้เสียหายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 423 วรรคแรก ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 432 ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
มาตรา 433 วรรคแรก ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ
(ก) ตามบทบัญญัติมาตรา 423 วรรคแรกนั้น การกล่าวหรือการไขข่าวอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องเป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง หากเป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันเป็นความจริงแล้ว แม้จะทำให้แพร่หลายต่อบุคคลที่สาม และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของบุคคลอื่น ผู้ที่กล่าวหรือไขข่าวข้อความนั้นย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ตามข้อเท็จจริง การที่เอกชัยส่งอีเมล์ไปให้สมศรีลูกจ้างของตน ด้วยการเล่าว่าเฉิดโฉมเป็นคนทำลายชื่อเสียงของวิไลด้วยการนำภาพหลุดของวิไลไปอัพโหลดไว้บนอินเทอร์เน็ตนั้น ถือว่าการกระทำของนายเอกชัยเข้าลักษณะของการไขข่าวต่อบุคคลที่สามแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการไขข่าวต่อบุคคลที่สามและเข้าหลักเกณฑ์ข้ออื่นที่ว่าเป็นการทำให้แพร่หลาย เพราะข้อความได้ล่วงรู้ถึงบุคคลที่สามคือสมศรีแล้ว และข้อความนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่เฉิดโฉม โดยทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ และความเจริญของเฉิดโฉมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าการไขข่าวต่อบุคคลที่สามของเอกชัยนั้น เป็นการไขข่าวข้อความอันเป็นความจริง เอกชัยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 423 วรรคแรก ดังนั้นเฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้
(ข) เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัย สมศรี และวิไลร่วมรับผิดจากการที่สุนัขเหยียบย่ำสวนดอกไม้เสียหายได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีเอกชัย การที่นายเอกชัยเขียนอีเมล์ส่งไปให้สมศรี และได้ยุยงให้สมศรีไปแก้แค้นเฉิดโฉมนั้น ถือเป็นการยุยงให้ผู้อื่นกระทำละเมิดตามมาตรา 432 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าสมศรีได้กระทำละเมิดต่อเฉิดโฉม โดยการนำสุนัขของวิไลไปเหยียบย่ำสวนดอกไม้ของเฉิดโฉม นายเอกชัยจึงถือเป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดด้วย ดังนั้น เฉิดโฉมจึงเรียกร้องให้นายเอกชัยซึ่งเป็นนายจ้างของสมศรีรับผิดร่วมกับสมศรีได้ตามมาตรา 432 วรรคแรก กรณีมิใช่ความผิดในฐานะนายจ้างตามมาตรา 425 เพราะกรณีนี้สมศรีซึ่งเป็นลูกจ้างมิได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง
กรณีของสมศรี การที่สมศรีเชื่อนายเอกชัยและโกรธแทนวิไลจึงให้สุนัขของวิไลไปเหยียบย่ำสวนดอกไม้ของเฉิดโฉมนั้น ถือเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำดังกล่าว จึงถือว่าสมศรีได้กระทำละเมิดต่อเฉิดโฉมตามมาตรา 420 โดยใช้สุนัขของวิไลเป็นเครื่องมือในการกระทำละเมิด ดังนั้นเฉิดโฉมจึงเรียกให้สมศรีรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ กรณีมิใช่มาตรา 433 อันจะถือว่าสมศรีผู้รับเลี้ยงรับรักษาสัตว์นั้นไว้จะต้องรับผิดแต่อย่างใด เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ แต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสมศรีโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการทำละเมิดตามมาตรา 420
กรณีของวิไล เมื่อปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเฉิดโฉมนั้นไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ซึ่งเจ้าของคือ วิไลจะต้องรับผิดตามมาตรา 433 และเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ วิไลไม่ทราบเรื่องและไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย วิไลจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยแต่อย่างใด
สรุป
(ก) เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้
(ข) เฉิดโฉมจะเรียกร้องให้เอกชัยและสมศรี ร่วมรับผิดจากการที่สุนัขเหยียบย่ำสวนดอกไม้เสียหายได้ แต่จะเรียกร้องให้วิไลร่วมรับผิดด้วยไม่ได้
ข้อ 2 นายจันเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยโมโหดุร้ายมักกัดคนในบ้านเป็นประจำ นายจันจึงไล่สุนัขออกจากบ้านไม่เลี้ยงอีกต่อไป สุนัขดังกล่าวเมื่อถูกไล่ออกจากบ้านก็ยังคงวนเวียนอยู่ไม่ห่างจากรั้วบ้านของนายจัน และคุ้ยหาเศษอาหารจากบริเวณที่ทิ้งขยะประจำซอย บ้านของนายจันมีต้นมะม่วงซึ่งนายจันได้ปลูกไว้นานแล้วอยู่ริมรั้วในบริเวณบ้าน กิ่งก้านของมะม่วงซึ่งมีอายุมากแล้วจึงผุและยื่นล้ำออกมาจากรั้วบ้าน
ต่อมาวันหนึ่งนายเฮงเดินผ่านริมรั้วบ้านของนายจัน ปรากฏว่ากิ่งมะม่วงที่ผุอยู่บ้างแล้วหล่นใสศีรษะของนายเฮงพอดีเป็นเหตุให้ศีรษะแตก เย็บ 5 เข็ม และในจังหวะเดียวกัน สุนัขดังกล่าวก็วิ่งเข้ามากัดขานายเฮงเป็นแผลลึกต้องเย็บ 20 เข็ม ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นายเฮงจะเรียกร้องให้นายจันรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้
มาตรา 434 วรรคแรกและวรรคสอง ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูก หรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเฮงจะเรียกร้องให้นายจันรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายจันไล่สุนัขออกจากบ้าน และต่อมาสุนัขดังกล่าวได้วิ่งเข้ามากัดขานายเฮงเป็นแผลลึกจนต้องเย็บ 20 เข็มนั้น กรณีนี้นายจันไม่ต้องรับผิดต่อนายเฮงตามมาตรา 433 อันว่าด้วยความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ เพราะเมื่อนายจันทร์ไล่สุนัขออกจากบ้านไม่เลี้ยงดูอีกต่อไปนั้น สุนัขตัวดังกล่าวจึงเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ นายจันจึงมิใช่เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาสุนัขดังกล่าว อันจะต้องรับผิดตามมาตรา 433 แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายจันไล่สุนัขออกจากบ้านโดยที่ตนเองรู้อยู่ว่าสุนัขดังกล่าวมีนิสัยดุร้ายกัดคนเป็นประจำ และนายจันย่อมคาดหมายได้โดยวิญญูชนทั่วไปว่าสุนัขอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่เดินผ่านไปมานั้น การกระทำของนายจันถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย และการกระทำของนายจันสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น คือ การบาดเจ็บของนายเฮง ดังนั้นการกระทำของนายจันจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 นายจันจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเฮง
ส่วนกรณีกิ่งมะม่วงที่ปลูกในบ้านของนายจันผุหล่นใส่ศีรษะของนายเฮงจนได้รับบาดเจ็บนั้น ถือเป็นความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องในการดูแลหรือค้ำจุนกิ่งมะม่วงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ดังนั้น นายจันผู้ซึ่งเป็นเจ้าของต้นมะม่วงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนายเฮงตามมาตรา 434
สรุป นายเฮงจะเรียกร้องให้นายจันรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา 420 และมาตรา 434
ข้อ 3 สมชายเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์สามชั้น ได้แบ่งชั้นสองและสามให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัย และสมชายเลี้ยงลิงดุไว้ในอาคารชั้นล่าง วันหนึ่งลิงหลุดจากโซ่ที่ผูกล่ามไว้เป็นอย่างดี แล้วได้ปีนป่ายขึ้นไปรื้อของในห้องของสมศักดิ์ ซึ่งพักอาศัยอยู่ในชั้นสามของอาคารนี้
ขณะลิงกำลังรื้อของกระจุยกระจายอยู่นั้น สมศักดิ์ได้ใช้ไม้ไล่ แต่ลิงทำท่าจะกัด สมศักดิ์จึงใช้ไม้ตีลิง ลิงลอยออกจากหน้าต่างหล่นลงมาใส่หน้าสมศรีซึ่งเดินผ่านมาอยู่ชั้นล่างพอดี ทำให้ลิงข่วนหน้าสมศรีจนได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) สมชายและสมศักดิ์ต่างฝ่ายต่างจะเรียกร้องต่อกันให้รับผิดในเหตุละเมิดได้หรือไม่ อย่างไร
(ข) สมศรีจะเรียกให้ใครรับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บได้บ้าง อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
มาตรา 436 บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
มาตรา 450 วรรคท้าย ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้คือ
(ก) การที่ลิงของสมชายเข้ามาทำความเสียหายรื้อของในห้องของสมศักดิ์นั้น ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ของสมชาย ซึ่งตามหลักแล้วสมชายผู้เป็นเจ้าของสัตว์จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่สมศักดิ์ ตามมาตรา 433 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม สมชายก็สามารถอ้างแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นผิดได้ เพราะได้ใช้ความระมัดระวังในการเลี้ยงดูสัตว์ตามชนิด วิสัย และพฤติการณ์ของสัตว์แล้ว เนื่องจากสมชายได้มีการล่ามโซ่ลิงดุเอาไว้ ดังนั้น สมศักดิ์จึงเรียกร้องให้สมชายรับผิดในเหตุละเมิดไม่ได้
และขณะเดียวกัน การที่สมศักดิ์ใช้ไม้ตีลิงของสมชายจนได้รับความเสียหายนั้น การกระทำของสมศักดิ์ถือเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของสมศักดิ์ จึงถือว่าสมศักดิ์ได้กระทำละเมิดต่อสมชายตามมาตรา 420 แต่อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ก็สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสามได้ เนื่องจากเป็นการป้องกันภัยอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเอง คือ ลิงเป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกัน เมื่อปรากฏว่าความเสียหายอันเกิดแก่ลิงนั้นไม่สมควรเกินเหตุ สมศักดิ์จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมชาย ดังนั้น สมชายจึงเรียกร้องให้สมศักดิ์รับผิดในเหตุละเมิดไม่ได้เช่นเดียวกัน
(ข) การที่สมศรีได้รับความเสียหายจากการที่ลิงได้ถูกเหวี่ยงลอยออกมาใส่หน้าตนนั้น ไม่ถือเป็นกรณีความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ ตามมาตรา 433 อันจะทำให้สมชายผู้เป็นเจ้าของสัตว์ต้องรับผิดแต่อย่างใด เพราะถือเป็นการกระทำของสมศักดิ์ ดังนั้น สมศรีจะเรียกให้สมชายรับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บไม่ได้ แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่มีความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือนตามมาตรา 436 ซึ่งผู้อยู่ในโรงเรือนคือ สมศักดิ์จะต้องรับผิดต่อสมศรี
และการที่สมศักดิ์เหวี่ยงลิงหล่นลงมาทำให้สมศรีได้รับความเสียหายนั้น จะเกิดจากการที่สมศักดิ์ได้ป้องกันภยันตรายซึ่งเกิดจากทรัพย์คือ ลิงเป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันตามมาตรา 450 วรรคสาม ก็ตาม แต่การป้องกันอันถือเป็นเหตุนิรโทษกรรมนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ทรัพย์เสียหายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าความเสียหายได้เกิดต่อร่างกายของสมศรี สมศักดิ์จึงไม่อาจอ้างเหตุนิรโทษกรรมเพื่อไม่ต้องรับผิดต่อสมศรีได้ ดังนั้น สมศรีจึงสามารถเรียกให้สมศักดิ์รับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บได้
สรุป
(ก) สมชายและสมศักดิ์ต่างฝ่ายต่างจะเรียกร้องต่อกันให้รับผิดในเหตุละเมิดไม่ได้
(ข) สมศรีจะเรียกให้สมชายรับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บไม่ได้ แต่จะเรียกให้สมศักดิ์รับผิดในการที่ตนต้องได้รับบาดเจ็บได้
ข้อ 4 นาย ก และนาง ข อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง เมื่อนาง ข คลอดเด็กชายแดงแล้ว ต่อมาถึงแก่ความตาย นาย ก ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงตลอดมา นาย ก ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย ก และนาย ก ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ วันเกิดเหตุ จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย ดังนี้ เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทำของจำเลยสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือ ความตายของนาย ก จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือ เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1)) กล่าวคือ จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก และนาง ขอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ เด็กชายแดงนั้น ดังนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย ก แต่เมื่อนาย ก ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล และส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย ก ผู้ตาย (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 และมาตรา 1629 (1)) ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย เด็กชายแดงจึงเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา 443 วรรคแรก
ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น บทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้ที่มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เมื่อปรากฏว่านาย ก มิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายแดงผู้เยาว์ นาย ก (ผู้ตาย) จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1564 ดังนั้น เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากจำเลยผู้กระทำละเมิดไม่ได้
สรุป เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้