การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จันทร์กู้เงินอังคารไปหนึ่งแสนบาท กําหนดชําระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2562 ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2562 อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่ากําหนดชําระหนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2562 นั้น อังคาร ไม่สามารถรับชําระหนี้ได้ เพราะไม่อยู่จะไปต่างประเทศ ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2562 อังคารไม่อยู่บ้านจริง ๆ เพราะไปต่างประเทศ แต่จันทร์เองก็ไม่ได้ไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารแต่ประการใด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน การชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ อปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคสอง “แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชําระหนี้ดี หรือเพื่อที่จะชําระหนี้จําเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการ ที่จะชําระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่า คําบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคําขอปฏิบัติการชําระหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์กู้เงินอังคารไปหนึ่งแสนบาท กําหนดชําระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2562 ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2562 อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ลูกหนี้ว่ากําหนดชําระหนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2562 นั้น อังคารไม่สามารถรับชําระหนี้ได้เพราะไม่อยู่จะไปต่างประเทศ กรณีเช่นนี้หากถึงวันที่ 20 มกราคม 2562 จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่อังคารไม่รับชําระหนี้เพราะไปต่างประเทศ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารเจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2562 อังคารไม่อยู่บ้านจริง ๆ เพราะไปต่างประเทศ แต่จันทร์เองก็ไม่ได้ไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารแต่ประการใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย หลักเกณฑ์ตามมาตรา 207 ดังนั้น จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ได้

และเมื่อหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นหนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และเมื่อถึงกําหนด คือวันที่ 20 มกราคม 2562 จันทร์ลูกหนี้มิได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ กรณีนี้จึงถือว่าจันทร์ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 204 วรรคสอง

สรุป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าจันทร์ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

 

ข้อ 2.พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง บานหลังนี้มีราคาหนึ่งล้านบาท พุธจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้าน ให้แก่ พฤหัสไปเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ซึ่งพฤหัสก็รับไว้นี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายจํานวนหนึ่งล้านบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้ มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธิ นั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ โดยผลของกฎหมาย ทําให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิแทนเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งตามมาตรา 227 ได้วางหลักเกณฑ์ของ การรับช่วงสิทธิไว้ดังนี้

1 ผู้ที่จะเข้ารับช่วงสิทธิมีได้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

2 ต้องมีหนี้ที่มีลูกหนี้จะต้องชําระก่อน

3 ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีการชําระหนี้กัน สงผลให้มีการเข้ารับช่วงสิทธิกัน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ได้ละเมิดจุดไฟเผาบ้าน หลังดังกล่าว ทําให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลังโดยบ้านหลังนี้มีราคา 1 ล้านบาทนั้น ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ พฤหัสโดยการกระทําของศุกร์ และความเสียหายดังกล่าวพุธซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้อง รับผิดชอบในความเสียหายต่อพฤหัสผู้ให้เช่า ดังนั้น พุธจึงมิใช่ลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 227 การที่พุธได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงิน 1 ล้านบาท จึงไม่ก่อให้เกิด การรับช่วงสิทธิใด ๆ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา 227 พุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนได้

สรุป พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนไม่ได้

 

 

ข้อ 3. จันทร์ (ผู้จะซื้อ) ตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหนึ่งแปลงกับอังคาร (ผู้จะขาย) ในราคาหนึ่งล้านบาทเพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย หลังทําสัญญาเสร็จปรากฏว่าอังคารกลับเอาที่ดิน แปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่พุธเสียในราคาสองล้านบาท โดยพุธรู้อยู่แล้วว่าอังคาร ได้ทําสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จันทร์ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าอังคารมีทรัพย์อื่นอีกมากมาย ประมาณห้าล้านบาทและพร้อมที่จะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จันทร์ถ้าจันทร์เรียกร้องมา ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าจันทร์สามารถใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคารในเรื่องใด ได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หาก กรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิใน ทรัพย์สิน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ (ผู้จะซื้อ) ตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหนึ่งแปลงกับอังคาร (ผู้จะขาย) ในราคาหนึ่งล้านบาทเพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย และหลังทําสัญญาเสร็จปรากฏว่าอังคารกลับเอา ที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่พุธในราคาสองล้านบาท โดยพุธก็รู้อยู่แล้วว่าอังคารได้ทําสัญญา จะขายที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จันทร์นั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจันทร์และอังคารเป็นสัญญา จะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ซึ่งถือเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง และการที่อังคารลูกหนี้ ได้โอนทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นไปทําให้จันทร์เจ้าหนี้ไม่อาจรับโอนทรัพย์นั้นได้ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ทําให้ เจ้าหนี้เสียเปรียบแล้ว แม้จะปรากฏว่าอังคารจะมีทรัพย์อื่นอีกมากมายประมาณห้าล้านบาทและพร้อมที่จะยอม ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จันทร์เจ้าหนี้ได้ก็ตาม จันทร์เจ้าหนี้ก็สามารถที่จะใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สิน ของอังคารลูกหนี้โดยการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างอังคารกับพุธตามมาตรา 237 ได้

สรุป

จันทร์สามารถใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคารในเรื่องการเพิกถอน การฉ้อฉลตามมาตรา 237 ได้ โดยการห้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างอังคารกับพุธ

 

 

ข้อ 4. นายเอกตกลงว่าจ้างนายโทและนางสาวตรีนักเต้นลีลาศมาแสดงการเต้นลีลาศคู่ (ชาย-หญิง) ในงานวันเกิดของนายเอกในวันที่ 10 เมษายน 2562 ปรากฏว่าในวันที่ 5 มกราคม 2562 เกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้อาคารที่นายโทพาอาศัยอยู่และนายโทถูกไฟไหม้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนตาบอดทั้งสองข้าง เป็นเหตุให้นายโทไม่สามารถแสดงการเต้นลีลาศได้อีกต่อไป เมื่อถึงกําหนดนัดการแสดงนายโท และนางสาวตรีจึงไม่ได้มาทําการแสดงตามสัญญาว่าจ้าง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทและนางสาวตรีต้องรับผิดต่อนายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดวันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น

ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชําระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่า เป็นพฤติการณ์ที่ทําให้การชําระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น”

มาตรา 295 “ข้อความ จริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่อง ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับ สภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยก อ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลือนกลืนกันไปกับหนี้สิน

มาตรา 301 “ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชําระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิด เช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกตกลงจ้างนายโทและนางสาวตรีนักเต้นลีลาศมาแสดงการเต้น ลีลาศคู่ (ชาย-หญิง) เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งชําระมิได้โดยวัตถุประสงค์หรือเจตนาของคู่สัญญา เนื่องจากเป็นหนี้กระทําการตามสัญญาที่ต้องทําเป็นคู่ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 301 ได้วางหลักให้บุคคลเหล่านั้น ต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ดังนั้น นายโทและนางสาวตรีจึงอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมของนายเอก

ต่อมาการที่นายโทถูกไฟไหม้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนตาบอดทั้งสองข้างเป็นเหตุให้นายโทไม่สามารถ แสดงการเต้นลีลาศได้อีกต่อไปนั้น เป็นารณีที่ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชําระหนี้ได้ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้น ซึ่งตามมาตรา 219 วรรคสอง ให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทําให้การชําระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยอันส่งผลให้ลูกหนี้ หลุดพ้นจากการชําระหนี้ ดังนั้น นายโท จึงไม่ต้องรับผิดต่อนายเอกตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง

และแม้ว่าการชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น จะเป็นเหตุส่วนตัว กล่าวคือ เป็นข้อความจริงที่ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ตามนัย มาตรา 295 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อหนี้นายโทและนางสาวตรีต้องชําระแก่นายเอก เป็นหนี้อันจะแบ่งชําระมิได้ จึงเป็นกรณีที่ขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง ส่งผลให้เหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับนายโทส่งผลไปยังนางสาวตรีลูกหนี้ร่วม อีกคนหนึ่งด้วย นางสาวตรีจึงสามารถอ้างเหตุที่การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่เกิดขึ้นกับนายโทเพื่อให้ตนเอง หลุดพ้นจากความรับผิดตอนายเอกได้เช่นเดียวกัน ตามนัยมาตรา 295 วรรคหนึ่ง

สรุป

จากเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น นายโทและนางสาวตรีจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อนายเอก

Advertisement