การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 สุนัขของนายทองได้นำมาให้นางนาคเลี้ยงชั่วคราว วันเกิดเหตุสุนัขตัวนี้ซึ่งมีความซุกซนมากได้วิ่งไปชนกระถางต้นไม้ที่วางอยู่ตรงระเบียงบ้านชั้นสองของนางพลอยซึ่งได้ให้นางมุกเช่าอยู่อาศัยทำให้กระถางตกหล่นใส่ศีรษะของนางสาวเพชรได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟั่นเฟือน ไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายทอง นางนาค นางมุก และนางพลอยจะต้องมีความรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชรหรือไม่ เพราะเหตุใด และค่าสินไหมทดแทนที่นางสาวเพชรควรจะเรียกร้องได้มีอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 433 วรรคแรก ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
มาตรา 436 บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
มาตรา 444 วรรคแรก ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้เสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
มาตรา 446 วรรคแรก ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุนัขของนายทองได้วิ่งไปชนกระถางต้นไม้ตกหล่นใส่ศีรษะของนางสาวเพชรได้รับบาดเจ็บนั้น ถือเป็นกรณีที่นางสาวเพชรได้รับความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ ซึ่งตามมาตรา 433 วรรคแรก กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้รับเลี้ยงสัตว์ต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่าสัตว์ดังกล่าวได้ก่อความเสียหายในขณะที่อยู่ในความดูแลของนางสาวนาคซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงสัตว์นั้น อย่างไรก็ดี นางนาคอาจแก้ตัวให้พ้นผิดได้หากพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่ชนิด และพฤติการณ์ของสัตว์นั้นแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางนาคได้มีการใช้ความระมัดระวังดังกล่าว นางนาคจึงต้องรับผิด
และเมื่อปรากฏว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกระถางต้นไม้หล่นลงมาจากโรงเรือน และเป็นโรงเรือนของนางพลอยซึ่งนางมุกเช่าอาศัยอยู่ จึงถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนตามมาตรา 436 และเมื่อนางมุกเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือน นางมุกจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนางสาวเพชร ตามมาตรา 436 ส่วนนางพลอยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด
และเมื่อปรากฏว่านางสาวเพชรได้รับความเสียหายต่อร่างกายจนถึงขั้นสมองฟั่นเฟือน ไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป นางสาวเพชรจึงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ดังต่อไปนี้ คือ
1 ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 444 วรรคแรก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่ตนได้เสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิง ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคต
2 ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 446 วรรคแรก ได้แก่ ค่าที่นางสาวเพชรต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บ จากการไม่สามารถประกอบการงานได้อีก ซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิอาจตีราคาเป็นเงินได้
สรุป นางนาคและนางมุกจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชร ส่วนนายทองและนางพลอยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชร และค่าสินไหมทดแทนที่นางสาวเพชรควรจะเรียกร้อง ได้แก่ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 444 วรรคแรก และมาตรา 446 วรรคแรก
ข้อ 2 นายแดงจ้างนายเก่งวิศวกรชื่อดังให้สร้างอาคาร 4 ชั้นลงในที่ดินของตน นายเก่งได้สร้างอาคาร 4 ชั้นดังกล่าวจนเสร็จโดยมิได้ทำฐานรากอาคารให้มั่นคงแข็งแรงตามแบบพิมพ์เขียว เพราะนายเก่งหวังจะได้กำไรมากๆ และนายแดงรับมอบอาคารไปโดยไม่ทราบถึงการไม่สร้างอาคารตามแบบพิมพ์เขียว ต่อมาปรากฏว่าตัวอาคารบางส่วนร้าวและพังทลายลงมาเพราะฐานรากไม่มั่นคงทับนายโชคที่กำลังเดินผ่านอาคารพอดีเป็นเหตุให้นายโชคขาหัก
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นายแดงและนายเก่งจะต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 434 วรรคแรก ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงและนายเก่งจะต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ
1 กรณีของนายแดง ตามข้อเท็จจริง ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนายโชคเป็นเพราะอาคารบางส่วนพังทลายลงมาทับขานายโชคด้วยเหตุฐานรากของอาคารไม่มั่นคงแข็งแรง เนื่องจากการไม่สร้างตามแบบพิมพ์เขียว ถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุโรงเรือนดังกล่าวก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่อง ดังนั้น นายแดงซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและผู้ครอบครองโรงเรือนดังกล่าว จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชค ตามมาตรา 434 วรรคแรก
2 กรณีของนายเก่ง ตามข้อเท็จจริง การที่นายเก่งวิศวกรชื่อดังได้สร้างอาคาร 4 ชั้น แต่ไม่ทำฐานรากอาคารให้มั่นคงเพราะหวังจะได้กำไรมากๆนั้น นายเก่งย่อมเห็นได้ว่าอาคารอาจทรุดร้าวและพังทลายลงมาได้ เมื่อปรากฏว่าอาคารบางส่วนพังทลายลงมาทับขานายโชค การกระทำดังกล่าวของนายเก่งจึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเก่งดังกล่าว จึงถือว่านายเก่งได้กระทำละเมิดต่อนายโชคตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชค
สรุป นายแดงต้องรับผิดทางละเมิดตามมาตรา 434 วรรคแรก ส่วนนายเก่งจะต้องรับผิดทางละเมิดตามมาตรา 420
ข้อ 3 นายกระรอกได้นำรถยนต์ไปทำสีใหม่ที่อู่ของนายกระต่าย โดยนายกระรอกได้ให้นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นาย
กระรอกจะนำมาทำสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้าน หลังจากส่งนายกระรอกเรียบร้อยแล้ว นายกระต่ายจึงขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับไปที่อู่ซ่อมรถของตน ระหว่างเดินทางกลับนายกระต่ายขับรถด้วยความเร็วสูง ปรากฏว่านายกระทิงซึ่งขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงเช่นเดียวกันและได้ขับตีคู่ขนาบข้างกันมา ทั้งสองจึงเกิดความคึกคะนองขับแข่งท้าทายกันด้วยความเร็วสูงตลอดทาง จนถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางม้าลายซึ่งนางสาวกระแตกำลังเดินข้ามอยู่นั้น ทั้งนายกระต่ายและนาย
กระทิงต่างหยุดรถไม่ทัน เป็นเหตุให้รถทั้งสองเข้าพุ่งชนนางสาวกระแตเป็นเหตุให้นางสาวกระแตได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นางสาวกระแตจะมีสิทธิฟ้องใครให้รับผิดทางละเมิดได้บ้าง และจะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา 301 ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายกระต่ายและนายกระทิงได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกันทำละเมิดหรือไม่ เห็นว่า การจะถือว่าเป็นการ “ร่วมกันทำละเมิด” ตามบทบัญญัติมาตรา 432 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่นางสาวกระแตได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นผลโดยตรงจากการขับรถด้วยความคึกคะนองปราศจากซึ่งความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ของนายกระต่ายและนายกระทิง ซึ่งถือเป็นกรณีที่ต่างคนต่างประมาทเลินเล่อ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่นางสาวกระแต จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการกระทำ หรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำ อันจะเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดตามมาตรา 432 ดังนั้นนายกระต่ายและนายกระทิงจึงมีความผิดฐานต่างคนต่างกระทำละเมิดต่อนางสาวกระแตโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา 420
อย่างไรก็ดี แม้นายกระต่ายและนายกระทิงจะไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา 432 แต่เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางสาวกระแตนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดกันได้ว่านายกระต่ายและนายกระทิงก่อให้เกิดความเสียหายในส่วนใดอย่างไร ความรับผิดของนายกระต่ายและนายกระทิงจึงต้องเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 301 และมาตรา 291
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า นายกระรอกจะต้องร่วมรับผิดกับนายกระต่ายหรือไม่ เห็นว่า การที่นายกระรอกได้ให้นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นายกระรอกจะนำมาทำสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้านจนเกิดเรื่องขึ้นนั้น ไม่ใช่กิจการจ้างทำของอันจะทำให้ผู้ว่าจ้างทำของจะต้องรับผิดตามมาตรา 428 แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นาย
กระต่ายเดินทางกลับอู่โดยเจ้าของรถไม่ได้นั่งมาด้วย ดังนั้น เจ้าของรถยนต์คือนายกระรอกจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนาย
กระต่ายแต่อย่างใด (ฎ. 1176/2510)
สรุป นางสาวกระแตสามารถฟ้องให้นายกระต่ายและนายกระทิงรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายไม่ได้
ข้อ 4 จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงได้ความว่า บิดามารดาของนาย ก ถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว นาย ก เหลือญาติที่มีอยู่เพียงคนเดียวคือป้าของนาย ก ปรากฏว่าก่อนที่นาย ก จะถูกรถชนถึงแก่ความตาย นาย ก ได้อุปการะเลี้ยงดูป้า เนื่องจากป้าอายุมากแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ดังนี้ ป้าของนาย ก จะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทำของจำเลยสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือ ความตายของนาย ก จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือ ป้าของนาย ก จะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย ดังนั้น ป้าของนาย ก ซึ่งถือเป็นทายาทตามมาตรา 1629(6) จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้
ส่วนกรณีค่าขาดไร้อุปการะนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น (สามีกับภริยาหรือบิดามารดากับบุตร) เมื่อนาย ก (ผู้ตาย) ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูป้าของนาย ก ตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้นป้าของนาย ก จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากจำเลยผู้ทำละเมิด
สรุป ป้าของนาย ก จะเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้