การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 สมชายปลูกสร้างบ้านในที่ดินของตนเสร็จแล้ว หลังจากที่ฝนตกหนักเมื่ออาทิตย์ก่อน น้ำฝนจากหลังคาบ้านดังกล่าวตกลงในที่ดินซึ่งได้ปรับถมใหม่ของสมศักดิ์ที่อยู่ติดกันกัดเซาะพาดินเป็นร่องคูลึก สมศักดิ์มาปรึกษากับท่านว่า ตามกฎหมายจะบังคับแก้ไขอย่างไรบ้าง ขอให้ท่านแนะนำ
ธงคำตอบ
มาตรา 194 ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้
มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่
มาตรา 215 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้ของมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องหนี้งดเว้นกระทำการ ตามมาตรา 194 ตอนท้าย ทั้งนี้เพราะกฎหมายได้บัญญัติข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในการใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 1341 กล่าวคือ ห้ามมิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงมายังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกัน ดังนั้นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นการงดเว้นกระทำการใด การบังคับชำระหนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 213 วรรคสาม กล่าวคือ นายสมศักดิ์ในฐานะเจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ได้โดยการเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้ทำลงแล้ว คือเรียกร้องให้นายสมชายลูกหนี้ถมเกลี่ยดินที่ถูกน้ำเซาะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้นายสมชายเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนี้ด้วยตนเอง นอกจากนี้นายสมศักดิ์ยังมีสิทธิเรียกให้นายสมชายจัดการอันควรเพื่อการภายหน้าด้วยก็ได้ เช่น ให้สมชายติดตั้งรางน้ำฝนที่หลังคาบ้านของสมชาย เพื่อป้องกันน้ำฝนจากหลังคาตกลงมาในที่ดินของนายสมศักดิ์อีก
อย่างไรก็ดีหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายเพราะการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากลูกหนี้ได้ ตามมาตรา 213 วรรคท้าย หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นก็ได้ ตามมาตรา 215
ข้อ 2 ใกล้ฤดูน้ำหลาก ลำพูซื้อเรือพายจากลำแพนซึ่งเป็นเรือใหม่ต่อด้วยไม้สักทั้งลำ ผู้ซื้อนำมาพายได้สี่ห้าเดือน รอยต่อของไม้ที่ท้องเรือเป็นกระพี้ก็เริ่มผุ ทำให้เรือรั่วซึ่งผู้ขายจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว ผู้ซื้อจะเรียกให้ผู้ขายรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่
มาตรา 215 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้
วินิจฉัย
ลำพูผู้ซื้อได้ซื้อเรือพายจากลำแพนมาใช้ได้สี่ห้าเดือน ปรากฏว่ารอยต่อของไม้ที่ท้องเรือเป็นกระพี้ก็เริ่มผุ ซึ่งความชำรุดบกพร่องดังกล่าวผู้ขายจะต้องรับผิด ดังนี้จะเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องวัตถุแห่งหนี้ที่เป็นการกระทำการ
เมื่อรอยต่อของไม้ที่ท้องเรือเริ่มผุพัง ต้องถือว่าผู้ขายชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของมูลหนี้ ผู้ซื้อซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้จึงอาจเรียกให้ผู้ขายลูกหนี้ซ่อมท้องเรือที่ชำรุดบกพร่องได้ ตามมาตรา 213 วรรคแรก (ประกอบมาตรา 472)
ในกรณีที่ผู้ขายมิได้เป็นผู้ทำการต่อเรือด้วยตนเอง หรือผู้ขายไม่ทำการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องดังกล่าว ผู้ซื้อก็อาจนำเอาเรือนั้นไปให้บุคคลภายนอกเป็นผู้กระทำการซ่อมแซม โดยให้ผู้ขายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 213 วรรคสอง หรือผู้ซื้อจะทำการซ่อมแซมเองโดยให้ผู้ขายออกค่าใช้จ่ายก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากผู้ซื้อต้องเสียหายอย่างใดๆอีก ผู้ซื้อก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้ได้ ตามมาตรา 213 วรรคท้าย และอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้ ตามมาตรา 215
ข้อ 3 จันทร์มีสร้อยคอทองคำหนึ่งเส้นราคาประมาณหนึ่งแสนบาท นอกจากสร้อยเส้นนี้แล้วจันทร์มีทรัพย์สินอีกเพียงอย่างเดียวคือ รถยนต์หนึ่งคันราคาประมาณหนึ่งแสนบาท จันทร์ได้กู้เงินของอังคารไปหนึ่งแสนบาท โดยเอาสร้อยคอทองคำเส้นดังกล่าวจำนำไว้เป็นประกันเงินกู้กับอังคาร ก่อนหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระเพียงเจ็ดวัน จันทร์ได้ยกรถยนต์คันเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตรโดยเสน่หา หลังจากนั้นอังคารทราบเรื่อง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า อังคารจะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ได้อย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
มาตรา 767 เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น
วินิจฉัย
ในกรณีที่มีการบังคับจำนอง (ตามมาตรา 733) ถ้าหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่นั้น เจ้าหนี้จึงบังคับชำระหนี้ให้แก่ตนอีกในส่วนที่ขาดจากทรัพย์สินอย่างอื่นๆ ของลูกหนี้ โดยอาศัยมาตรา 214 นี้ไม่ได้
แต่กรณีตามปัญหา เป็นเรื่องเจ้าหนี้จำนำ ซึ่งถ้ามีการบังคับจำนำ แล้วได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดชดใช้ให้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น ตามมาตรา 767 วรรคสอง เจ้าหนี้จำนำจึงสามารถเรียกร้องในส่วนที่ขาดได้ ตามมาตรา 214
เมื่ออังคารมีสิทธิเรียกร้องจำนวนที่ค้างชำระอยู่ ก็มีสิทธิควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ลูกหนี้ได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย
สำหรับหลักเกณฑ์ในการควบคุมทรัพย์สินของลูกหนี้ในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉล ตามมาตรา 237 ประกอบด้วย
1 ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล
2 นิติกรรมนั้นลูกหนี้รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
3 นิติกรรมประเภท
– ให้โดยเสน่หา ลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้จะเสียเปรียบฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะขอให้เพิกถอน
– มิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หา (มีค่าตอบแทน) ผู้ได้ลาภงอกต้องรู้ในขณะทำนิติกรรมด้วยว่าเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ
4 ใช้เฉพาะกับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น
ดังนั้นในกรณีนี้แม้จันทร์จะได้ยกรถยนต์คันเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตร อันเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินโดยการฉ้อฉลเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นการให้โดยเสน่หาก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสร้อยคอทองคำเส้นที่จันทร์นำไปจำนำเป็นประกันเงินกู้กับอังคาร มีราคาคุ้มจำนวนหนี้เงินกู้ยืม อังคารจึงไม่มีทางเสียเปรียบ เมื่อไม่เสียเปรียบ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 237 วรรคแรก อังคารจึงใช้สิทธิในการควบคุมทรัพย์สินของจันทร์โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลของจันทร์ไม่ได้
สรุป อังคารจึงใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ไม่ได้
ข้อ 4 หนึ่งเป็นเจ้าหนี้และสองเป็นลูกหนี้ ในหนี้เงิน 200,000 บาท โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้ ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ สอง (ลูกหนี้) ผิดนัด หนึ่งจึงเรียกให้สามและสี่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ปรากฏว่าสามได้นำเงิน 200,000 ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หนึ่งกลับปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครตกเป็นผู้ผิดนัด และผิดนัดต่อใครบ้าง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 294 การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย
มาตรา 682 วรรคสอง ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
วินิจฉัย
สามและสี่ยอมตนเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้เงินกู้ยืม 200,000 บาท ของสองลูกหนี้ ดังนั้นสามและสี่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันย่อมมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตามมาตรา 682 วรรคสอง
เมื่อสองลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเกิดมีขึ้น การที่สามนำเงิน 200,000 บาท ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หนึ่งเจ้าหนี้กลับปฏิเสธไม่ยอรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ หนึ่งจึงตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัด ตามมาตรา 207
อย่างไรก็ตามการที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย ดังนั้นการที่หนึ่งเจ้าหนี้ผิดนัดต่อสาม ต้องถือว่ามีผลต่อสี่ด้วย ตามมาตรา 294 หนึ่งเจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต่อสี่ลูกหนี้ร่วมด้วย
สรุป หนึ่งตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 207 และหนึ่งผิดนัดต่อสามและสี่ ตามมาตรา 294